Notifications

You are here

บทความ

เงินทองของสำคัญ: พ่อแม่ควรสอนการเงินให้เด็กรู้ไว้ต...

16 เมษายน 2024 220 อ่านข่าวนี้ 2 สัปดาห์ก่อน 3


เพราะเงินทองเป็นของสำคัญ และเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกคน การเรียนรู้เรื่องการเงินหรือทักษะทางการเงินจึงจำเป็นสำหรับคนทุกวัย แต่หากเริ่มต้นได้ตั้งแต่เด็กอยู่ในวัยเรียน ก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง


ด้วยเหตุผลที่ว่า

  • เด็กเป็นช่วงวัยที่ดีที่สุดในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องการเงิน เพราะสามารถเรียนรู้ได้ไว และเป็นการปลูกฝังนิสัยทางการเงินที่ดีตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วย โดยเริ่มสอนได้ตั้งแต่ในวัยอนุบาล     
  • รอเป็นผู้ใหญ่จะสายเกินไป เนื่องจากพวกเขาอาจประสบปัญหาทางการเงินไปเรียบร้อยแล้ว เช่น หารายได้มา แต่ไม่รู้จักบริหารจัดการเงินให้ดี ไม่มีการออม ไม่มีการนำไปลงทุนต่อยอด หรือมีหนี้และไม่สามารถสะสางหนี้ได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ ตามมา จนกลายเป็นปัญหาส่งต่อไปถึงช่วงวัยเกษียณได้

อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาในระดับเบื้องต้นและก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ยังไม่มีหลักสูตรสอนเรื่องทักษะทางการเงิน

โดยตรง พ่อแม่จึงควรทำหน้าที่เป็นโค้ชในการปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับเด็กๆ ไปก่อน เพื่อพวกเขาจะได้มีความรู้เรื่องการเงินติดตัวตั้งแต่อายุน้อยๆ   


วัยเรียนระดับไหน สอนเรื่องการเงินอย่างไร


แม้เด็กจะสามารถเรียนรู้เรื่องการเงินได้ตั้งแต่ในวัยอนุบาล แต่ในแต่ละช่วงของวัยเรียน พวกเขาก็มีศักยภาพและความสามารถในการเรียนรู้ทำความเข้าใจแตกต่างกัน พ่อแม่จึงจำเป็นต้องจัดลำดับการสอนอย่างเหมาะสมด้วย ดังนี้


วัยอนุบาล อายุ
3-5 ปี

เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นและต้องการเรียนรู้สิ่งต่างๆ พ่อแม่จึงสามารถสอนเรื่องการเงินให้พวกเขาได้เลย เริ่มจากสอนให้คุ้นเคยกับเงิน ด้วยการหยิบจับนับเหรียญและธนบัตร ให้พวกเขาเรียนรู้ว่า ต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของต่างๆ ด้วยเงิน โดยอาจเปรียบเทียบกับการเล่นขายของ หรือพาเด็กๆ ไปช่วยจ่ายตลาด เลือกซื้อของ และจ่ายเงินสดต่อหน้า เพื่อให้เด็กเห็นวิธีการแลกเปลี่ยนเงินจริงๆ  


วัยประถมศึกษา
อายุ 6-10 ปี

เด็กๆ เริ่มเรียนรู้วิธีการใช้เงินจับจ่ายสิ่งต่างๆ ได้แล้ว พ่อแม่จึงควรสอนพวกเขาเพิ่มเกี่ยวกับวิธีคิดเพื่อจัดลำดับความสำคัญก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะวัย
8 ปีขึ้นไป ควรเริ่มสอนการวางแผนการเงินต่างๆ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและเหลือเก็บออม เช่น หากเด็กต้องการซื้อตุ๊กตาสวยๆ ก็สอนให้ต้องยอมอดทนไม่ซื้อขนม จะได้มีเงินออมไว้สำหรับซื้อตุ๊กตาที่อยากได้ หรือให้คิดก่อนซื้อว่าตุ๊กตาหรือสิ่งของนั้นๆ เป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ หรือไม่ และต้องการจริงๆ ไหม 


วัยมัธยมศึกษาตอนต้น
อายุ 11-13 ปี

เป็นช่วงวัยเรียนที่เด็กๆ เริ่มมีศักยภาพในการควบคุมตนเองมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะสอนให้รู้จักความสำคัญของการออมเงินอย่างจริงจัง ทั้งการออมระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงพูดคุยถึงอาชีพที่พวกเขาอยากเป็นในอนาคต เพื่อเริ่มวางแผนสร้างเป้าหมายในชีวิต รู้จักการทำงานเพื่อหาเงิน
เช่น ให้ลองขายของเล็กๆ น้อยๆ หรือช่วยงานบ้านเพื่อรับเงินตอบแทน ควบคู่กับการสร้างวินัยในการออมเพื่อความมั่นคงในวันข้างหน้า โดยแนะนำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับบัญชีธนาคาร การฝากเงิน บัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิตและเดบิต พร้อมกับสอนให้ใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและปลอดภัยด้วย


วัยมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 14 ปีขึ้นไป

เป็นวัยที่เริ่มมีการตัดสินใจด้วยตนเองได้มากขึ้นแล้ว พ่อแม่จึงควรสอนให้เด็กๆ ฝึกใช้จ่ายและวางแผนการเงินด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดค่าขนมหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในแต่ละสัปดาห์ และให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ ค้นหาข้อมูล คิดทบทวนให้ดีก่อนทำการซื้อใดๆ นอกจากนี้ เริ่มสอนให้รู้จักการลงทุนว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบริหารจัดการเงินให้งอกเงย เช่น การลงทุนในบัญชีเงินออมเพื่อรับดอกเบี้ย การลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือหุ้นต่างๆ ซึ่งก็จะมีความเสี่ยงแตกต่างกันไป โดยพ่อแม่ควรให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดด้วย 


ด้วยการสอนอย่างเหมาะสมกับวัยเรียนแต่ละช่วง นอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้และซึมซับความรู้เรื่องการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ยังส่งเสริมให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน ที่รู้จักใช้ รู้จักหา และรู้จักเก็บออม สร้างความเบาใจและสบายใจให้กับพ่อแม่อีกด้วย   



#financialliteracy #ความรู้เรื่องการเงิน #เงินทองของสำคัญ #เด็กๆ กับความรู้เรื่องการเงิน #สอนเด็กเรียนรู้เรื่องการเงิน #สอนเด็กเรื่องการเงินในช่วงวัยเรียน #okmd #knowledgeportal #กระตุกต่อมคิด


ข้อมูลอ้างอิง
 
https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-matter/teach-finance-to-child 
www.sosthailand.org/blog/teach-kids-financial-planning
www.sosthailand.org/blog/4-ways-to-teach-kids-about-financial-planning   

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ