Notifications

You are here

บทความ

5 คำสำคัญน่ารู้จากน้ำท่วมหนักดูไบรอบ 75 ปี

29 เมษายน 2024 2234 อ่านข่าวนี้ 2 เดือนก่อน 9

ข่าวพายุฝนถล่มทำให้เมืองดูไบน้ำท่วมหนักในรอบ 75 ปี ที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2024 ทำให้เกิดภาพภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ผ่านทั้งสื่อหลักและโซเชียลมีเดียที่ผู้คนไม่เคยได้เห็นและไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับเมืองทะเลทราย ทั้งลมที่แรง ฝนที่กระหน่ำปะทะตึกสูง น้ำที่ท่วมเมืองไปจนถึงรันเวย์จนเครื่องบินบินขึ้นและลงจอดไม่ได้ จากเหตุการณ์นี้มีหลายประเด็นจากคำศัพท์ในข่าวให้ลงลึกและค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้ โดยล้วนเกี่ยวข้องกับภาวะโลกเดือดหรือ Global Boiling ที่ผู้คนทั่วโลกเผชิญและหาทางที่จะบรรเทาปัญหาร่วมกัน

1. Cloud Seeding การเพาะเมฆ

หรือเรียกได้ว่าการปลูกเมฆ หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า การทำฝนเทียม เป็นขั้นตอนการกระตุ้นเมฆ ดัดแปลงสภาพอากาศเพื่อเร่งให้เกิดฝน และเป็นหนึ่งทางออกช่วยเพิ่มปริมาณน้ำที่ทำกันมานานในประเทศแห้งแล้ง จึงเป็นไปได้หากทั่วโลกจะมองว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากการเพาะเมฆเพื่อทำฝนเทียม เนื่องจากดูไบเป็นเมืองแรกที่มีการทดลองควบคุมสภาพอากาศด้วยโดรนและทำให้เมืองมีฝนตกหนักสำเร็จมาแล้วใน ค.ศ. 2021 ทั้งยังส่งผลเพิ่มปริมาณน้ำไปถึงเมืองใกล้เคียง ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงและความกังวลถึงปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นหากมีปริมาณน้ำฝนมากเกินไป เช่นกันกับเหตุการณ์นี้หลายสำนักข่าวรวมถึง Reuters ได้ตั้งประเด็นไปยังกรมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ต่อมาได้แถลงข่าวไขข้อสงสัยและยืนยันว่าภัยพิบัติครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเพาะเมฆที่เว้นช่วงมาเป็นเวลานาน แต่เป็นผลจากวิกฤตโลกเดือดโดยตรง

2. Extreme Weather Event เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว

Greenpeace ประเทศไทยได้อธิบายว่าคำนี้เป็นคำเกิดใหม่ “เพื่อแสดงให้เห็นถึงภัยทางธรรมชาติที่ส่งผลรุนแรงและบ่อยขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง พายุฝน เหล่านี้มีแนวโน้มจะเกิดบ่อยขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้น” ตามใจความรายงานในการประชุมของสหภาพธรณีวิทยาอเมริกาในซานฟรานซิสโก เช่นเดียวกับพายุขนาดใหญ่ในดูไบที่

หากไม่ใช่ความผิดพลาดจากการเพาะเมฆ ย่อมหมายถึงมีสาเหตุจากโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้น้ำระเหยสู่อากาศเกินปกติมากขึ้น สอดคล้องกับที่เจฟฟ์ มาสเตอร์ส นักอุตุนิยมวิทยาของ Yale Climate Connections อธิบายว่าน้ำท่วมดูไบเกิดจากระบบความกดอากาศต่ำรุนแรงผิดปกติ ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองหนัก ซึ่งปกติดูไบมีฝนตกเฉลี่ยที่ 3.12 นิ้วต่อปี แต่เฉพาะเหตุการณ์ฝนถล่ม 24 ชั่วโมงครั้งนี้ทำให้วัดปริมาณฝนตกได้มากถึง 6.26 นิ้ว หรือเท่ากับตัวเลขเฉลี่ย 2 ปี ซึ่งมากที่สุดในรอบ 75 ปี 

3. Flood Prevention การป้องกันน้ำท่วม

ส่วนหนึ่งของบทความโดย Fast Company Middle East แบรนด์สื่อธุรกิจชั้นนำของโลกได้นำเสนอว่าเหตุการณ์น้ำท่วมดูไบที่ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจครั้งนี้ แม้จะเกิดขึ้นในระยะสั้นแต่เป็นสัญญาณเตือนว่าการออกแบบเมืองรูปแบบเดิมในภูมิภาคตะวันออกกลางอาจไม่สามารถตั้งรับภัยน้ำท่วมที่อาจเกิดซ้ำและรุนแรงขึ้นได้ ผู้เชี่ยวชาญยังได้กล่าวว่านับเป็นความล้มเหลวที่ทุกคนต้องยอมรับ พร้อมย้ำความจำเป็นในการวางผังเมืองเชิงรุกที่ต้องคิดใหม่ เพราะปัจจุบันแม้ดูไบจะเป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานรอบด้านเพื่อป้องกันน้ำท่วม เช่น มีสถานีสูบน้ำและบ่อพักน้ำจำนวนมาก (เนื่องจากมีฝนตกน้อยจึงต้องกักเก็บไว้ใช้) และมีระบบระบายน้ำที่ทันสมัย แต่เมืองยังคงไม่ปลอดภัยจากภัยพิบัตินี้ บวกกับมีอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญคือการเทคอนกรีตที่ปิดกั้นทางเดินของน้ำ (เช่นกันกับน้ำท่วมกรุงเทพฯ) เป็นผลจากการขยายเมือง 

4. COP28 การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28

การประชุมที่ผู้นำโลกกว่า 200 ประเทศเข้าร่วมเพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ จัดขึ้นที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม ค.ศ. 2023 หรือเพียงราว 4 เดือนก่อนน้ำท่วมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเน้นย้ำการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกระยะยาว ให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เรียกร้องการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่าภายใน ค.ศ. 2030 มีข้อตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสีย (Loss and Damage Finance Fund) กองทุนแรกของโลกที่มอบค่าชดเชยจากภาวะโลกรวนให้แก่ประเทศยากจนและประเทศเปราะบาง รวมถึงอีกหลายสาระสำคัญ ทั้งที่ตกลงสำเร็จและยังไม่ได้ข้อตกลงอย่างเป็นทางการหลังปิดประชุม โดยเกิดคู่ไปกับการต่อต้านโดยนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่มองว่าเป็นการประชุมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับผู้ได้ประโยชน์มากกว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

5. UAE - United Arab Emirates สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

หนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับต้นของโลกและศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของตะวันออกกลาง มีเขตปกครอง 7 รัฐ โดยอาบูดาบี (Abu Dhabi) เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของประเทศ และดูไบ (Dubai) เมืองใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้า และเป็นเมืองท่าสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกยาวนานมาจนถึงเวลานี้ สำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อมของประเทศสอดคล้องไปกับ COP28 แม้ยังไม่บรรลุข้อตกลงทั้งหมดเนื่องจากยังคงมีสถานะผู้ส่งออกน้ำมันเอง ในด้านพลังงานสะอาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแนวทางโดดเด่น ทั้งยังมีพลังงานลม นิวเคลียร์ เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน และไฮโดรเจนเป็นแนวทางสำคัญ ยังไม่รวมความตั้งใจริเริ่มโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก รวมถึงโครงการฟื้นฟูมหาสมุทรใหญ่ที่สุดในโลก Dubai Reefs


หลังเหตุการณ์น้ำท่วม นอกจากการฟื้นฟูเมืองด้วยงบประมาณ 2,000 ล้านเดอร์แฮม หรือกว่า 20,180 ล้านบาทไนเบื้องต้น สิ่งสำคัญที่ไม่เพียงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แต่เป็นทั่วโลกต้องตระหนักคือการลงมือลดคาร์บอนและทำทุกวิถีทาง เพื่อช่วยให้วิกฤตสิ่งแวดล้อมบรรเทาเบาบางลงได้จริง ทั้งยังต้องวางแผนตั้งรับเพื่อบริหารจัดการเมืองอย่างไม่ประมาทหากต้องประสบภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ ติดตามข่าวสารของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดเรียนรู้จากทุกสถานการณ์


#ClimateChange #GlobalBoiling #COP28 #Disaster #Dubai #UAE #โลกร้อน #โลกเดือด #เพาะเมฆ #ฝนเทียม #น้ำท่วม #ภัยพิบัติ #ดูไบ #การจัดการน้ำ #knowledgePortal #okmd #กระตุกต่อมคิด 


ข้อมูลอ้างอิง : www.bangkokbiznews.com thestandard.co www.beartai.com, plus.thairath.co.th, www.posttoday.com, www.newsweek.com, www.climatecenterthailand.co, fastcompanyme.com, www.greenpeace.org, www.bbc.com, www.sdgmove.com, abudhabi.thaiembassy.org, www.ditp.go.th และ www.khaosod.co.th

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ