ถึงเวลาเด็กไทยเรียนรู้เรื่องการเงิน

29 กุมภาพันธ์ 2024
|
6034 อ่านข่าวนี้
|
8


สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ของ GDP ขณะเดียวกับที่สังคมไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงอายุ การติดอาวุธทางความรู้ทางการเงิน หรือ  Financial Literacy ให้กับคนไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่สุด รวมถึงการปูพื้นฐานความรู้ไว้ให้กับเด็กและเยาวชนตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นที่มาของ “Fin Lab : โครงการคาราวานความรู้ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาคและบ่มเพาะต้นแบบคนรุ่นใหม่ (New Gen) เข้าสู่ตลาดทุน” ที่จะเกิดขึ้นตลอด พ.ศ. 2567 จากการร่วมมือกันของ 11 ภาคีเครือข่ายรวมถึงสํานักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD


นำมาสู่เสวนา FIN LAB Vision Talk หนึ่งในกิจกรรมเปิดโครงการที่มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อํานวยการสํานักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ คุณพรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  คุณอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อํานวยการฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คุณนวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพการออมและการลงทุน สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณวราพรรณวงศ์สารคามกรรมการและเลขานุการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) และคุณศิริวรรณ นพรัตน์ ผู้ดําเนินการเสวนา



เรียนรู้การเงินได้ในสไตล์ที่ชอบ ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์หรือเทคโนโลยี 


ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อํานวยการสํานักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ได้เริ่มชวนผู้ฟังกระตุกต่อมคิดว่า นอกจากความรู้เรื่องการเงินจะเป็นเรื่องจำเป็นแล้ว ยังเป็นเรื่องน่าศึกษาและเรื่องสนุก ไม่ว่าจะผ่านประวัติศาสตร์หรือเทคโนโลยี เช่น เราสามารถเรียนรู้เรื่องการออมเงินเพื่อใช้เป็นงินสำรองจาก ‘เงินถุงแดง’ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ทรงเก็บออมเงินส่วนพระองค์จำนวนมากใส่ถุงผ้าสีแดง หรือเรียนรู้ในยุคดิจิทัลที่นำเอาความรู้การเงินมาผสานกับเทคโนโลยีจนเกิดนวัตกรรมด้านการเงินยุคใหม่ สื่อความหมายว่าอยากให้ทุกคนมาเรียนรู้เรื่องการเงินในแนวทางที่ตนเองสนใจและเลือกได้ด้วยตนเอง


สอดคล้องกับ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่าความรู้ทางการเงินหาได้รอบตัวและมีหลากหลายรูปแบบ และในฐานะผู้ทำงานด้านการศึกษาได้กล่าวเป็นแนวทางว่า “เราทำให้คนมีความรู้ไม่ได้ แต่ทำให้คนอยากมีความรู้ได้” มีหลายเหตุที่สามารถเป็นแรงจูงใจ (Motivation) หรือฉันทะที่ทำให้ผู้เรียนอยากรู้ ตั้งแต่ความกลัว ความมั่งคั่งในอนาคต ไปจนถึงความรักในสิ่งที่ศึกษา ซึ่งการทำให้สิ่งที่รักเกิดเป็นประโยชน์งอกงามนั้นสำคัญที่สุด


หนึ่งในรูปแบบการเรียนรู้ด้านการเงินคือการเรียนรู้ผ่านเกม (Gamification) ที่มีการนำมาประยุกต์ใช้มากขึ้นในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นรูปแบบการเรียนออนไลน์ยังคงมีความสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มคนวงกว้าง ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีโครงการที่ร่วมมือกันกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ผู้สนใจ ไม่จำกัดอายุ เข้าไปเรียนหลักสูตรออนไลน์ ทำแบบทดสอบก่อนและหลัง ที่เมื่อสอบผ่านแล้วสามารถนำมายื่นเทียบโอนหน่วยกิตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งยังได้ขยายไปร่วมมือกับทั้งสถาบันทางการเงินและเทคโนโลยี อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และไอบีเอ็ม ทำให้ผู้เรียนสะสมเป็นหน่วยกิตที่ช่วยให้เรียนจบได้เร็วขึ้น เช่น ผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาสามารถเริ่มเรียนและเก็บไปเทียบหน่วยกิตได้ล่วงหน้าได้เลย เช่นเดียวกับวัยทำงานที่สะสมสำหรับศึกษาต่อได้ กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในสถาบันนำร่องที่ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมทำเรื่องระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank System : NCBS) ที่มีส่วนช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ด้านการเงิน




ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพราะเด็กวันนี้ควรรู้เรื่องการเงิน


คุณพรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการลงทุนและเป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับบุคคลทั่วไป กล่าวว่าในโอกาสที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีอายุครบ 50 ปี พบว่าความสำคัญในเรื่องการลงทุนมี 2 ประการ ได้แก่ 1. ต้องมีความสามารถ ความรู้ และความเข้าใจในการลงทุน  2. ต้องมีความพร้อมในเรื่องของทุน ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมในด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้ง 2 ด้าน 


แม้คนทั่วไปจะมีแนวโน้มการมีทักษะที่ดีขึ้นแต่ไม่เพียงพอ ยังคงต้องพัฒนาต่อไป จึงทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดตั้งหน่วยงานด้านการพัฒนาความรู้ด้านการลงทุนขึ้นตั้งแต่เมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์ให้ความรู้เรื่องการเงินที่กล่าวได้ว่าแทบจะหน่วยงานเดียวที่พาคนไปรู้จักตั้งแต่เรื่อการออมไปจนถึงการลงทุน ทั้งนี้ยังได้มีการปรับปรุงความรู้ตามตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป


ขณะเดียวกันคุณอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อํานวยการฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มาพร้อมกับตัวเลขและแนวทางความรู้ด้านการเงินที่น่าสนใจดังตัวอย่างต่อไปนี้ 


  1. หนี้ครัวเรือนกว่า 90% เป็นเรื่องที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะหากมีหนี้มาก ต้องจ่ายคืนหนี้มาก แทนที่จะนำเงินไปลงทุน ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น  

  2. จากการสำรวจร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติในกลุ่ม Baby Boomer พบว่าเพียง 20% เท่านั้นที่พร้อมเกษียณ และมากถึง 80% ที่ไม่พร้อม สะท้อนการขาดความรู้ด้านนี้อย่างแท้จริง สร้างความตระหนักว่า “อย่าให้เด็กโดนน้ำร้อนลวกตามผู้ใหญ่” และจำเป็นอย่างยิ่งในการให้ความรู้ด้านการเงินให้กับคนไทยตั้งแต่วัยเรียน

  3. ในหัวข้อเงินออมเผื่อฉุกเฉิน เมื่อสำรวจเจน Z อายุต่ำกว่า 23 ปี พบว่าหากขาดรายได้กะทันหัน ราว 60 % จะรับมือได้และอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน ส่วนอีกราว 40% ไม่แน่ใจความสามารถในการรับมือ ซึ่งในความเป็นจริงทุกคนควรมีเงินออมเผื่อฉุกเฉิน โดยเฉพาะจากกรณีศึกษาสถานการณ์วิกฤตโควิด 19

  4. อีกตัวอย่างน่าสนใจพบว่าในกลุ่มคนวัย 25-29 ปี มีมากถึง 25% ของกลุ่มนี้ที่เป็นหนี้เสีย กล่าวได้ว่าเมื่อออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย และเข้าสู่สังคม คนกลุ่มนี้ยังคงใช้เงินไม่เป็น ขาดความรู้และทักษะที่มากพอ


ถัดมาคุณนวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพการออมและการลงทุน สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวว่า ทักษะทางการเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการรายรับและรายจ่าย การจัดการหนี้สิน การประกันภัย การลงทุน การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการลงทุน ไปจนถึงการจัดการความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงด้านภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความสามารถในการหารายได้ที่อาจลดลง โอกาสสร้างผลตอบแทนในการลงทุนที่อาจทำได้ยากขึ้น ประกอบกับผลิตภัณฑ์ตลาดเงินตลาดทุนมีความหลากหลายและซับซ้อนขึ้น ทั้งยังมีภัยด้านการเงินอื่นๆ โดยเฉพาะภัยไซเบอร์ ซึ่งเราจะไม่สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้เลย หากไม่มีความรู้ด้านการเงิน 


อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้คือสังคมสูงอายุ ที่ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ทำให้คนเรามีอายุยืนยาวมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการตั้งคำถามว่าเราจะมีเงินเพียงพอใช้หรือจะตกสู่ภาวะยากจนหรือไม่ในวัยชรา จึงทำให้กระทรวงการคลังเร่งเดินหน้ามุ่งให้ความรู้กับภาคประชาชนเช่นกัน


ในประเด็นนี้ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสริมว่า ต่อเนื่องจากประเด็นสังคมสูงวัย หากปัจจุบันบุคคลมีอายุในช่วงวัยเกษียณและไม่มีโรคประจำตัว  อายุเฉลี่ยส่วนใหญ่ของคนเราอาจจะยืนยาวไปถึง 90 ปี หากอายุ 40 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 50 ปี อายุเฉลี่ยส่วนใหญ่อาจยืนยาวไปถึง 92-93 ปี หากอายุ 30 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 40 ปี อายุเฉลี่ยส่วนใหญ่อาจอยู่ที่ 94-95 ปี และผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 อายุเฉลี่ยส่วนใหญ่อาจเกิน 95 ปีในอนาคต ดังนั้นหากประเทศไทยเรายังคงกำหนดการเกษียณอายุในวัย 60 ปี ในอีก 30 ปีข้างหน้าเรื่องเงินจะเป็นเรื่องใหญ่ที่คนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ต้องกังวล ซึ่งหากรอการขยับตัวเลขอายุเกษียณโดยภาครัฐก็อาจล่าช้า ดังนั้นสิ่งที่เราต้องลงมือทำ เช่น 1. ลองตั้งคำถามกับตนเองว่าจะจัดการเรื่องเงินอย่างไร หากอายุยังเหลืออีก 30 ปี ที่เทียบเท่าเกือบอีกครึ่งชีวิต 2.ในโลกที่ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว อาจเริ่มจากยึดวิธีจัดการด้านการเงิน 5 ด้าน ได้แก่ หา ใช้ ออม ลงทุน และปกป้อง ลองสำรวจตนเองว่าถนัดและมีจุดอ่อนในเรื่องใดจากทั้ง 5 ข้อ เพื่อต่อยอดและเพิ่มเติมทักษะให้ตนเอง


ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ วัยไหน ภาคไหนก็เรียนรู้ได้


คุณวราพรรณ วงศ์สารคาม นอกจากเป็นกรรมการและเลขานุการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) แล้ว ปัจจุบันยังเป็นที่รู้จักในฐานะคนดังด้านการเงินในโซเชียลมีเดีย หรือ  Financial Influencer เจ้าของเฟซบุ๊ก VI บ้านๆ โดยเธอเป็นตัวแทนของนักลงทุน Value investor หรือนักลงทุน VI ที่เข้าใจพื้นฐานกิจการเสมือนลงทุนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ พร้อมกับมีแนวคิดว่าหากเงินทุนเริ่มต้นน้อยต้องออมให้มากโดยมีเงินออมสูงถึง 60% และจัดการรายจ่ายอย่างจริงจัง ก่อนนี้เธอมีอาชีพหลักเป็นพยาบาลที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนวัยเกษียณ นำไปสู่การเริ่มศึกษาด้านการเงินและการลงทุนด้วยตนเองเพื่อลดความเสี่ยงมากกว่าเล็งผลความมั่งคั่งในเวลานั้นผ่านการค้นคว้าหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตคู่การอ่านหนังสือด้านการเงิน


เกี่ยวกับการเริ่มศึกษาด้วยตนเอง คุณวราพรรณได้แบ่งปันมุมมองว่า ส่วนตัวเธอเองเริ่มต้นศึกษาเรื่องนี้ช้า โดยเริ่มในช่วงอายุก่อนก้าวเข้าสู่ 40 ปี ซึ่งเท่ากับทุกคนสามารถทำได้แบบเธอเช่นกัน โดยขอแค่เพียงมีความมุ่งมั่นก็อาจเปลี่ยนชีวิตได้จากการลงทุน ขณะเดียวกันข้อมูลที่ศึกษาจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีประโยชน์มาก ซึ่งนอกจากสามารถเข้าไปคนคว้าหาข้อมูลความรู้แล้ว ปัจจุบันยังมีโครงการที่นำความรู้ไปสู่เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจ 


ในประเด็นลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้ทางด้านการเงิน โดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อํานวยการสํานักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้กล่าวว่า OKMD ตั้งใจที่จะสนับสนุน “Fin Lab : โครงการคาราวานความรู้ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาคและบ่มเพาะต้นแบบคนรุ่นใหม่ (New Gen) เข้าสู่ตลาดทุน” ให้เกิดขึ้นโดยใช้เครือข่ายที่ OKMD มีอยู่ ประกอบด้วยหน่วยงานภายใน 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (Museum Siam)  ซึ่งทั้ง 2 แห่งจะมีเครือข่ายห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ตามภูมิภาคต่างๆ จำนวนมาก เช่น เครือข่ายสถาบันอุทยานการเรียนรู้ใน 30 จังหวัด และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติกว่า 10 จังหวัด เพื่อให้เกิดการเข้าถึงและกระจายความรู้ เปลี่ยนจากการใช้สื่อทางกายภาพพื้นฐานอย่างนิทรรศการหรือหนังสือไปเป็นรูปแบบอื่นมากขึ้น เช่น จอสัมผัสอัจฉริยะและโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ยังได้สร้างความตระหนักว่าผู้ที่มีโอกาสสูงสุดในการสร้างแรงบันดาลใจยังคงเป็นสมาชิกในครอบครัว โดยที่เด็กๆ จะสามารถเรียนรู้ได้จากผู้ใหญ่ในบ้านที่เก็บหอมรอมริบ และการปลูกฝังจากคุณครูผู้สอนโดยมีตัวอย่างที่ดีในสังคม 


สุดท้ายสิ่งที่จะเห็นได้จากโครงการนี้คือคาราวานให้ความรู้ด้านการเงินที่กระจายไปสู่ภูมิภาคที่เข้าถึงเด็กและเยาวชน ช่วยสร้างทัศนคติที่ดีในการวางแผนทางการเงินให้มากที่สุด กระตุกต่อมคิดที่เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านการเงินและการลง ทุน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ OKMD 


เก็บตกเรื่องน่ารู้ FIN LAB ความรู้การเงินที่ส่งตรงถึงเด็กๆ

  • โครงการประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย เริ่มที่  1. First Date เสวนาและสร้างการรับรู้กับภาคีเครือข่าย พร้อมการเปิดตัว 2. Knowledge Market ตลาดนัดความรู้ ระดับมัธยมศึกษาวัย 13-18 ปี 3. Knowledge Corner มุมความรู้ทางการเงิน 4. Knowledge Kiosk Alive ชุดความรู้ผ่าน Kiosk TV  5. Online Platform ความรู้เชิงรุกออนไลน์ 6. Fin Lab Online Bootcamp ค่ายอบรมบ่มเพาะเชิงลึกออนไลน์ 7. Fin Lab Hackathon การฝึกฝนเยาวชน ระดมสมองจัดทําโครงงานองค์ความรู้การเงิน

  • ในอดีตตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยทำหนังสือเงินทองของมีค่าที่แบ่งเป็น 4 ซีรีส์ส่งไปให้กระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมครูในภูมิภาคต่างๆ แต่ด้วยสถานการณ์ที่ครูผู้สอนอาจมีความรับผิดชอบมาก ความรู้จึงอาจตกหล่นและขาดช่วง ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อย่างไรก็ดีปัจจุบันความพยายามนี้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องจากหนึ่งในเครื่องมือสำคัญอย่าง FIN Quiz ผ่าน finquizz.setgroup.or.th แบบทดสอบที่ให้ทุกคนเข้าไปประเมินตนเอง 3 แบบทดสอบ ได้แก่ 1.ความรู้การเงินในชีวิตประจําวัน 2. การวัดความรู้การลงทุนในหลักทรัพย์ 3. ความรู้ในการเลือกหุ้น ในรูปแบบเกมง่ายๆ 15 นาที เพื่อให้ทราบว่าเวลานี้มีประเด็นใดบ้างที่เราต้องมีความรู้เพิ่มเติม

  • ชวนทำความรู้จัก สตางค์ Story สื่อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีหลักสูตรและชุดสื่อการสอนสำหรับคุณครู นักเรียน และนักศึกษาที่ให้ความรู้ทางการเงิน ผ่าน www.bot.or.th/th/satang-story.html และเฟซบุ๊ก สตางค์ Story ที่ครูผู้สอน ผู้ปกครอง สามารถนำไปปรับใช้ หรือแม้แต่เจ้าของธุรกิจก็สามารถส่งต่อความรู้ให้กับพนักงานในองค์กรเพื่อให้มีความรู้ทางการเงินที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีโครงการครูสตางค์ปล่อยของ กิจกรรมแบ่งปันประสบการณ์โดยครูผู้สอนที่นำความรู้ทางการเงินไปปรับสอนในห้องเรียนจริงโดยตรงช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567

  • กระทรวงการคลังนำเสนอเว็บไซต์  www.รู้เรื่องเงิน.com ที่ให้ความรู้ทางด้านการเงินคนไทย โดยมี ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานรับมอบหมายจัดทำเว็บศูนย์รวม โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลหลัก ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 12 แห่ง ทำให้ความรู้การเงินเป็นเรื่องเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ครอบคลุมหลายอาชีพและทุกช่วงวัย และสำหรับผู้ที่ต้องการออมระยะยาวยังสามารถออมกับกองทุนเงินออมแห่งชาติได้ ที่เริ่มได้ตั้งแต่เมื่ออายุ 15 ปีขึ้นไป โดยรัฐบาลจะร่วมสมทบเงินออมให้ปีละไม่เกิน 1,800 บาท ที่สามารถเข้าไปในเว็บไซต์กองทุนการออมแห่งชาติ www.nsf.or.th อีกหนึ่งทางเลือกในการวางแผนการเงิน

  • 11 ภาคีเครือข่ายของโครงการ “Fin Lab : โครงการคาราวานความรู้ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาคและบ่มเพาะต้นแบบคนรุ่นใหม่ (New Gen) เข้าสู่ตลาดทุน” เกิดขึ้นโดยการนําของ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO) ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) กระทรวงศึกษาธิการ (MOE) สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (OIC) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จํากัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยโครงการ 88 SANDBOX และ OKMD

**** ชม Live งานเปิดตัว "โครงการ Fin Lab : โครงการคาราวานความรู้ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาคและบ่มเพาะต้นแบบคนรุ่นใหม่ (New Gen) เข้าสู่ตลาดทุน" โดย CMDF จับมือ OKMD และ ธรรมศาสตร์ พร้อม 11 ภาคีเครือข่ายการเงินการลงทุนระดับชั้นนำ และเวทีเสวนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคีเครือข่ายด้านการเงินและการลงทุนในระดับชั้นนำ  ณ TK PARK อุทยานการเรียนรู้ Central World ชั้น 8 ***

www.facebook.com/OKMDInspire/videos/695370589177131


#Finlab #Financial #Investment #การเงิน #การลงทุน #กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน #CMDF #ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย #SET#สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง #FPO #ธนาคารแห่งประเทศไทย #BOT #กระทรวงศึกษาธิการ #MOE #สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย #OIC #กองทุนการออมแห่งชาติ #สมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย #YSDA #ธนาคารเกียรตินาคินภัทร #มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ #88 SANDBOX #TKPark #MuseumSiam  #OKMD #knowledgePortal #กระตุกต่อมคิด


เสวนา FIN LAB Vision Talk เมื่อ
วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ




0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI