FINANCIAL LITERACY: ทักษะทางการเงิน คนไทยควรรู้สู้ภาวะหนี้ครัวเรือนและพร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัย
ปัจจุบัน คำว่า Financial Literacy หรือทักษะทางการเงิน มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่เฉพาะในแวดวงการเงิน แต่รวมถึงแวดวงอื่นๆ ด้วย เหตุผลเนื่องจากเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้คนเราใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงในอนาคต ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ และมีอิสรภาพทางการเงินมากขึ้น
โดยเฉพาะท่ามกลางโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ ทักษะทางการเงินก็ยิ่งมีความสำคัญ ซึ่งสำหรับคนไทย แม้ผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่า การพัฒนาทักษะทางการเงินดีขึ้น จาก 67.4% ในปี พ.ศ.2563 เป็น 71.4% ในปี พ.ศ.2565 หากก็ยังมีการออมน้อย ทำให้เกิดภาวะหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและน่าตกใจ โดยภาพรวมในปี พ.ศ.2566 สูงถึง 16.2 ล้านล้านบาท เท่ากับระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ที่ 91.8 % ติดอันดับ 6 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงที่สุดในโลก (ข้อมูลจาก Trading Economics 2566) อีกทั้งสถานะการเงินในวัยผู้สูงอายุยังเปราะบางมาก คือมีเงินออมที่ 54.3% เท่านั้น และเป็นเงินออมที่ต่ำกว่า 50,000 บาท ซึ่งไม่พอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณอายุอย่างแน่นอน ขณะที่อีก 45.7% ไม่มีเงินออมเลย เพราะขาดการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย
ดังนั้น การส่งเสริมทักษะทางการเงินในสังคมไทย จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนท่วมท้น และสร้างความมั่นคงในวัยเกษียณให้กับทุกคน
ความหมายและองค์ประกอบของ FINANCIAL LITERACY
Financial Literacy หรือทักษะทางการเงิน หมายถึงความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการเงินในทุกมิติ ตั้งแต่ภาพใหญ่อย่างการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย การกำหนดเป้าหมายในการมีเงิน การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ การกู้ยืม จนถึงการวางแผนเรื่องภาษี เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจทางการเงินที่ดี และส่งผลให้บุคคลมีสุขภาพทางการเงินที่ดีด้วย ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่
ความรู้ทางการเงิน
คือความรู้ในการคิดคำนวณดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยทบต้น ความรู้เรื่องเงินเฟ้อ การกระจายความเสี่ยง และผลตอบแทนด้านการลงทุน ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจด้านการเงินของแต่ละบุคคล
พฤติกรรมทางการเงิน
คือพฤติกรรมการใช้จ่ายและการออม รูปแบบการเก็บออม การแก้ปัญหาทางการเงิน การไตร่ตรองก่อนซื้อ การชำระค่าใช้จ่ายตรงเวลา การเปรียบเทียบศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ และการตั้งเป้าหมายทางการเงินระยะยาว
ทัศนคติทางการเงิน
คือความคิดเห็นด้านการเงิน เช่น มีความสุขกับการใช้เงินหรือการออมเงิน, มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้หรือวันข้างหน้า, คิดวางแผนเพื่อมีเงินในอนาคตหรือรีบใช้ในปัจจุบัน
FINANCIAL LITERACY ที่คนไทยควรรู้และสร้างได้
แม้คนไทยส่วนใหญ่จะมองทักษะทางการเงินเป็นเรื่องยาก แต่ก็ควรต้องเรียนรู้ โดยสามารถสร้างได้ ด้วยการแยกย่อยหัวข้อเป็นแต่ละประเภท เพื่อให้ง่ายต่อการเริ่มต้นแล้วค่อยๆ พัฒนาต่อไป ดังนี้
การจัดการทรัพย์สิน และรายรับ-รายจ่าย
เป็นการฝึกทำรายรับ-รายจ่าย ตรวจสอบทรัพย์สินที่มี และลงบันทึกให้เรียบร้อย จะทำให้เห็นถึงรายรับที่ได้ รายจ่ายที่ต้องจ่ายไป จำนวนหนี้สินที่มี และเงินจากส่วนไหนที่จะนำมาปิดหนี้ให้เร็วขึ้นได้ ก็จะทำให้มีโอกาสออมเงินได้มากขึ้น
การวางแผนเรื่องภาษี
เมื่อมีรายได้ก็ต้องมีภาษีตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การฝึกหัดวางแผนเรื่องภาษีให้ดี คำนวณภาษีเป็นและแม่นยำ จะช่วยให้ไม่ต้องเสียภาษีมากเกินไป และมีเงินเก็บออมมากขึ้น
การมีทัศนคติทางการเงินที่ดี
ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติในการศึกษาเรื่องการลงทุน, การตัดสินใจในการลงทุน, ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน หรือความเชื่อต่อความสามารถจัดการด้านการเงินในชีวิตของตนเองได้
การบริหารความเสี่ยง
เป็นการวางแผนค่าใช้จ่ายและการเกษียณอายุ ตลอดจนการเก็บออมและการเลือกการลงทุนอย่างเหมาะสม เช่น การลงทุนในกองทุนรวม พันธบัตร หุ้นกู้ โดยตระหนักดีว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น หากลงทุนแล้วขาดทุน ต้องรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เดือดร้อน
การหาความรู้ด้านการลงทุน
ทุกวันนี้การลงทุนมีหลากหลายมาก และแต่ละประเภทต้องใช้ข้อมูลความรู้ในการลงทุนไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังมีความเสี่ยง จึงต้องมีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ทั้งที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อจะสามารถเลือกลงทุนได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงในการขาดทุน
การเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี
ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ นอกจากมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการเงิน การเก็บออม และการลงทุนได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้นด้วย ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและหมั่นศึกษาเพิ่มเติมเสมอ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างทักษะทางการเงินในโลกสมัยใหม่ เพื่อให้เท่าทันต่อความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการเงิน การลงทุน และการเก็บออมที่คุ้มค่า
เพราะฉะนั้น หากคนไทยเริ่มเรียนรู้และสร้างทักษะทางการเงินข้างต้นได้ ตั้งแต่ในวัยเรียน หรือวัยทำงาน-ก่อนเกษียณอายุ 20 ปีขึ้นไป (เกณฑ์เวลาตามการประเมินจากหลักสูตร ‘ออมสุขภาพ รับวัยอิสระ’ โดยเครือข่ายคนไทยไร้พุงฯ และ สสส.) โอกาสเสี่ยงต่อภาวะหนี้ครัวเรือนสูงก็จะน้อยลง และช่วยให้มีความพร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัยได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
#financialliteracy #ทักษะทางการเงิน #ความรู้ทางการเงิน #พฤติกรรมทางการเงิน #ทัศนคติทางการเงิน #ทักษะทางการเงินที่คนไทยควรรู้ #okmd #knowledgeportal #กระตุกต่อมคิด
ข้อมูลอ้างอิง
www.bot.or.th/content/dam/bot/image/research-and-publications/2565ThaiFLsurvey.pdf
www.krungsri.com/th/plearn-plearn/5-skills-money-for-invest
https://tdri.or.th/2020/08/thailand-financial-literacy/
https://tradingeconomics.com/country-list/households-debt-to-gdp
https://tradingeconomics.com/thailand/households-debt-to-gdp
