ยิ่งโลกร้อนขึ้น ยิ่งเป็นพิษกับสุขภาพมนุษย์

31 พฤษภาคม 2024
|
1519 อ่านข่าวนี้
|
26


ภาวะโลกร้อนนอกจากส่งผลร้ายต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแล้ว ยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพมนุษย์ด้วย โดยยิ่งอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นพิษกับสุขภาพมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต 


โดยงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์หลายชิ้นพบว่า อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงให้เศรษฐกิจชะลอตัว ขาดความมั่นคงทางด้านอาหารและน้ำ ทำให้ผู้คนตกงานและอดอยาก และเอื้อให้แบคทีเรียหรือเชื้อโรคต่างๆ แพร่กระจายง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมือง ที่มีความเป็นอยู่แออัด ประชาชนจึงเสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อและโรคระบาดสูง ขณะเดียวกันคลื่นความร้อนจัด ยังส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจโดยตรง อันนำไปสู่โรคภัยอื่นๆ อีกมากมาย ดังเช่น


  • โรคที่มียุงลายและยุงก้นปล่องเป็นพาหะ
    เนื่องจากอุณหภูมิที่พุ่งสูงทำให้วงจรชีวิตยุงเหล่านี้เปลี่ยนไป คือมีระยะฟักตัวเร็วขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น โอกาสที่คนจะเป็นโรคไข้เลือดออกและโรคมาลาเรียก็เลยสูงขึ้นตามไปด้วย

  • โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
    ซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือก๊าซคาร์บอนได
    ออกไซต์เพิ่มขึ้น เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคปอด หรือโรควัณโรค 

  • โรคติดต่อที่มากับอาหารและน้ำ
    จากสาเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดการปนเปื้อนสิ่งสกปรกและสารพิษต่างๆ ในแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค และสภาพอากาศร้อนยังทำให้อาหารเน่าเสียเร็วกว่าปกติ เมื่อคนบริโภคเข้าไป ก็เลยเกิดเป็นโรคอันตราย อย่างโรคอหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ

  • โรคขาดอาหารหรือภาวะโภชนาการไม่ดี
    ด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติจากโลกร้อน ทั้งภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม ไฟป่า ทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหาย ไม่สามารถเพาะปลูกได้เพียงพอ ภาคอุตสาหกรรมหยุดชะงัก ผู้คนสูญเสียรายได้ เกิดความยากจน ขาดปัจจัยในการซื้อหาอาหาร จึงอดอยากและเป็นโรคขาดอาหาร

  • โรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด
    เนื่องจากคลื่นความร้อนจัดจากภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทันที จะเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว ซึ่งอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ใช้แรงงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร คนงานก่อสร้าง คนงานในโรงงาน ไรเดอร์ หรือมอเตอร์ไซต์รับจ้าง

  • โรคที่กระทบต่อสุขภาพจิต
    จากสภาพอากาศสุดขั้วเพราะภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ การว่างงาน การขาดความแน่นอนในอาชีพ ผู้คนจึงรู้สึกเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ และเป็นโรคจิตอื่นๆ เพิ่มขึ้น ต่อเนื่องไปสู่พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น การใช้ความรุนแรง และอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น ซึ่งผลการศึกษาในฟินแลนด์ ระหว่างปี ค.ศ.1996-2013 พบว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดเหตุอาชญากรรมทั่วประเทศสูงขึ้น 1.7% และมีการประมาณการ ระหว่างปี ค.ศ.2010-2099 ว่า อาจทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับโลกที่ไม่มีวิกฤติโลกร้อน 

ดังนั้น การแก้ปัญหาโลกร้อน โดยทุกคนร่วมมือกันลดการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันพิษภัยที่จะเกิดกับสุขภาพมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดพิษภัยและผลกระทบขึ้นมาแล้ว ภาครัฐก็ควรต้องให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อลดอันตรายและความเสี่ยงจากโรค คำแนะนำในการปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง การจัดระบบบริการสุขภาพที่เข้าถึงสะดวก การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงานและอยู่อาศัย หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน เพื่อผ่อนพิษภัยของโรคร้ายที่ซ่อนอยู่ในโลกร้อน จากหนักให้เป็นเบา



#ภาวะโลกร้อน #โรคภัยจากโลกร้อน #โลกร้อนซ่อนโรคร้าย #โลกร้อนเป็นพิษต่อสุขภาพมนุษย์  #globalwarming #healtheffectsofglobalwarming #okmd #knowledgeportal #กระตุกต่อมคิด



ข้อมูลอ้างอิง : www.thailand.un.orghttps://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/2556_61_193_P32-35.pdfhttps://blog.cheewid.com/knowledge/climate-change-effects/, https://theconversation.com/violence-and-mental-health-are-likely-to-get-worse-in-a-warming-world-169547https://www.si.mahidol.ac.th/TH/healthdetail.asp?aid=686  

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI