เมื่อโลกแฟชั่นต้อง "ยั่งยืน" ยิ่งกว่าในปี 2024
อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากอันดับต้น ๆ ของโลก จากการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าแฟชั่นอื่น ๆ ที่ต้องใช้สารเคมีปริมาณมากในกระบวนการผลิตแต่ละครั้ง อีกทั้งยังมีปัญหาในการจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ไม่ได้ใช้งาน ส่วนที่ตกค้างจากกระบวนการตัดเย็บ รวมถึงสินค้าที่ถูกทิ้งลงทุกมุมโลกหลังจากผ่านการใช้งาน ขยะเหล่านี้ประกอบด้วยผ้า พลาสติก โลหะ และสารเคมีหลายประเภทที่ถูกนำไปทิ้งโดยไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม
แม้ทศวรรษที่ผ่านมาผู้บริโภคจะตื่นตัว และผู้ผลิตปรับตัวกันมากขึ้น แต่การปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมยังนับว่าห่างไกลจากปริมาณปัญหาที่นำไปสู่วิกฤตอุณหภูมิโลก ใน ค.ศ. 2024 โลกแฟชั่นจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัว ทั้งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อโลก และเพื่อให้อุตสาหกรรมแฟชั่นดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นผู้สร้างขยะบนโลกในทุกวินาที!
จากเสื้อผ้ามากกว่า 1 แสนล้านชิ้นที่ผลิตในแต่ละปี จำนวนที่ต้องถูกฝังกลบนั้นมีมากถึง 92 ล้านตัน เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น จำนวนนี้เทียบได้กับการที่รถบรรทุกขยะที่เต็มไปด้วยเสื้อผ้า 1 คันจะถูกนำไปฝังกลบในทุก ๆ 1 วินาที สาเหตุหลักที่อุตสาหกรรมแฟชั่นเลือกกำจัดเสื้อผ้าด้วยวิธีการนี้คือเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการนำกลับมารีไซเคิลซึ่งเป็นกระบวนการที่มีต้นทุนสูง และหากแนวโน้มยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ คาดว่าจำนวนขยะจากสินค้าแฟชั่นจะเพิ่มขึ้นอีกถึง 134 ล้านตันต่อปีภายใน ค.ศ. 2030 รวมถึงทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกทั่วโลก ที่อาจเพิ่มขึ้น 50% ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ยังไม่นับการสร้างผลกระทบด้านมลพิษทางน้ำทั่วโลก ที่มากกว่า 20% มาจากการย้อมสี ซึ่งเป็นกระบวนการใช้สีและสารเคมีอื่น ๆ กับเนื้อผ้าและเส้นด้าย เช่น การผลิตฝ้าย 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำถึง 20,000 ลิตร หรือต้องใช้น้ำประมาณ 2,700 ลิตร เพื่อให้ได้เสื้อยืดเพียงตัวเดียว ซึ่งเทียบได้กับปริมาณน้ำที่คน 1 คนจะใช้ดื่มได้อย่างเพียงพอถึง 900 วัน
ยังมีเรื่องไมโครพลาสติกที่เกือบ 10% กระจัดกระจายลงในมหาสมุทรในแต่ละปี
เนื่องจากปัจจุบันเสื้อผ้าหลายชนิดทำจากไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์
ซึ่งทั้งทนทานและราคาถูก แต่การซักและอบแห้งเสื้อผ้าจากวัสดุเหล่านี้แต่ละครั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบหลัง ๆ จะทำให้ไมโครฟิลาเมนต์ (Microfilaments) หลุดออกจากเส้นใยผ้า ไหลผ่านระบบบำบัดน้ำเสียออกไป และไปจบลงตามแหล่งน้ำ
มีการประมาณกันว่าแต่ละปีสารปนเปื้อนเหล่านี้จะไหลลงสู่มหาสมุทรถึงครึ่งล้านตัน
ซึ่งเทียบเท่ากับมลพิษจากพลาสติกกว่า 5 หมื่นล้านขวด
ตามข้อมูลเว็บไซต์ข่าวสิ่งแวดล้อม
earth.org
เราจะเปลี่ยนตัวเลขนี้ได้อย่างไรในปี 2024
ไม่เพียงแค่ “ทำได้” แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นและผู้บริโภคต้องร่วมมือกันลดตัวเลขให้ “ทันการณ์” ในเวลาอันใกล้นี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
1. อุตสาหกรรมแฟชั่นต้องมุ่งมั่นที่จะเป็น Game Changer
ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้น
ดีไซเนอร์ผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางและแนวคิดของแฟชั่นเริ่มให้ความสำคัญต่อเรื่องแฟชั่นที่ยั่งยืน
(Sustainable Fashion) มีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจ และสังคมกันมากขึ้น
แม้จะยังมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับแบรนด์แฟชั่นทั้งหมดที่มีในโลกนี้
โดยแบรนด์ที่เดินหน้าลงมือทำไปแล้ว เช่น
- “Patagonia” ตัวอย่างจากฝั่งอเมริกา เป็นที่รู้กันดีว่า Patagonia สร้างโมเดลธุรกิจโดยใช้ความยั่งยืนเป็นแกนหลักของแบรนด์ด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิล 98% โดยใช้ผ้าฝ้ายออร์แกนิกและวัสดุรีไซเคิลที่ได้รับการรับรองจาก Fairtrade สร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและมีอายุการใช้งานยาวนาน และหากสินค้าที่ซื้อไปชำรุดก็สามารถส่งไปซ่อมแซมที่ร้านและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
- “Veja” ทางฝั่งยุโรป
แบรนด์รองเท้าผ้าใบจากปารีสอย่าง Veja ที่มีฐานการผลิตในประเทศบราซิล
เลือกลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการจำกัดปริมาณสารเคมีและน้ำที่ใช้ในการผลิต
ใช้วัตถุดิบ B-Mesh ที่มีส่วนประกอบจากขวดพลาสติกรีไซเคิล
ส่วนพื้นรองเท้าทำจากยางธรรมชาติจากต้นยางในป่าแอมะซอนที่ได้จากกลุ่มสหกรณ์ยางของคนท้องถิ่น
โดยไม่มีการตัดต้นไม้หรือถางป่าตลอดกระบวนการ
- “Young N Sang” และ “Parts Parts” ด้านฝั่งเอเชีย ประเทศเกาหลีใต้มี
Young N Sang แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายแนวไฮสตรีตที่สร้างคอลเลกชันด้วยวัสดุเหลือใช้จากการผลิตและเสื้อผ้ามือสอง
พร้อมเพิ่มเทคนิคและทักษะความชำนาญของดีไซเนอร์ใส่ลงไป และ Parts Parts แบรนด์ที่ใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบวกกับเทคโนโลยีขั้นสูง
ทั้งยังเป็นผู้สร้างผลงานที่สนับสนุนเรื่อง Zero Waste ด้วย
- “Dry Clean Only” สำหรับประเทศไทย มีแบรนด์ตัวอย่างน่าสนใจ เช่น Dry Clean Only ที่ดังไปทั่วโลกในเวลานี้ ด้วยแนวคิดการนำเสื้อผ้าเก่าที่คนคิดว่าไม่มีค่ากลับมาทำใหม่ และเพิ่มมูลค่าด้วยการใส่รายละเอียดในรูปแบบงานคราฟต์ โดยสื่อญี่ปุ่นเรียกดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้ว่า “ปิกัสโซแห่งวงการเสื้อยืด” ที่ทำให้สินค้าแต่ละชิ้นออกมาไม่มีซ้ำกับใคร
ขณะเดียวกันแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นชื่อดังระดับโลกจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้นิ่งดูดาย
และหลายแบรนด์ยังเป็นผู้นำทางความคิด เช่น
- “Stella McCartney” แบรนด์สำคัญที่ต้องกล่าวถึงในประเด็นความยั่งยืน
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่ไม่ใช้หนังสัตว์และไม่ทารุณกรรมสัตว์เพื่อผลิตสินค้า
ซึ่งมีส่วนสำคัญให้แบรนด์หรูอย่าง Gucci ประกาศเลิกใช้ขนสัตว์จริงในการผลิตเสื้อผ้า
ทางแบรนด์ยังนำเสนอหลากหลายวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค
เช่น กระเป๋าใบแรกที่ทำจากต้นกล้วย ในคอลเลกชันฤดูใบไม้ร่วงปี 2023 และยังมีการรีไซเคิลพลาสติกและเส้นใยผ้านำกลับมาผลิตใหม่
2. ผู้บริโภคต้องทิ้ง Throwaway Culture ปรับมุมคิดก้าวไปข้างหน้า
ในช่วงระยะ 15 ปีที่ผ่านมาเกิดวัฒนธรรมการใช้เสื้อผ้าที่เรียกว่า
“Throwaway Culture” หรือ “วัฒนธรรมทิ้งขว้าง”
ที่คนจะใส่เสื้อผ้าเพียงตัวละ 7-10 ครั้งแล้วโยนทิ้ง
ด้วยเทรนด์ของสินค้าฟาสต์แฟชั่นที่มีราคาถูกทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่หากต้องทิ้งสินค้าแฟชั่นที่ตัวเองมีไป
โดยปัจจุบันแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นผลิตเสื้อผ้าได้มากกว่าที่ผลิตใน ค.ศ. 2000 ถึง 2 เท่า
ขณะเดียวกันวัฒนธรรมนี้ยังคงมีแนวโน้มว่าจะแพร่หลาย
ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภคยังไม่ตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมา
บางส่วนคิดว่าเสื้อผ้าเหล่านี้ไม่ได้เป็นของเหลือทิ้ง
ทั้งยังส่งต่อไปให้ผู้ที่ต้องการในรูปแบบเสื้อผ้ามือสองหรือนำไปรีไซเคิลต่อได้
ทั้งที่ความจริงแล้วเสื้อผ้าส่วนใหญ่ที่ถูกทิ้งในแต่ละปีและได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลนั้นมีเพียง
12% เท่านั้น เช่น
เฉพาะแค่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีขยะสิ่งทอประมาณ 11.3 ล้านตัน
นั่นคือผู้บริโภคทิ้งเสื้อผ้าประมาณ 37 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
หรือประมาณ 2,150 ชิ้นต่อวินาทีทั่วสหรัฐอเมริกา
นอกจากการใช้อย่างไม่ทิ้งขว้างแล้ว หากจะจับจ่ายสินค้าแฟชั่นใหม่สัก 1 ชิ้น ผู้บริโภคยุคนี้โดยเฉพาะใน ค.ศ. 2024 ต้องเริ่มช่วยกันสร้างความตระหนักถึงแนวคิดแฟชั่นยั่งยืนที่อยู่ในตัวสินค้า เช่น สินค้าต้องช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานน้อยกว่า หรือพัฒนาวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับนำไปใช้ผลิตสินค้าแฟชั่นที่ยั่งยืนมากขึ้น เพื่อทำให้ความยั่งยืนกลายเป็นเรื่องมาตรฐานและเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด เช่นเดียวกับประโยคที่กล่าวว่า “Sustainable Fashion is the New Normal”
ปัจจุบันการเลือกซื้อสินค้ายั่งยืนเริ่มกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค
การให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาของผลิตภัณฑ์แฟชั่นยั่งยืนจึงมีผลต่อการตัดสินใจโอนหรือควักเงินออกจากกระเป๋า
นั่นหมายความว่าสุดท้ายแล้วอำนาจการตัดสินใจซื้อที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนโลกอยู่ในมือเรา
แล้วคุณล่ะ พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคแฟชั่นที่ต้องยั่งยืนกว่าที่เป็นแล้วหรือยัง
#sustainablefashion #sustainable #fashion #greensonsumer #climatechange #แฟชั่นยั่งยืน #ความยั่งยืน #แฟชั่น
#ผู้บริโภคสีเขียว #โลกร้อน #โลกเดือด
• ข้อมูลอ้างอิง: earth.org, envopap.com, sustainabilitymag.com, www.fairtrade.net, www.patagonia.com, www.longtungirl.com, www.youngnsang.com, partsparts.shop, drycleanonlybkk.com, readthecloud.co, www.the1.co.th และ www.gqthailand.com
• ภาพอ้างอิง : Freepik.com