ความหลากหลายทางเพศ หรือ Gender Diversity เป็นสิ่งที่เด็กๆ ควรได้เรียนรู้ เข้าใจ และเปิดรับ แทนที่การละเลยจากผู้ใหญ่ด้วยเหตุผลที่ว่ายังไม่ถึงเวลา นักการศึกษาในประเทศส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมองว่าความจริงแล้วเด็กๆ สามารถเรียนรู้เรื่องนี้ได้จากชั้นเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา กิจกรรมนอกเวลา หรือในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เห็นความหลากหลายและตระหนักถึงความเท่าเทียมที่ทุกสังคมพึงมี เพราะนอกจากช่วยให้รู้จักตนเองและรู้สิทธิของตนเองแล้ว เรายังควรรู้จักผู้อื่นและสิทธิของผู้อื่นด้วยเช่นเดียวกัน
ประโยชน์และความสำคัญของการเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศในชั้นเรียน
นักการศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่าการเรียนการสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศในห้องเรียน มีความสำคัญต่อเด็กๆ ซึ่งเป็นผู้เรียนด้วยเหตุผลหลายประการ ดังต่อไปนี้
- สร้างความตระหนักรู้ถึงความหลากหลายทางเพศ : เพื่อให้เด็กๆ เริ่มมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศที่มีอยู่จริง นอกเหนือจากชายและหญิง เพื่อให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นไปในเวลาเดียวกัน
- ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ไม่แบ่งแยก : ช่วยทำให้ปลอดการแบ่งแยกความแตกต่าง สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนควรได้รับความเคารพและมีคุณค่า และปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์หรือการแสดงออกทางเพศแต่อย่างใด
- ป้องกันการสร้างอคติเหมารวมแบบดั้งเดิม : ช่วยไม่ให้เกิดทัศนคติแบบเหมารวมทางเพศแบบดั้งเดิมที่อาจส่งต่อจากผู้ใหญ่ในครอบครัว สังคม หรือผ่านสื่อ และช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ คิดอย่างมีวิจารณญาณเกี่ยวกับบทบาททางเพศได้
- ส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง : การทำความเข้าใจบุคคลที่อาจมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือประสบการณ์ที่แตกต่างจากตนเองจะช่วยป้องกันการกลั่นแกล้ง (Bullying) และการเลือกปฏิบัติตามอัตลักษณ์ทางเพศได้
- เตรียมความพร้อมให้เด็กๆ สู่โลกความเป็นจริง : ปัจจุบันโลกเราเป็นสังคมความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง การได้เรียนรู้จะทำให้ทุกเพศตระหนักถึงความเท่าเทียมทั้งในและนอกชั้นเรียนไปจนถึงในสังคมการทำงานในอนาคต
แนวทางการเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศในชั้นเรียนต่างประเทศ
สิ่งที่สังเกตได้จากนานาประเทศที่ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน (Human Rights) และสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI Rights) พบว่าหลายประเทศได้จัดให้มีการเรียนรู้ที่มีการกำหนดนโยบายจากภาครัฐดังตัวอย่างต่อไปนี้
สหราชอาณาจักร
หนึ่งในผู้นำการสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศตั้งแต่วัยเด็กที่เริ่มตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา โดยแม้ว่าผู้ปกครองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมจะต่อต้านการสอนในประเด็นนี้ว่าเร็วเกินไป แต่ในที่สุดแนวทางนี้ได้ถูกนำไปปรับใช้ในปีการศึกษาใหม่เดือนกันยายน ค.ศ. 2020 ที่มีการอนุมัติให้ใช้หนังสือภาพเป็นสื่อการสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาในหลักสูตรภาคบังคับ นำเสนอตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่าย เช่น เด็กชายที่อยากแต่งตัวเป็นนางเงือก การช่วยกันเลี้ยงลูกของคู่เพนกวินเกย์ และลูกของคู่รักเลสเบี้ยน ทั้งนี้การเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศได้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายสหราชอาณาจักร ตามรายงานของบีบีซี (BBC) เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019 ที่นับเป็นหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญในแวดวงการศึกษา
อย่างไรก็ดียังคงมีการตั้งคำถามจากผู้ไม่เห็นด้วยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงใน ค.ศ. 2023 จากผู้ปกครองโรงเรียนในแมนเชสเตอร์ที่ประท้วงเรื่องการสอน ทั้งชูป้ายและให้เด็กๆ หยุดเรียน โดยเรียกร้องให้จำกัดเนื้อหาด้าน LGBTQ+ไว้เฉพาะในชั้นเรียนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์และเพศวิถีศึกษา (RSE) นำมาซึ่งทางออกที่โรงเรียนและผู้บริหารเมืองยังคงจุดยืนให้ความรู้กับเด็กๆ ขณะที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่าได้ดำเนินการทบทวนหลักสูตรอย่างเร่งด่วนว่าเหมาะสมหรือไม่กับวัยและพื้นฐานความเป็นจริง พร้อมแนวทางที่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมดูเนื้อหาหลักสูตรได้มากขึ้นเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน
แคนาดา
ได้ชื่อว่าเป็นประเทศในฝันของกลุ่มคน LGBTQ+ เนื่องจากมีกฎหมายและนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนสังคมผู้มีความหลากหลายทางเพศรอบด้านที่ครอบคลุมไปถึงด้านการศึกษา โรงเรียนส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้ความรู้และสร้างสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายและแตกต่าง รวมทั้งมีการลงโทษอย่างเหมาะสมเมื่อมีเหตุการณ์ที่สะท้อนการเลือกปฏิบัติ เช่น เมื่อมีผู้เรียกชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเพศของอีกคน (Deadnaming) หรือเมื่อมีผู้ยืนยันด้วยพฤติกรรมก้าวร้าวว่าโลกนี้มีเพียง 2 เพศคือชายและหญิงเท่านั้น ทำให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติ มากกว่าเพียงแค่การสอนเนื้อหาในวิชาเรียน ในอีกด้านเช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักร แม้แคนาดาจะเป็นประเทศที่เปิดกว้าง แต่ยังคงมีผู้ปกครองส่วนหนึ่งเห็นต่าง โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นความเชื่อทางศาสนาเข้ามาข้องเกี่ยว รวมถึงในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023 ที่ชุมชนมุสลิมออตตาวาลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านการเรียนการสอนเรื่อง LGBTQ+ ในโรงเรียน ทั้งยังส่งเสียงสนับสนุนให้เด็กๆ เหยียบย่ำธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) หรือธงไพรด์ นำไปสู่แนวโน้มความคิดเห็นของผู้คนที่ส่วนใหญ่กังวลว่าแม้จะเป็นความเชื่อทางศาสนาที่ไม่เปิดรับแต่การส่งต่อความเกลียดชังก็อาจนำไปสู่อันตรายในอนาคตได้ การแก้ไขปัญหาอย่างประนีประนอมจึงยังคงเป็นทางออกสากลที่ดีที่สุด ลดความขัดแย้งได้ ไม่ใช่เพียงแค่กรณีในสหราชอาณาจักรหรือแคนาดา
ประเทศไทยและทิศทางการเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศในชั้นเรียน
นอกจากความพยายามและความร่วมมือของภาครัฐที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา จะพบว่าจากอดีตถึงปัจจุบัน สังคมไทยมีความเคลื่อนไหวเหตุการณ์เล็กๆ อย่างต่อเนื่องโดยภาคประชาชนที่อยากเห็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ เช่น กรณีเสนอให้ปรับแก้เนื้อหาเพื่อก้าวทันโลก LGBTQ+ การขจัดอคติทางเพศ และการขยับช่วงอายุเพื่อให้เด็กเรียนรู้ความหลากหลายทางเพศได้เร็วยิ่งขึ้นในชั้นเรียน ดังเห็นได้จากรายงานของไทยพีบีเอส (Thai PBS) ในหัวข้อ “สำเร็จ! บรรจุหลักสูตร “ความหลากหลายทางเพศ” ตั้งแต่ ป.1” จากแคมเปญรณรงค์ทาง Change.org พฤษภาคม พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ที่นำเสนอว่าผู้รณรงค์ขับเคลื่อนแนวคิดนี้ได้สำเร็จ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ สู่อีกหลายก้าวสำคัญในอนาคตของการศึกษาไทย
ขณะเดียวกันครูผู้สอนจำนวนไม่น้อยได้พยายามสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีที่แตกต่างของตนเอง หนึ่งในนั้นคือการนำเกม อย่างการ์ดเกมหรือบอร์ดเกมมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้แต่ละช่วงวัย เช่น ตัวอย่างการนำเกมที่ต้องทำความเข้าใจและต้องอ่านมากมาเป็นสื่อการเรียนรู้เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ โดยครูแฮร์รี่-อนันตชัย โพธิขำ ครูผู้สอนวิชาหน้าที่พลเมือง ที่อาจเริ่มจากเกมความรู้ที่สามารถหาซื้อได้ อย่าง UDHR Card Game เกมส์ไพ่เข้าใจสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานโดยสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หรือ Rights Card game เกมไพ่พลังสิทธิ โดยมูลนิธิฟรีดริช เนามันที่สนับสนุนโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ผู้เล่นเรียนรู้และคิดแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ผ่านแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน จากนั้นจึงให้ผู้เรียนออกแบบเกมร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งหนึ่งในเนื้อหาที่ผู้เรียนสนใจเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียม
ตัวอย่างที่ยกนับเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่รอการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างชัดเจนควบคู่ไปกับแนวโน้มสังคมแห่งความหลากหลายทางเพศที่สดใสขึ้นในเวลานี้ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับแนวคิด Gender Transformative Education โดยยูนิเซฟ (UNICEF) ในบทความ “ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน แต่ต้องเปลี่ยนทั้งสังคม : สร้างการศึกษาที่เท่าเทียมกันของคนทุกเพศ”
ที่นำเสนอโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world แนวคิดนี้เมื่อยิ่งนำมาใช้กับความหลากหลายทางเพศจะยิ่งช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงช่วยให้เกิดความเท่าเทียมในโรงเรียนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งโรงเรียนเปรียบได้กับสังคมของเด็กๆ ในอนาคต ที่พวกเขาต้องเตรียมพร้อมเพื่อที่จะเติบโต
#GenderDiversity #LGBTQ+ #Equity #Bullying #HumanRights #LGBTIRights #ความหลากหลายทางเพศ #ความเท่าเทียม #สิทธิมนุษยชน #การกลั่นแกล้ง
ข้อมูลอ้างอิง : www.bbc.com, tnc.news workpointtoday.com, www.brandthink.me, www.posttoday.com, www.freiheit.org, www.facebook.com/The Isaan Record, www.youtube.com/MissionToTheMoon และ www.eef.or.th