Notifications

You are here

บทความ

อีบุ๊ก ธุรกิจหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังมาแรงในต...

15 มีนาคม 2024 832 อ่านข่าวนี้ 5 เดือนก่อน 4


นับจากอีบุ๊ก (E-Book) หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ตลาดหนังสือก็คึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในฝั่งอเมริกา ซึ่งมี Amazon เป็นผู้เล่นรายใหญ่ และประสบความสำเร็จในการนำเสนอ Kindle เครื่องอ่านอีบุ๊กที่โดดเด่นสะดวกสบาย ลบจุดด้อยของอีบุ๊กให้กับคนอ่านได้เกือบหมด ทำให้ยอดขายอีบุ๊กเติบโตมาโดยตลอด แม้ในระยะหลัง จะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกลับมาแรงอีกครั้งเมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ


สำหรับในประเทศไทย การอ่านอีบุ๊กอาจไม่เฟื่องฟูเท่ากับต่างประเทศ เพราะนอกจากวัฒนธรรมการอ่านไม่แข็งแรงมากนักแล้ว ความนิยมยังจำกัดอยู่เฉพาะการอ่านบางประเภทเท่านั้น เช่น นิยายหรือการ์ตูน และยังมีเหตุผลเกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางด้านอารมณ์ ความชื่นชอบส่วนบุคคล และการเก็บสะสมหนังสือเป็นคอลเลกชั่นด้วย


อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ ของการบุกตลาด อีบุ๊กในประเทศไทยก็มียอดขายเติบโตไม่น้อย ก่อนจะทรงตัวเรื่อยมา และกลับมาเติบโตมากขึ้นอย่างน่าสนใจ ในช่วงระยะ 5-6 ปีหลัง  


โดยบทความจากเว็บไซต์ PwC ซึ่งอ้างอิงรายงานประจำปีของ The Global Entertainment & Media Outllook 2018-2022 ระบุว่า แนวโน้มตลาดอีบุ๊กทั้งโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561-2565 ประมาณ 7.1% จากมูลค่าตลาดรวม 763,491 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2560 เป็น 1,077,811 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ.2565 ขณะที่ในเอเชียแปซิฟิก มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ 7.7% จากมูลค่าตลาดรวม 180,670 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2560 เป็น 262,396 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2565


ส่วนในประเทศไทยนั้น ก็มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ 14% จากมูลค่าตลาดรวม 2,960 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2560 เป็น 5,705 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2565 และมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มจาก 7.4% ในปี พ.ศ.2560 เป็น 14.1% ในปี พ.ศ.2565 สอดคล้องกับข้อมูลจาก Statista ที่คาดว่า ตลาดอีบุ๊กไทยจะเติบโตเฉลี่ยต่อปี 4.58% ตั้งแต่ปี พ.ศ.2567-2570 รวมถึงการเปิดเผยจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เมื่อต้นปี พ.ศ.2566 ถึงกระแสการอ่านล่าสุด ปรากฏว่า มีสัดส่วนมากถึง 42% ที่ย้ายจากการอ่านกระดาษไปอ่านอีบุ๊ก


นอกจากนี้ จากตัวเลขข้างต้น เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดรวม อีบุ๊กก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตสูงขึ้นกว่านี้ได้อีกด้วย 


ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ตลาดอีบุ๊กในประเทศไทยกำลังมาแรงและสดใส ด้วยสถานการณ์และข้อได้เปรียบหลายประการ อาทิเช่น ร้านหนังสือลดน้อยลงจาก 2,000 กว่าแห่ง เหลือประมาณ 800 กว่าแห่ง, กลุ่มคนอ่านหลักในปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่ ที่นิยมใช้สมาร์ตโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการอ่านหนังสือ, ความนิยมใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไปมีจำนวนสูงขึ้นมาก, เครื่องอ่านอีบุ๊กมีให้เลือกหลากหลายและพัฒนาจนสามารถตอบโจทย์การอ่านได้มากกว่าสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นความกะทัดรัด ช่วยถนอมสายตา หรือพกพาสะดวกเวลาเดินทาง, ช่วยประหยัดพื้นที่ในการเก็บหนังสือ, ราคาถูกกว่า เป็นต้น อีกทั้งยังมีแอปพลิเคชันอีบุ๊กเกิดขึ้นอย่างมากมาย นอกจากเจ้าแรกๆ อย่าง Ookbee ก็มี Meb, Dekdee, Kawebook, Comico, AIS Bookstore และ Fictionlog ก็ยิ่งทำให้คนอ่านมีทางเลือกในการอ่านอีบุ๊กเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว 


กระนั้น ในข้อได้เปรียบก็มีข้อจำกัด โดยหลายฝ่ายในวงการหนังสือมองว่า ตลาดอีบุ๊กไทยยังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ คนอ่านเฉพาะกลุ่มเกินไป และเหมาะกับการอ่านแนวบันเทิงมากกว่า ทำให้ไม่สามารถเข้ามาแทนที่การอ่านหนังสือเล่มได้ทั้งหมด โดยเฉพาะแนวการศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง ศาสนา หรือการลงทุน ฯลฯ เพราะการอ่านรูปแบบเล่ม ช่วยให้จดจำและเรียงลำดับเรื่องราวได้ดีกว่า, มีเสน่ห์และตอบสนองความรู้สึกทางอารมณ์ได้ลึกซึ้งกว่า, สร้างประสบการณ์ในการอ่านที่ดีกว่า ขณะเดียวกันมูลค่าตลาดรวมของหนังสือ ก็ยังอยู่ที่หนังสือเล่มเป็นหลัก แม้การเติบโตจะถดถอยบ้างในบางช่วง จากสถานการณ์หรือวิกฤติการณ์ต่างๆ แต่แนวโน้มก็ยังคงดีอยู่ โดยในปี พ.ศ.2565 มีการเติบโตขึ้นประมาณ 15%   


ดังนั้น อีบุ๊กที่กำลังมาแรงในตลาดออนไลน์ของไทย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี จึงไม่ได้แผ่ขยายมาแทนที่หนังสือเล่ม แต่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการอ่านที่ส่งเสริมเติมเต็มและเติบโตควบคู่กัน รวมถึงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองต่อไปในอนาคต



#E-Book #อีบุ๊ก #หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ #ตลาดอีบุ๊ก #อีบุ๊กในประเทศไทย #การเติบโตของธุรกิจอีบุ๊ก  #กระตุกต่อมคิด #okmd #knowledgeportal




ข้อมูลอ้างอิง : https://stock2morrow.com/article/5643, www.pwc.com/th/en/pwc-thailand-blogs/blog-20180628.html, www.statista.com/outlook/dmo/digital-media/epublishing/ebooks/thailand, https://prachachat.net/marketing/news-1250974 

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ