รู้ทัน Gaslighting ก่อนความสัมพันธ์เป็นพิษ ทำจิตพัง
Gaslighting คืออะไร ทำไมผู้คนจึงกล่าวถึงคำคำนี้ในวงกว้างมากขึ้นนับตั้งแต่ ค.ศ. 2022
หลายคนเคยเป็นเหยื่อของพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพจิตนี้มาก่อน
ขณะที่หลายคนอาจเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งบางคนอาจยังไม่รู้ตัว
หรือไม่รู้วิธีว่าจะออกจากสถานการณ์นี้ไปได้อย่างไร
รู้จักความหมายของ Gaslighting
ก่อนที่
Gaslighting จะเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นในฐานะคำศัพท์แห่งปีประจำ
ค.ศ. 2022 พจนานุกรมเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ได้ให้ความหมายไว้ในเว็บไซต์
merriam-webster.com ในลักษณะที่ว่า ความหมายที่ 1 “เป็นการบงการทางจิตวิทยาของบุคคลเป็นระยะเวลานาน จนทำให้เหยื่อตั้งคำถามถึงความถูกต้องของความคิดของตนเอง” และความหมายที่ 2 “เป็นการกระทำหรือการปฏิบัติที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง
โดยเฉพาะเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง”
บทความวิชาการ
“Gaslighting…ผิดจริงหรือแค่ทริคทางจิตใจ?” โดยบุณยาพร อนะมาน นักจิตวิทยาประจำศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้ทำให้ผู้ที่สนใจความรู้ด้านจิตวิทยารู้จักกับคำนี้มาก่อนหน้าแล้ว โดยอธิบายว่า “เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจ (Psychological Manipulation) ในความสัมพันธ์ ด้วยการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ของความแคลงใจ ความสงสัย
และความไม่เชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งพบได้ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ไม่เพียงในเชิงโรแมนติกเท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงครอบครัว เพื่อน สังคมการศึกษา และสังคมการทำงานอีกด้วย (Petric,
2018)”
Gaslighting
เกิดขึ้นในบริบทใดได้บ้าง
นอกจากนิยามข้างต้นจะมีความหมายในเชิงปั่นประสาทและสะท้อนถึงความสัมพันธ์เป็นพิษ
(Toxic Relationship) แล้ว นิยามดังกล่าวยังทำให้เห็นว่า
Gaslighting สามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายบริบทและสถานการณ์ ตั้งแต่กับผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือคนรักไปจนถึงมุมการเมือง
เช่น
“Gaslighting กับผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด” ในความสัมพันธ์ การกระทำ Gaslighting ถูกใช้เป็นเครื่องมือบ่อนทำลายความมั่นใจอีกฝ่าย
ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกควบคุมได้ง่ายขึ้น เช่น การบอกเขาหรือเธอซ้ำ ๆ
ว่ามีพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล จนบุคคลนั้นรู้สึก คิด และเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
“Gaslighting ในความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง” พ่อแม่หรือผู้ดูแลอาจมีพฤติกรรม
Gaslighting ที่บ่อนทำลายเด็ก
เช่น เมื่อเด็ก ๆ ร้องไห้ ผู้ปกครองอาจพูดว่าเด็ก ๆ “อ่อนไหวเกินไป”
เพื่อทำให้เด็กอับอายและทำให้หยุดร้องโดยเร็ว
“Gaslighting ทางการแพทย์” จากการอ้างอิงข้อมูลมูลนิธิ CPTSD (Complex Post-Traumatic Stress Disorder) หรือมูลนิธิโรคความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจที่ซับซ้อนในสหรัฐอเมริกา พบว่า
Gaslighting ในทางการแพทย์คือการที่ผู้เชี่ยวชาญมองข้ามความกังวลเรื่องสุขภาพของบุคคล
และกล่าวกับเขาหรือเธอว่ามาจากการคิดมาก โดยอาจบอกบุคคลนั้นว่าเป็นเพียงช่วงเวลา “หมกมุ่น” มีภาวะคิดไปเองว่าป่วย ตามคำศัพท์เฉพาะ Hypochondriac
“Gaslighting ภายในสถาบัน” มักเกิดขึ้นภายในบริษัท องค์กร หรือสถาบัน เช่น การกล่าวถึงผู้แจ้งเบาะแสที่รายงานปัญหาว่าเป็นผู้ไร้เหตุผลหรือไร้ความสามารถ
หรือหลอกลวงพนักงานเกี่ยวกับสิทธิของตนเอง มักเป็นกระบวนการในสภาพแวดล้อมที่มีบุคคลอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ
เช่น หัวหน้างานกับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา
“Gaslighting
ทางการเมือง” เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มการเมืองหรือบุคคลสำคัญโกหกหรือบิดเบือนข้อมูลเพื่อควบคุมประชาชน
เช่น การที่บุคคลหรือพรรคการเมืองอาจมองข้ามสิ่งที่ฝ่ายบริหารทำ
ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือกล่าวเป็นนัยว่าผู้วิพากษ์วิจารณ์มีสภาพจิตใจไม่มั่นคง
หรือใช้ข้อโต้แย้งเพื่อหันเหความสนใจออกไปจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
จะทำอย่างไรเมื่อเริ่มจับได้ว่าเราเป็นผู้ถูกกระทำ
แม้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะไม่แน่ใจ
หรืออาจรับรู้ได้ยากว่ากำลังประสบกับสถานการณ์ Gaslighting อยู่หรือไม่ โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจเป็นผู้ที่เราต้องพึ่งพาหรืออยู่ในความสัมพันธ์
แต่สิ่งที่ทำได้ในเบื้องต้นคือการรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ที่อาจรวมถึงหลักฐานดังต่อไปนี้
- จดและเก็บบันทึกอย่างเป็นความลับ
: เช่น ในบันทึกประจำวัน หรือพื้นที่จดบันทึกในโทรศัพท์ โดยระบุวันที่ เวลา และรายละเอียดของการกระทำที่เกิดขึ้นไว้
เพื่อให้ย้อนหลังกลับไปดูได้จริง
- พูดคุยกับผู้ที่น่าเชื่อถือ
พึ่งได้ : เลือกคนที่เชื่อใจได้ อาจเป็นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ใช่ผู้ที่เราสงสัย
เพื่อช่วยกันประเมินสถานการณ์ และอาจทำหน้าที่เป็นพยานในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
- ถ่ายภาพ รวบรวมหลักฐาน : ภาพถ่ายที่ถ่ายเองจะช่วยให้เราสามารถ “ตรวจสอบข้อเท็จจริง”
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการบันทึกว่าสิ่งที่อีกฝ่ายกล่าวหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่
หรือเกิดจากการสร้างสถานการณ์ขึ้นมา
- เก็บบันทึกเสียง :
อุปกรณ์ที่สามารถบันทึกเสียงได้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูลและหลักฐานจริง
หลายต่อหลายครั้งที่ถูกหลอกอย่างแนบเนียน หรือถูกชี้นำให้สงสัยว่าความคิดของตนนั้นไม่ปกติ เมื่อรู้สึกสงสัยว่าตกอยู่ในสถานการณ์ Gaslighting หรือไม่ วิธีการดังกล่าวเหล่านี้คือวิธีที่จะช่วยได้ ทั้งนี้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อยังสามารถขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเบื้องต้นได้จากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดในครอบครัวหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ที่จะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการดึงสติและเร่งสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา
สำหรับคำว่า Gaslighting นอกจากทำให้เรารู้จักคำว่า Gaslight ที่แปลว่าแสงที่เกิดจากการเผาไหม้ก๊าซส่องสว่าง
หรือไฟตะเกียงแก๊สแล้ว ยังนำเราไปรู้จักชื่อของละครใน
ค.ศ. 1938
และภาพยนตร์ที่สร้างจากบทละครเรื่องเดียวกัน โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกับชายคนหนึ่งที่พยายามทำให้ภรรยาเชื่อว่าเธอเองกำลังจะเป็นบ้า
ซึ่งความจริงแล้วเกิดจากกิจกรรมลึกลับของเขาในห้องใต้หลังคาด้วยการทำให้ไฟตะเกียงแก๊สหรี่ลง แต่ยืนยันกับภรรยาของเขาว่าไฟยังส่องสว่างเท่าเดิม
จนทำให้ภรรยาสับสน และทำให้สามีควบคุมเธอได้โดยสมบูรณ์
#Gaslighting #ToxicRelationship #Relationship
#Psychology #MentalHealth #จิตวิทยา #สุขภาพจิต #ความสัมพันธ์
ข้อมูลอ้างอิง : www.medicalnewstoday.com, www.merriam-webster.com, www.psy.chula.ac.th, www.voathai.com และ ooca.co
ภาพอ้างอิง :
www.freepik.com
