คิวปิด จากเทพนิยายกรีก-โรมัน สู่งานในประวัติศาสตร์ศิลปะ ในเอ็มวี K-Pop และในยุค AI
เมื่อถึงวันหรือช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ เทพเจ้าแห่งความรักอย่างคิวปิด (Cupid) คือเทพที่ทำงานหนักที่สุดในฐานะตัวแทนความรัก คอยแผลงศรจับคู่ให้คู่รักนับไม่ถ้วน แม้ชีวิตรักส่วนตัวของคิวปิดจะเต็มไปด้วยอุปสรรคก็ตาม ขณะเดียวกันคิวปิดยังคงเป็นหนึ่งในเทพปกรณัมกรีก-โรมัน (Greek and Roman Mythology) ยอดนิยมตลอดกาล จึงเกิดการนำไปเล่าเรื่อง ตีความต่อผ่านงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงยุคดิจิทัล และยุค K-Pop ในปัจจุบัน
ส่องกามเทพคิวปิดในประวัติศาสตร์ศิลปะ
ในตำนานเทพเจ้ากรีก คิวปิดเป็นที่รู้จักครั้งแรกในชื่ออีรอส (Eros) บุตรของแอโฟรไดต์ (Aphrodite) ต่อมาในตำนานโรมันได้เปลี่ยนชื่อเป็นคิวปิด ผู้เป็นบุตรของวีนัส (Venus) เทพีแห่งความรัก ความสมบูรณ์ ชัยชนะ และความงาม ที่แม้จะมีเรื่องราวต้นกำเนิดหลายเรื่อง แตกต่างกันไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่คงเดิมไม่เปลี่ยนคือเขาเป็นบุตรชายของเทพีแห่งความรักตามตำนาน
ในกวีนิพนธ์โบราณ คิวปิดมีคันศรและลูกธนูเป็นอาวุธ มีลูกศรสีทองเพื่อจุดประกายความรักและความเสน่หา และมีลูกศรตะกั่วเพื่อจุดประกายความรังเกียจและความเกลียดชัง โดยกามเทพคิวปิดจะยิงธนูที่เขาเลือกไปที่หัวใจของมนุษย์และเทพเจ้าที่ไม่เคยตั้งตัวหรือระแวดระวัง ฉายให้เห็นภาพความเจ้าเล่ห์และซุกซนเกินต้าน ก่อความโกลาหลไม่เว้นแม่แต่กับเทพเจ้าด้วยกันเอง
ริชาร์ด มาร์ติน (Richard Martin) ศาสตราจารย์ด้านศิลปะคลาสสิกแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา บอกกับ TIME ว่า จากแหล่งข้อมูลวรรณกรรมกรีกที่ทีมมี คิวปิดถูกมองว่าไม่มีใครสามารถเอาชนะได้ ดังนั้นไม่ว่าเขาต้องการอะไร สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นตามมา เขาคือต้นตอของหายนะที่แท้จริง
ในงานศิลปะ คิวปิดเข้ามามีอิทธิพลในทุกสมัยมาตั้งแต่อดีต นับตั้งแต่เกิดเรื่องเล่าเทพนิยายกรีก-โรมัน โดยหากอ้างอิงตามข้อมูลส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์ My Modern Met ในบทความ The History of Cupid in Art: How the God of Love Has Inspired Artists for Centuries แล้วจะพบว่าอีรอสปรากฏตัวครั้งแรกในงานศิลปะกรีกโบราณโดยถูกพรรณนาว่าเป็นวัยรุ่นรูปร่างผอมเพรียว มีปีกใหญ่โต ไม่มีคันธนูและลูกธนูติดตัวอย่างปัจจุบัน ต่อมาในยุคเฮลเลนิสต์ (Hellenistic Period) ที่มีชื่อด้านประติมากรรมหินอ่อน อีรอสมีรูปลักษณ์ดูอ่อนเยาว์มากขึ้น โดยมีใบหน้าอวบอิ่มและรูปร่างอ้วนขึ้น และค่อย ๆ เริ่มให้ภาพธนูและลูกธนูตามมา
มาถึงช่วงยุคกลาง อีรอสกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อคิวปิด โดยปรากฏภาพเป็นเด็กมีปีก แต่มักจะแสดงสัดส่วนและรูปร่างเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นแนวทางที่เห็นได้ชัดในภาพเด็กทารกและภาพเด็กในยุคกลางหลายภาพ ต่อมาในช่วงยุคเรอแนซ็องส์ของอิตาลี ศิลปินหลายคนเริ่มรวมคิวปิดหลายตัวไว้ในภาพวาดเดียว เช่น “The Voyage of Galatea” (ค.ศ. 1511) โดยศิลปินราฟาเอล (Raphael) ขณะที่ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ยังนำสัญลักษณ์คิวปิดมาใช้ในผลงาน Musketeer (ค.ศ.1968) และ Amor (ค.ศ. 1969) ในสไตล์เซอร์เรียลลิสต์ รวมถึงศิลปะร่วมสมัย Cupid’s Span (ค.ศ. 2002) ประติมากรรมกลางแจ้งโดยศิลปินสามีภรรยาแนวป๊อปอาร์ต คลาส โอลเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) และโกส์เชอ ฟาน บรูกเคิน (Coosje van Bruggen) ที่ย่อความเป็นคิวปิดให้มีองค์ประกอบน้อยที่สุดออกมาเป็นแค่คันธนูโค้งและลูกศรสีแดง
คิวปิดในยุคดิจิทัลและในมิวสิกวิดีโอ K-Pop
ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน คิวปิดยังคงอยู่กับเรา หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นและเป็นไวรัลสร้างความสนใจในโลกโซเชียลมีเดียใน ค.ศ. 2018 คือผลงานของทีม Skullmapping ผู้สร้างแอนิเมชันเกี่ยวกับคิวปิดที่หนีออกจากภาพวาดของตัวเอง ณ ใจกลางสนามบินบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยได้รับมอบหมายจากหน่วยงานการท่องเที่ยว VisitFlanders ของแคว้นแฟลนเดอส์ ทำให้นักเดินทางได้ค้นพบวิธีใหม่เพื่อเพลิดเพลินกับศิลปะในห้องรอของผู้โดยสารที่ตกแต่งด้วยภาพวาดของเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ (Peter Paul Rubens) จิตรกรที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 17
ค.ศ. 2023 ช่วงเวลาที่ K-Pop ครองโลก เป็นปีที่ New Jeans วงเกิร์ลกรุ๊ปดังจากประเทศเกาหลีใต้ปล่อยมิวสิกวิดีโอเพลง Cool with You ที่มีตัวเอกเป็นคิวปิด แต่เป็นการนำคิวปิดมาตีความใหม่เปลี่ยนจากชายเป็นหญิง และรับบทโดยจอง โฮย็อน จากซีรีส์ดัง Squid Game ผู้ไปตกหลุมรักกับมนุษย์ผู้ชายที่เปรียบได้กับนางไซคี (Psyche) คนรักของคิวปิด เกิดเป็นรักต้องห้ามระหว่างคนกับเทพ ก่อนถูกขัดขวางจากชายชุดดำที่นำแสดงโดยเหลียง เฉาเหว่ย ที่เปรียบได้กับเทพวีนัสที่หาทางขัดขวาง
หากย้อนกลับไปที่เรื่องรักต้องห้ามที่มีอุปสรรคของคิวปิด เกิดขึ้นจากเรื่องราวของเทพวีนัสโฉมงามเกิดไม่พอใจไซคีผู้เป็นมนุษย์และมีความงามเทียบเท่า จึงสั่งให้คิวปิดบุตรชายของตนยิงธนูใส่ไซคี เพื่อให้นางตกหลุมรักสิ่งมีชีวิตอัปลักษณ์ แต่คิวปิดกลับไปหลงรักนางไซคีและแอบครองรักกัน ก่อนถูกเทพวีนัสขัดขวางด้วยภารกิจที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ ตั้งแต่คัดแยกเมล็ดพืชให้เสร็จก่อนค่ำ ไปจนถึงมอบหีบให้นำไปส่งยมโลกเพื่อขอให้ธิดาของซุส (Zeus) หรือจูปิเตอร์ (Jupiter) ราชาแห่งเทพบรรจุความงามกลับมา ก่อนที่คิวปิดขอความช่วยเหลือจากซุสให้เข้าช่วยจัดการปัญหา รวมถึงซุสยังช่วยทำให้นางไซคีเป็นอมตะ ทำให้ทั้งคู่ได้ครองรักกันในที่สุด สำหรับภาพ Cupid and Psyche ที่ปรากฏในมิวสิกวิดีโอนั้นวาดโดยฟร็องซัว-เอดัวร์ ปีโก (François-Édouard Picot) ใน ค.ศ. 1817
นับจากนี้เราจะยังมีโอกาสได้เห็นคิวปิดในงานศิลปะอื่น ๆ และโดยเฉพาะแบบที่เราไม่เคยได้เห็นในโลกยุค AI ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันถึงระหว่างความถูกต้องเหมาะสม เรื่องลิขสิทธิ์ ไปจนถึงการแย่งตำแหน่งงานกับพลังความเป็นไปได้ที่น่าทึ่งและเกิดขึ้นได้จริงเกินคาด เช่น เราอาจได้เห็นประติมากรรมหรือภาพวาดคิวปิดลุกขึ้นมาเต้นประกอบเพลงดังในโซเชียลมีเดีย เหมือนที่เจ้าของอินสตาแกรม @gerdegotit หยิบจับ AI มาทำแอนิเมชันให้ทั้งเทพีและเทพเจ้ากรีก-โรมันหลายองค์ลุกขึ้นมาเต้นโชว์ลีลา ตอบโจทย์แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สร้างรายได้ให้กับศิลปิน AI
#Valentine #Cupid#Venus #Psyche #Mythology #Art #Kpop #AI #วันแห่งความรัก #วาเลนไทน์ #คิวปิด #วีนัส #ไซคี #ศิลปะ #เคป็อป #เอไอ
ข้อมูลอ้างอิง : drivethruhistory.com, mymodernmet.com, www.digitalmeetsculture.net, www.silpa-mag.com, www.billboard.com, www.sanook.com และ www.vogue.co.th

