เปิดแนวทางการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ รับมือโลกร้อน
ปี พ.ศ.2567 นับเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดจนทะลุสู่โลกเดือด ดังที่เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ออกมาประกาศเมื่อไม่นานนี้ และเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันรับมือกับวิกฤตินี้อย่างเร่งด่วนยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในทางออกสำหรับการรับมือ และมีบางประเทศเริ่มดำเนินนโยบายไปบ้างแล้วก็คือ การส่งเสริมการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ เช่น เมืองปักกิ่งและกวางโจวในจีน เมืองโยโกฮามาในญี่ปุ่น เมืองนูซันตาราในอินโดนีเซีย เมืองมาสดาร์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เทศบาลตำบลเมืองแกลง จังหวัดระยอง และล่าสุดได้แก่ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ จังหวัดสระบุรี ที่จะสร้างให้เป็นต้นแบบของเมืองคาร์บอนต่ำในไทย
ทั้งนี้ ความหมายของเมืองคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon City) นั้น หมายถึงเมืองที่ทุกคนและทุกภาคส่วนในเมืองร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือลดคาร์บอนในกิจกรรมต่างๆ อย่างจริงจังและได้ผล พร้อมกับสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี รักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข
ส่วนจุดกำเนิดของแนวคิดเมืองคาร์บอน เริ่มขึ้นเมื่อปัญหาโลกร้อนได้สร้างความกังวลแก่ประชาชนในวงกว้าง ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จากการที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.70 องศาเซลเซียส ภายใน 100 ปีที่ผ่านมา และเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในอนาคต ซึ่งเป็นจุดที่จะสร้างหายนะให้กับโลกอย่างมากมาย โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติและการอพยพขนาดใหญ่ของประชากร ทำให้มีการจัดตั้งองค์กรระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภาวะโลกร้อนขึ้นหลายองค์กร รวมถึงมีการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งพบว่าสาเหตุสำคัญที่เร่งให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ก็คือมนุษย์ โดยสัดส่วนการปล่อยกว่าร้อยละ 70 มาจากการใช้พลังงานในเขตเมือง โดยยิ่งเมืองเติบโตเร็วก็ยิ่งมีความต้องการใช้ทรัพยากรเพื่อตอบสนองต่อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงได้มีการเสนอแนวทางการพัฒนาหรือสร้างเมืองคาร์บอนต่ำขึ้น ตามข้อตกลงแคนคูนในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP (Conference of the Parties) ครั้งที่ 16 โดยองค์การสหประชาติ เมื่อปี พ.ศ.2553 ที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนของเมืองใดเมืองหนึ่งจากฐานเดิมอย่างชัดเจน พร้อมทั้งมีมาตรการที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
แนวทางในการพัฒนาหรือสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ
สำหรับแนวทางในการพัฒนาหรือสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ จะประกอบด้วย
การลดการปล่อยคาร์บอนด้วยการประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล
การรักษาป่าไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ เป็นแหล่งอนุรักษ์น้ำ ดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงช่วยลดอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นที่โดยรอบ สร้างร่มเงาบังแดด ลดการใช้พลังงานในอาคารต่างๆ และยังมีคุณค่าเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้กับมนุษย์อีกด้วย
การดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการผลิต การใช้สิ่งของ และการใช้พลังงานที่มากเกินความจำเป็น การนำสิ่งของต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ หรือใช้ซ้ำให้มากที่สุดแทนการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และการนำวัสดุสิ่งของที่อาจใช้ซ้ำไม่ได้ แต่สามารถแปรรูปได้ ไปแปรรูปกลับมาใช้ใหม่
การมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใส่ใจต่อสินค้าและบริการตลอดทั้งวงจร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิตและแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง การจัดจำหน่าย การตลาด ไปจนถึงการใช้งานและการกำจัดเมื่อหมดอายุ
การลดการสร้างขยะและจัดการขยะอย่างถูกต้อง เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยภายใต้แนวทางดังกล่าว รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของเมืองเกิดความเข้าใจและตระหนักต่อการเข้ามาขับเคลื่อนเมืองคาร์บอนต่ำร่วมกัน, การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนทุกระดับ, การศึกษาวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยลดปัญหาโลกร้อน เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ หรือการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับชุมชน ตำบลเมือง ภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม ใช้เป็นหลักปฏิบัติในการพัฒนาหรือสร้างเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จตามเจตน์จำนง
#เมืองคาร์บอนต่ำ #แนวทางสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ #ปัญหาโลกร้อน #การรับมือกับโลกร้อน #lowcarboncity #globalwarming #okmd #knowledgeportal #กระตุกต่อมคิด
ข้อมูลอ้างอิง : www.eppo.go.th, https://petromat.org/home/low-carbon-society/, https://researchcafe.tsri.or.th/greenhouse-gas-analysis-and-adaptation-for-sustainable-low-carbon-city/

