Notifications

You are here

บทความ

สำรวจ 3 เมือง ต้นแบบลดโลกร้อน

05 มิถุนายน 2024 323 อ่านข่าวนี้ 1 เดือนก่อน 3


จากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบร้ายแรงหลากหลายด้าน ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความจำเป็นในการลดอุณหภูมิโลกลง โดยที่ผ่านมา มีหลายประเทศได้เริ่มนโยบายในการพัฒนาเมืองต่างๆ เป็นเมืองลดโลกร้อน หรือเมืองลดการปล่อยคาร์บอน สาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง จนกลายเป็นต้นแบบของเมืองลดโลกร้อน ดังเช่น 3 เมือง ต่อไปนี้


โยโกฮามา 

เมืองที่มีประชากรสูงเป็นอันดับสองของญี่ปุ่น ที่มีความมุ่งมั่นจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 โดยการจัดตั้ง Climate Change Policy Headquarters เพื่อจัดทำนโยบายพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น พร้อมกับมีการปรับปรุงการใช้นโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นในการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งรายละเอียดของนโยบาย ประกอบด้วย

  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยลดลง 24% ภายในปี ค.ศ.2030 และลดลงให้ได้ 80% ภายในปี ค.ศ.2050 
  • การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้
  • พลังงานในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ยกตัวอย่าง การริเริ่มโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม โดยการสร้างฮามะ วิงส์  (Hama Wings) หรือกังหันลมขนาดยักษ์ เพื่อเป็นต้นกำเนิดของพลังงานลมในการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ผ่านการสนับสนุนค่าก่อสร้างจากรัฐบาล 50% และส่วนที่เหลือเป็นการระดมทุนจากภาคประชาชนด้วยการออกพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำ  
  • การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
  • การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ด้วยการให้ความรู้ประชาชนในการแยกแยะขยะ ก่อนนำขยะเข้าสู่กระบวนการจัดการต่างๆ ส่งเสริมการรีไซเคิลและลดการฝังกลบขยะ ตลอดจนการจัดการขยะอินทรีย์เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยและพลังงาน 
  • โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน
  • ารส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดโลกร้อนผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ
  • การทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ โดยการพัฒนาและดำเนินนโยบายลดโลกร้อน 

จากความเป็นเมืองใหญ่และมีประชากรสูง หลายคนจึงอาจคิดว่ายากที่จะดำเนินนโยบายเมืองลดโลกร้อนสำเร็จ แต่ทว่าด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันโยโกฮามากลายเป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบลดโลกร้อนของโลก


สิงคโปร์

เมืองที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปัญหาโลกร้อนยังไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ โดยในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู ได้เริ่มมีการวางรากฐานการพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นเมืองในสวน ผ่านนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการส่งเสริมการปลูกต้นไม้และสร้างสวนสาธารณะทั่วเมือง จนการปลูกต้นไม้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม สืบเนื่องต่อมาสถานการณ์โลกร้อนยกระดับเป็นวิกฤติ รัฐบาลก็ยิ่งให้ความใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจัดทำแผนและนโยบายหลายอย่าง อาทิ 

  • การส่งเสริมการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านแผนแม่บทอาคารสีเขียว เมื่อปี ค.ศ.2009
  • การเข้าร่วมในความตกลงปารีส เมื่อปี ค.ศ.2015 โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 36% ภายในปี ค.ศ.2030 
  • การจัดตั้งโครงการ Cooling Singapore ขึ้น เมื่อปี ค.ศ.2017 เพื่อเปลี่ยนให้สิงคโปร์เป็นเมืองเย็น ด้วยการออกแบบเมืองและอาคารใหม่ หลีกเลี่ยงผลกระทบจากความร้อนให้ได้มากที่สุด เช่น ออกแบบอาคารให้มีรูปทรงเรขาคณิต เพิ่มพื้นที่ร่มเงา กำหนดให้มีแหล่งน้ำลดการปลดปล่อยความร้อนในพื้นที่ต่างๆ ลดการเผาไหม้และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการผลักดันให้การขนส่งทั้งระบบใช้พลังงานไฟฟ้า และย้ายโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลออกไปให้ห่างจากตัวเมือง รวมถึงเปลี่ยนพื้นที่หลังคาของทุกอาคารให้เป็นแผงโซลาร์เซลล์ และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างนวัตกรรมระบบความเย็นแบบเขต (District Cooling System) ที่เป็นนวัตกรรมนำความร้อนที่ทิ้งจากโรงงานไฟฟ้ามาใช้ทำน้ำเย็น และเอาน้ำเย็นนี้ไปสร้างความเย็นให้กับระบบปรับอากาศอีกรอบหนึ่ง ก่อนกระจายความเย็นไปยังอาคารต่างๆ ภายในเมืองอย่างครอบคลุม

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศใช้นโยบาย Singapore Green Plan 2030 เพื่อพัฒนาเมืองและพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน เมื่อปี ค.ศ.2021 ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่ม 1 ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับจักรยาน ยกเลิกรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลให้ได้ ภายในปี ค.ศ.2025 ลดปริมาณขยะฝังกลบลงให้ได้ 30% ภายใน ปี ค.ศ.2030 และพัฒนาโครงสร้างการรีไซเคิลขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการสร้างอาคารต้องใช้พลังงานต่ำสุดตามมาตรฐานที่กำหนด ภายในปี ค.ศ.2030

โดยปัจจุบัน นโยบายลดโลกร้อนดังกล่าวของสิงคโปร์ดำเนินไปด้วยดี ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ช่วยประหยัดพลังงาน คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น เมืองเย็นและร่มรื่นกว่าเดิม จึงถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของเมืองลดโลกร้อนที่น่าทึ่ง 


นูซันตารา

เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของเกาะบอร์เนียว โดยแนวคิดการโยกย้าย เกิดจากจาการ์ตาเมืองหลวงเดิมประสบปัญหาเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจกับส่วนภูมิภาค การจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศสูง และพื้นดินมีการยุบตัวจากการสูบน้ำประปา ทำให้รัฐบาลกังวลว่าในอนาคตเมืองอาจจมน้ำได้ จึงประกาศย้ายเมืองหลวงมาที่นี่ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าจาการ์ตาเกือบ 4 เท่า เมื่อปี ค.ศ.2019 โดยการทยอยย้าย และจะสามารถย้ายได้เสร็จสมบูรณ์ ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า โดยระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ด้วยการจัดสรรพื้นที่ 25% เป็นพื้นที่เมือง และอีก 75% เป็นพื้นที่สีเขียว ที่ผสมผสานความหลากหลายทางธรรมชาติเข้ากับการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ เช่น การจัดการน้ำ การจัดการของเสีย การจัดระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้า การใช้พลังงานหมุนเวียนภายในอาคาร ฯลฯ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘เมืองอัจฉริยะสีเขียว’ ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และมุ่งใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ให้ได้ ภายในปี ค.ศ.2045  

ดังนั้น แม้จะอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ แต่ด้วยการลงมือขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ นูซันตารา นับเป็นเมืองต้นแบบลดโลกร้อนได้อีกแห่งหนึ่ง 


#climatecrisis #greencitiesmodel #greencityplans #วิกฤติโลกร้อน #เมืองลดโลกร้อน #นโยบายเมืองลดโลกร้อน  #knowledgeportal  #okmd #กระตุกต่อมคิด


URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ