Notifications

You are here

บทความ

แตกต่างหลากหลายอย่างเข้าใจในครอบครัว LGBTQ+

06 พฤษภาคม 2024 16 อ่านข่าวนี้ 2 วันหลังจากนี้ 4


แม้ปัจจุบันสังคมจะให้การยอมรับ LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยมองว่าเป็นสิ่งปกติธรรมดา แตกต่างจากสมัยก่อนก็ตาม แต่ในความเป็นจริง ยังมีการเลือกปฏิบัติ การบูลลี่หรือเหยียดคนกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อย ไม่เฉพาะสังคมภายนอก ทว่าในครอบครัวซึ่งใกล้ชิดกับพวกเขามากที่สุด ก็ขาดความเข้าใจ ต่อต้าน ไม่สนับสนุน จนทำให้ LGBTQ+ ในครอบครัวไม่กล้าเปิดใจหรือแสดงตัวตนออกมาอย่างอิสระ 


ดังนั้น เพื่อให้ครอบครัวที่พ่อแม่มีลูกเป็น LGBTQ+ และลูกซึ่งเป็น LGBTQ+ อยู่ร่วมกันแบบแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีความสุข พ่อแม่ควรต้องทำความเข้าใจและปรับความคิดเข้าหาลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม 

อย่างไรก็ตาม มาทำความรู้จักกับความหมายของ LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกันก่อน 


ความหมายของ LGBTQ+ 


เริ่มจาก L ย่อมาจากเลสเบี้ยน (Lesbian) หมายถึง เพศหญิงที่มีความสนใจในเพศหญิงด้วยกัน

G ย่อมาจากเกย์ (Gays) หมายถึง เพศชายที่มีความสนใจในเพศชายด้วยกัน 

B ย่อมาจากไบเซ็กชวล (Bisexual) หมายถึง บุคคลที่ชอบได้ทั้ง 2 เพศ ไม่กำหนดตายตัวว่าจะชอบเฉพาะเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกัน

T ย่อมาจากทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) หรือคนข้ามเพศ หมายถึง บุคคลที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศสรีระ ทำให้ต้องใช้กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นเพศนั้นๆ ได้อย่างสมบูรณ์

Q ย่อมาจากเควียร์ (Queer) หมายถึง บุคคลที่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศใดหรือต้องรักชอบกับเพศใด 

ส่วน + มีการเติมเข้ามาเพื่อให้ครอบคลุมทุกคนที่มีเพศวิถีนอกเหนือจากที่กล่าวมา เช่น I ย่อมาจากอินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) หมายถึง ผู้ที่มีเพศกำกวมหรือมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างจากปกติ ไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้, A ย่อมาจากอะเซ็กชวล (Asexual) หมายถึง ผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม หรือ N ย่อมาจากนอน-ไบนารี (Non-Binary) หมายถึง ผู้ที่ไม่ต้องการระบุเพศสภาพของตนว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ฯลฯ


พ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อลูกเป็น LGBTQ+


ศึกษาทำความเข้าใจจากข้อมูลอย่างถูกต้องว่า เพศหลากหลายไม่ใช่โรคหรือสิ่งผิดปกติ แต่เป็นเรื่องธรรมชาติที่

มีกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยส่งเสริม อีกทั้งเป็นสิทธิของลูกที่จะเลือกเพศสภาพของตนเอง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกๆ ได้มากขึ้น และสามารถอธิบายในสิ่งที่เขาเป็นได้ด้วย รวมทั้งพร้อมจะช่วยนำพาเขาให้เติบโตต่อไปอย่างมั่นใจ หากสังเกตเห็นพฤติกรรมหลากหลายทางเพศตั้งแต่ลูกยังเล็ก ก็ควรดูแลและคอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ เพื่อป้องกันการถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือเปรียบเทียบจากคนอื่นๆ 


ยอมรับและพูดคุยอย่างเปิดใจ เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจว่าบ้านเป็น Safe Zone หรือพื้นที่ที่ปลอดภัย 

สามารถบอกเล่าหรือแสดงตัวตนได้โดยไม่กดดัน และรับฟังสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสารอย่างตั้งใจ มีทัศนคติที่ดี ไม่ใช้อารมณ์ เพราะการเปิดตัวต่อครอบครัวของลูกก็ต้องใช้ความกล้าอย่างมากเช่นกัน หากแม้แต่พ่อแม่ยังพูดคุยไม่ได้ แล้วจะไปคาดหวังจากคนอื่นได้อย่างไร นอกจากนั้น การยอมรับของพ่อแม่มีส่วนสำคัญต่อลูกในการเตรียมตัว การจัดการชีวิต และการเผชิญหน้ากับสังคมในอนาคตได้อย่างเข้มแข็งด้วย   


สนับสนุนและเคียงข้างอยู่เสมอ
โดยเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้และค้นหาตัวตนได้อย่างอิสระ ตลอดจนรู้คุณค่าในตนเอง เมื่อลูกทำในสิ่งที่ดีก็ชื่นชมและให้กำลังใจ แต่หากทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรอบรมและให้คำแนะนำอย่างห่วงใย ไม่ใช้รสนิยมทางเพศมาเป็นข้อตำหนิติเตียน


แนะนำให้ลูกรู้จักดูแลสุขภาพทางเพศ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
เพื่อความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายอย่างมีความสุข


ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

หากยังมีบางเรื่องที่พ่อแม่ไม่เข้าใจหรือไม่มีความรู้ เช่น นักจิตวิทยา แพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ทางเพศ เพื่อรับฟังข้อมูลที่ถูกต้องเพิ่มเติมสำหรับนำไปใช้กับลูกๆ อย่างเหมาะสม ไม่ทำให้ลูกเกิดปมด้อยหรือสร้างปัญหาให้กับคนอื่น


 #LGBTQ+ #LGBTQ+Family #LGBTQ+Parent #ครอบครัวLGBTQ+ #พ่อแม่LGBTQ+ #ความแตกต่างหลากหลายในครอบครัว #แตกต่างหลากหลายอย่างเข้าใจในครอบครัวLGBTQ+ #okmd #knowledgeportal #กระตุกต่อมคิด 




ข้อมูลอ้างอิง : https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/lifestyle/lgbt-vocabulary, https://www.sosthailand.org/blog/supporting-your-lgbtq-child 

 

 


URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ