สำรวจ 3 แนวทางการเรียนรู้สู่อนาคต และความพร้อมก้าวสู่ศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ของคนไทย
นับเป็นเวลา 20 ปีเต็มที่ OKMD สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. เติบโตขึ้นพร้อมกับภารกิจสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนไทยทุกวัยและทุกเพศ และเนื่องจากปัจจุบันหลายความรู้มีอายุสั้น จากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยเฉพาะในโลกเทคโนโลยี OKMD จึงยังมีหน้าที่ก้าวตามให้ทันยุคสมัยและมองอนาคตด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ซึ่งเหล่านี้ได้ถูกละท้อนผ่านเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “20 years of Thailand Knowledge Creation : Past and Future” เปิดผลสำเร็จ 20 ปี OKMD จากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต เดินหน้าสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เน้นย้ำภารกิจในโอกาสครบรอบ 20 ปีขององค์กร
หนึ่งในช่วงเสวนาที่น่าจับตามองคือหัวข้อมุมมองสู่อนาคต หรือ Future เวทีแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ของโลกแห่งการเรียนรู้ที่จะทำให้คนไทยก้าวสู่โลกอนาคต สามารถใช้ศักยภาพทุนมนุษย์ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ตกขบวน มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่
- ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD
- คุณวิว ชนัญญา เตชจักรเสมา ยูทูบเบอร์ชื่อดังที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคนจากช่อง Point of View
- คุณอดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า เอ เอฟ เอส ประเทศไทย (TRAFS) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบ Board-Based Simulation (เรียนรู้จากแนวคิดบอร์ดเกม)
พร้อมทั้งมีคุณเอิร์ธ ศัลย์ อิทธิสุขนันท์ ดำเนินการเสวนา ซึ่งนอกจากได้ข้อสรุปเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ต้องยิ่งสร้างสรรค์ขึ้นแล้ว ยังเป็นช่วงนำเสนอการเปิดศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติที่จะเกิดขึ้นในย่านการเรียนรู้ (Learning District) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าภายใต้ชื่อ OKMD National Knowledge Center หรือ NKC
จากวันแรกสู่อนาคตกับ 3 แนวทางการเรียนรู้ที่ต้องยิ่งสร้างสรรค์และไม่มีวันหยุดนิ่ง
เพื่อส่งเสริมประชากรไทยในวันข้างหน้าให้มีทักษะที่โลกการทำงานต้องการ วิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอดความรู้ยิ่งต้องสร้างสรรค์ขึ้นทั้งเนื้อหาและวิธีการ ซึ่ง ดร.ทวารัฐ สูตะบุตรได้ยกตัวอย่างแนวทางการเรียนรู้ไว้ดังต่อไปนี้
- ผู้สนับสนุนต้องช่วยกระตุกต่อมเอ๊ะ - ผู้เรียนรู้ต้องฝึกนิสัยอยากรู้ หาคำตอบด้วยตัวเอง
จากที่ OKMD ได้สนับสนุนให้เยาวชนและคนไทยตั้งคำถามเป็นก่อนที่จะเชื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งสอดคล้องกับคติพจน์ “กระตุกต่อมคิด” ของ OKMD ตั้งแต่เริ่มต้น มาถึงในวันนี้และอนาคตองค์กรจะยังคงสนับสนุนให้ทุกคนฝึกสงสัย ตั้งคำถาม หรือ “กระตุกต่อมเอ๊ะ” เพื่อนำไปสู่การค้นคว้าและหาคำตอบจนเจอในมุมมองของตนเองในที่สุด ทั้งยังนำไปต่อยอดหรือถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้อีกต่อหนึ่งจากความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ที่แต่ละบุคคลมี โดยมี “เอ๊ะ? Awards by TK Park” การให้รางวัลแก่บุคคลต้นแบบที่เป็นนักตั้งคำถามและทำให้คำถามนั้นมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมในทิศทางใหม่ จัดขึ้นโดย TK Park ภายใต้การดำเนินงานของ OKMD เป็นหนึ่งตัวอย่างของการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม
- ผู้สนับสนุนต้องช่วยติดอาวุธ - ผู้เรียนรู้ต้องฝึกคิดสร้างอาชีพ Creative Economy
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy เป็นรากฐานของซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่ภาครัฐให้ความสำคัญและส่งเสริมในเวลานี้ (พ.ศ. 2567) ซึ่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ต้องมาจากผู้ออกแบบที่มี “ความรู้คู่การปฏิบัติ” มีพื้นที่และโอกาสให้ฝึกฝนและทดลอง สามารถนำไปต่อยอดสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตนเอง ทั้งยังอาจต่อยอดไปสู่นวัตกรรม นำไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในอนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากคุณสมบัติเหล่านี้ และตัวอย่างการฝึกคิดในทิศทาง Creative Economy เช่น หากต้องการเป็นนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ (Content Creator) นอกจากต้องมีความความรู้ในเรื่องที่เล่าและทักษะเล่าเรื่องแล้ว ผู้เริ่มเรียนรู้ยังต้องมีวิธีคิดในการเลือกสิ่งที่เล่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย โดยหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา คุณชนัญญา เตชจักรเสมา หรือคุณวิว ยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง Point of View ที่มีความโดดเด่นในการสรุปย่อประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่างๆ ให้สั้น เข้าใจง่ายเป็นคำเล็กๆ สอดคล้องกับเทรนด์เรียนรู้แบบกระชับ หรือ Bite-Sized Learning ที่ช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้ติดตาม
- ผู้สนับสนุนต้องเก่งประยุกต์ นำเกมมาปรับใช้ – ผู้เรียนรู้ต้องเปิดใจ ทดลองเล่น
ดร.ทวารัฐ กล่าวว่าการนำเกมที่รวมถึงบอร์ดเกม (Board Game) หรือเกมกระดานมาใช้เพื่อช่วยในการเรียนรู้นั้นได้รับความสนใจต่อเนื่องมาโดยตลอดและจะสำคัญยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต โดยมีตัวอย่างจากคุณอดุลย์ ดาราธรรม หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบกระบวน การเรียนรู้ และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบ Board-Based Simulation ที่นำบอร์ดเกมมาใช้ในการฝึกฝนและพัฒนาคน เชื่อมโยงองค์ความรู้จากที่ต่างๆ มาใส่ไว้ในบอร์ดเกม โดยมีเป้าหมายเชื่อมโยงผู้คนที่มีหลากประสบการณ์และหลายวัยให้มาคิดร่วมกัน ที่เมื่อเกมจบอาจนำไปสู่การพัฒนาต่อเป็นนวัตกรรม ซึ่งคุณอดุลย์ ได้กล่าวด้วยว่าวิธีการเรียนรู้นี้จะเป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญในยุคของสังคมสูงวัยซึ่งสำหรับประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) มาตั้งแต่ พ.ศ.2560 ตามข้อมูลจากเว็บไซต์วุฒิสภา
เตรียมพร้อมสู่ศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ แหล่งเรียนรู้เพื่ออนาคตของชาติ
ในโอกาส OKMD ครบรอบ 20 ปี ดร.ทวารัฐ ยังได้กล่าวถึงการสร้าง OKMD National Knowledge Center : NKC ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติแห่งใหม่ว่าจะช่วยต่อยอดแนวคิดการส่งเสริมคนไทยให้เรียนรู้ตลอดชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด และช่วยให้ทุกคน “เข้าถึงความรู้” โดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ และศาสนา
ในการทำสิ่งนี้ได้ต้องรวมหลายปัจจัยเข้าด้วยกัน ได้แก่
- เทคโนโลยี
- เนื้อหาความรู้ที่อัดแน่น
- โอกาสของการเข้าถึงทั้งทางกายภาพและดิจิทัล
ซึ่งทาง OKMD ได้รับความช่วยเหลือเกินว่าคาดหมายในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายจากทางรัฐบาล รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ในเกาะรัตนโกสินทร์ที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง และอีกหลากหลายด้านสอดคล้องกับความตั้งใจของ OKMD ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นที่มองการพัฒนาโดยคำนึงถึงลักษณะของความเป็นย่าน หรือ Area-Based Development เป็นประโยชน์ในการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้สำคัญของกรุงเทพฯ ที่ไม่ใช่ของประเทศแต่ในระดับสากล โดยยังสามารถเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้สำคัญอีกหลายจุด (แบบ connect the dots) รวมไปถึงมิวเซียมสยาม อีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้สำคัญภายใต้ภารกิจของ OKMD ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อในลักษณะการเรียนรู้เชิงการท่องเที่ยวหรือการเรียนรู้เก็บเครดิต พัฒนาเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่ต่อยอดและสร้างอาชีพได้ต่อไป
ขณะเดียวกันทั้ง 3 ตัวอย่างแนวทางการเรียนรู้สู่อนาคตในข้างต้นจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดจัดสรรค์พื้นที่บริการความรู้แก่ประชาชนใน 4 พื้นที่สำคัญของศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ ได้แก่
- พื้นที่ห้องสมุดมีชีวิต (Living Library)
- พื้นที่เรียนรู้และพัฒนาทักษะ (Learning Space)
- พื้นที่เพื่อการแสดงออก (Expression Space)
- พื้นที่บริการวิชาการ
ทั้งหมดนี้ เพื่อให้เป็น “ต้นแบบแหล่งเรียนรู้สาธารณะ” บนพื้นที่รวมกว่า 20,000 ตารางเมตร ที่ให้ความรู้หลากหลาย ครบวงจร ทันสมัย ทั้งยังมีการสร้างสมดุลระหว่างการเรียนรู้ในพื้นที่กายภาพและการเรียนรู้ออนไลน์ ขยายโอกาสการเรียนรู้เพื่อคนไทยทุกคน
ติดตามการเสวนาและกิจกรรมภายใต้หัวข้อ 20 years of Thailand Knowledge Creation : Past and Future เปิดผลสำเร็จ 20 ปี OKMD จากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต เดินหน้าสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเตรียมเปิด “ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ” เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/OKMDInspire/videos/3652517078335642
#okmd #TKPark #MuseumSiam #20ปีokmd #CreativeEconomy #SoftPower #ContentCreator #Edutainment #เศรษฐกิจสร้างสรรค์ #ซอฟต์พาวเวอร์ #ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ #กระตุกต่อมคิด
ข้อมูลอ้างอิง : facebook.com/OKMDInspire และ senate.go.th

