สิ่งสำคัญที่สุดในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ก็คือต้องเริ่มกระตุ้นความใคร่รู้ของผู้คนตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้น OKMD และ 88 Sandbox จึงร่วมกันจัดงาน Learn Lab
Expo หรือมหกรรมการศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่มิวเซียมสยาม เพื่อชวนเด็กไทยมา ลอง-เรียน-รู้ ก่อนพัฒนาสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป โดยมหกรรมนี้ถือเป็นการขยายผลจากโครงการ
Learn Lab: OKMD x 88 Learnovation Program ซึ่งเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัปได้เข้ามาแข่งขันนำเสนอโครงการด้านการศึกษาในรูปแบบแฮกกาทอน
จนคัดเลือกจากเกือบ 200 ทีม เหลือเพียง 16 ทีม สำหรับชิงชัยรอบชนะเลิศ 5 ทีมสุดท้าย (Final
Pitching) ภายในมหกรรมนี้ด้วย
นอกจากบรรยากาศของ Learn Lab Expo จะปลุกความตื่นเต้นน่าสนใจคล้ายๆ กับในซีรีส์ดังของเกาหลีเรื่อง Start
Up ที่สร้างปรากฏการณ์การแข่งขันแฮกกาทอนด้านสตาร์ตอัปไปทั่วเอเชียแล้ว
มหกรรมนี้ยังเต็มไปด้วยสีสันของกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้อย่างหลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็นเวิร์กช้อป เสวนา ซุ้มสตาร์ตอัปการศึกษา ร้านหนังสือ-สำนักพิมพ์ บูธฟู้ดแล็บ หรือเวทีแสดงดนตรีจากนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาต่างๆ
ซึ่งล้วนชวนให้เด็กไทย โดยเฉพาะนักเรียนมาเปิดสมอง ลอง-เรียน-รู้ เพื่อค้นหาตนเอง เติมทักษะให้เชี่ยวชาญ บูรณาการความรู้ แล้วต่อยอดเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ
ที่มีประโยชน์ในอนาคต ท่ามกลางความสนุกสนาน
โดยการเปิดงานมหกรรม คุณศึกษิษฏ์
ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้มาเป็นประธานในพิธี ร่วมกับ
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD (สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้)
และ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับกล่าวถึงการศึกษาของเด็กไทยว่า
เด็กและเยาวชนเป็นอนาคตของชาติ หากพวกเขาได้มาลองเรียนรู้และกำหนดอนาคตชีวิตของตนเองได้
ก็น่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดี
จึงหวังว่ามหกรรมครั้งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเด็กและเยาวชนได้สำเร็จ
โดยรัฐบาลจะพยายามดึงทรัพยากรส่วนต่างๆ มาสนับสนุนโครงการของมหกรรมนี้อย่างเต็มที่ต่อไป
สำหรับการเสวนาเปิดมหกรรมในหัวข้อ
‘เราจะเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร’ นั้น ดร.ทวารัฐ
ได้ให้แนวคิดไว้ว่า การเรียนนอกระบบควรมีกระบวนการใหม่
คือการเรียนรู้ที่ไม่ต้องสอน เช่น ความเป็นทีม การตีความ หรือทักษะต่างๆ ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ได้
นำเสนอตนเองได้ ด้วยการเน้นเล่าเรื่อง จับใจความ และตั้งคำถาม นอกจากนั้น
การเรียนรู้ยังไม่จำกัดช่วงวัย ช่วงเวลา และสถานที่ เพราะคนเราสามารถเรียนรู้หรือพัฒนาได้ตลอดเวลา
ส่วน รศ.ดร.พิภพ
ได้เปิดมุมมองว่า การศึกษายุคใหม่ การค้นหา ค้นพบ และลงลึกในสิ่งที่ตนเองชอบ
เป็นสิ่งสำคัญ โดยแต่ละคนไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง แต่ควรรู้สิ่งที่ชอบให้เชี่ยว
เมื่อรู้ว่าขาดอะไร จึงค่อยเติมเต็ม หาความรู้เพิ่มเติม ไม่ต้องเรียนเผื่อ
ควรเรียนเท่าที่จำเป็นต้องใช้ เพราะความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยาว
นอกจากนั้น ก็ยังมีการเสวนาและบรรยายหัวข้อที่น่าสนใจอื่นๆ
อีกมากมาย เช่น เสวนาหัวข้อ “Vision Learn Lab อนาคตการศึกษาไทยจะไปในทิศทางไหน”
โดยคุณโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD, คุณเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
และคุณพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, การบรรยายหัวข้อ “Start with Purpose แผนดันป้อมปราการการศึกษาไทย”
โดยคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร,
การบอกเล่ามุมมองการให้ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ในหัวข้อ “Educators
Never Stop” โดยครูเคท ครั้งพิบูลย์ และครูไอซ์-ดำเกิง มุ่งธัญญา ครูผู้ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการสอน หรือการตั้งคำถามกับการศึกษาโดยคนรุ่นใหม่บนเวที
Hear Our Voice อย่างณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหาร
เว็บไซต์ Spaceth.co,
น้องปังปอนด์, น้องออกัส หรือน้องทิวไผ่
เด็กนักเรียนมัธยมปลาย ซึ่งต่างมาสะท้อนความคิดเห็นต่อโลกการศึกษาในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
ทั้งนี้ สำหรับการเสวนาหัวข้อ
“Vision
Learn Lab อนาคตการศึกษาไทยจะไปในทิศทางไหน” คุณโตมรมองว่า
ท่ามกลางการดิสรัปชัน เด็กรุ่นใหม่จะเห็นช่องทางมากกว่าคนรุ่นอื่น
แล้วต่อยอดสู่การพัฒนาตนเองได้ โดยการยกระดับการศึกษาสามารถทำได้ ผ่านการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ให้ผู้เรียนเลือกวิธีการเรียนรู้ที่ใช่ สำหรับแต่ละบุคคล
ด้านคุณเกษมสันต์ ให้ทัศนะว่า
สถานการณ์การศึกษาไทย มักสอนให้จำ แต่ไม่สอนให้นำไปใช้ คนที่เรียนจบมา
ไม่สนใจกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ต่อ ที่สำคัญ การศึกษาไทยปรับตัวไม่ทัน
ขณะที่โลกถูกดิสรัปชัน แต่การศึกษาไทยไม่เชื่อมโยงกับความต้องการทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน
ส่วนการเรียนรู้ด้วยการอ่านนั้น คุณเกษมสันต์เพิ่มเติมว่า การอ่านหนังสือเป็นแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้แบบหนึ่ง
ประเทศที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะรักการอ่าน และสามารถนำไปต่อยอดในชีวิตประจำวันได้
ขณะที่คุณพัฒนพงศ์ สรุปสั้นๆ
ว่า ด้วยความหลากหลายของผู้คน การเรียนรู้จึงจำเป็นต้องไม่มีข้อจำกัด
เพื่อทำให้กระบวนการเรียนรู้เข้าถึงได้โดยไร้ขอบเขต และเมื่อคนอยากจะเรียนรู้
อยากต่อยอดไปสู่การลงมือทำ แต่การยอมรับการคิดค้น
สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย สังคมจึงต้องการคนบ้าๆ มาผลักดันให้ประสบความสำเร็จ
ส่วนการบรรยายในหัวข้อ “Start with Purpose แผนดันป้อมปราการการศึกษาไทย” คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ เล่าถึงประสบการณ์การศึกษาไทยเปรียบเทียบกับเมืองนอกว่า เด็กไทยเป็นเด็กที่เรียนหนักมาก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนเหนื่อยล้า เมื่อผ่านพ้นวัยเรียน จึงไม่อยากเรียนรู้อะไรอีก ซึ่งสวนทางกับแนวคิด Lifelong Learning ดังนั้น จึงอยากเสนอ 2E’s เป็นทางออกในการสร้างการศึกษาที่เน้นส่งเสริมการเรียนรู้ คือ E-Efficiency หรือการเพิ่มประสิทธิภาพ ผ่านการจัดการงบประมาณ การพัฒนาหลักสูตร และการคืนครูสู่ห้องเรียน กับ E-Empathy หรือการให้ความเห็นอกเห็นใจ ผ่านการสร้างโรงเรียนที่ปลอดภัย เป็นมิตร กระจายอำนาจสู่โรงเรียน และเพิ่มความหลากหลายทางการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ
ในเวลาเดียวกัน อีกหนึ่งไฮไลต์ของมหกรรมก็คือ การแข่งขันแฮกกาทอนสตาร์ตอัปด้านการศึกษารอบชิงชนะเลิศ 5 ทีมสุดท้าย ก็มีความเข้มข้นอย่างมากทีเดียว โดยผลการตัดสินเรียงลำดับ ดังนี้
ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม EdSpeak นำเสนอการสร้างแอปพลิเคชัน AI English Coach ที่พัฒนาโดยสตาร์ตอัป Edsy ด้วยเป้าหมายที่จะช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษ พร้อมรับคำชี้แนะรายบุคคลอย่างเป็นประจำ ซึ่งปัจจุบัน EdSpeak อยู่ระหว่างการนำร่องกับโรงเรียน 50 แห่ง ผ่านความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักการศึกษา กทม. และพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระยอง
ทีมรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม CodeVenture นำเสนอการพัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมการเรียนรู้โค้ดดิ้ง ในรูปแบบเกมสำหรับเยาวชน โดยหลักสูตรมาตรฐานระดับสากล และเอไอที่คอยให้คำแนะนำรายบุคคลจะมาเป็นผู้ช่วยครู รวมถึงระบบติดตามการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทีมรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Aim Global Innovation นำเสนอการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้าน AI ที่เรียกว่า AIThaiGen ที่ง่ายต่อการเข้าถึง เรียนรู้ และใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนด้านพื้นฐานเอไอ การเขียนโปรแกรมภาษาไพทอน การประมวลผลภาพการวิเคราะห์ข้อมูล และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก เพื่อสร้างโครงงานต่างๆ โดยผู้เรียนสามารถเข้าใช้งานได้ทางเว็บไซต์ aithaigen.in.th ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต
และทีมรางวัลชมเชย 2 ทีม ได้แก่ ทีม RoboPark นำเสนอแพลตฟอร์ม 3D Simulation ออนไลน์ที่มีฟีเจอร์ในการสอน การแข่งขัน และการประกอบหุ่นยนต์ขึ้นมาเอง โดยเน้นระบบที่สมจริงเพื่อให้เด็กๆ ได้รับประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับการสร้างหุ่นยนต์จริงมากที่สุด กับทีม Mindport ที่นำเสนอแพลตฟอร์มสะท้อนความคิดและจัดเก็บประสบการณ์ออนไลน์ ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกประสบการณ์มีความหมาย และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น นักเรียนขาดการดูแลหรือแนะนำการเขียนพอร์ตโฟลิโอสมัครเข้ามหาวิทยาลัยและสมัครงาน ครูมีเวลาสอนไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายในการทำพอร์ตโฟลิโอสูง ด้วยการประยุกต์เอไอ มาช่วยทำหน้าที่สอนร่วมกับครู ลดเวลาในการตรวจงานให้ครู เพิ่มการเข้าถึงความช่วยเหลือให้กับนักเรียนในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยหรือสมัครงานในอนาคต
โดยสตาร์ตอัพทั้ง 5 ทีม ซึ่งผ่านการแข่งขันแฮกกาทอนนี้ ถือเป็นความหวังของการพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ควบคู่กับการแข่งขันแฮกกาทอน ก็ยังมีกว่า 10 กิจกรรมเวิร์กช้อปให้นักเรียนและคนทั่วไปได้เข้าร่วมอย่างตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน เช่น เวิร์กช้อปชงให้เชี่ยว คั่วให้เข้ม กับพี่ทาริค แชมป์ World Esyen Championship, เชฟให้เชี่ยว เคล็ดลับทำอาหารอร่อย กับเชฟเฮง Master Chef, AI ให้เชี่ยว กับพี่ซี นายกสมาคมผู้ประกอบการ AI, สร้างคอนเทนต์ให้เชี่ยว กับพี่ Pasulol, เดี่ยวไมโครโฟนให้เชี่ยว กับพี่กตัญญู สว่างศรี, พิชชิ่งให้ปัง กับพี่ภูมิ 88 Sandbox, แต่งเพลงแบบใดให้ได้ 300 ล้านวิว กับพี่เพียว-คณิน นักร้องชื่อดัง, เล่าเรื่องราวผ่านเพลงยังไงให้คนฟังทัชใจ กับพี่ดราก้อน, เล่าเรื่องแบบไหนให้โดนใจแฟน Comic นับล้านคน กับพี่หม่อน เจ้าของรายการ Comic World Daily หรือทำความรู้จัก Blockchain กับพี่บิ๊กเบน Covest Finance TH ฯลฯ
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรยากาศในงาน Learn Lab Expo มหกรรมการศึกษาครั้งแรกของ OKMD และ 88 Sandbox ที่มีเป้าหมายต้องการชวนเด็กไทยมา ลอง-เรียน-รู้ เพื่อสร้างสังคมอุดมปัญญา พร้อมทั้งมุ่งเน้นกระตุ้นให้ทุกคนที่เข้าร่วมงาน ได้เกิดแรงบันดาลใจอยากเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามแนวคิด Lifelong Learning เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกได้อย่างเท่าทันด้วยนั่นเอง...