Notifications

You are here

บทความ

อาหารเควียร์ (Queer Food) เมื่ออาหารเป็นเครื่องมื...

12 มิถุนายน 2024 1104 อ่านข่าวนี้ 4 เดือนก่อน 4


สังคมไทยอาจไม่คุ้นเคยกับอาหารเควียร์ หรือ Queer Food ที่ไม่ใช่แค่อาหารแต่งสีหรือตกแต่งด้วยสีรุ้ง แต่หมายถึงสัญลักษณ์หรือเครื่องมือสื่อสารถึงแนวคิด วิธีการ ไปจนถึงวัฒนธรรมเควียร์ ที่จะนำผู้คนก้าวข้ามความแตกต่างแปลกแยกไปสู่สังคมที่เท่าเทียมกัน

เควียร์หลากมิติตั้งแต่ผู้คนไปจนถึงอาหาร

บทความ “QUEER ความหลากหลาย ที่ไม่ได้จำกัดแค่ชื่อ” ทาง tu.ac.th ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง “เควียร์” ที่มีความหมายว่า “แปลก” ในบริบทของสังคมไทยในแนวทางว่า แม้อธิบายได้ยากแต่อธิบายได้หลายมิติ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องเพศ และยังคงเกี่ยวข้องกับความเท่าเทียม ขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้อธิบายทาง amnesty.or.th ว่าเควียร์หมายถึง “บุคคลที่มีความรักโดยไร้กฎเกณฑ์ (ทางเพศ) เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ใด ๆ” ตัดและย่อมาจากหัวข้อย่อย “Queer (Q) หรือเควียร์คืออะไร” ซึ่งสะท้อนให้เห็นการอยู่เหนือคำจำกัดความทางเพศโดยสิ้นเชิง


จากบุคคล กลุ่มคน กลายมาเป็นสังคมและวัฒนธรรมเควียร์ที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงวัฒนธรรมอาหารที่เป็นที่กล่าวถึง แม้ไม่มีการนิยามชัดเจนว่าต้องมีลักษณะ วัตถุดิบ หรือวิธีปรุงแบบใด แต่ตัวอย่างจากหลายประเทศใน slurrp.com ชุมชนเชฟประจำบ้านและนักชิมจะทำให้เข้าใจอาหารเควียร์ได้มากขึ้น 



อาหารเควียร์ในอินเดีย

อินเดียมีมรดกวัฒนธรรมอันรุ่มรวยและมีวัฒนธรรมอาหารเควียร์เช่นกัน ชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศใช้อาหารเป็นสัญลักษณ์และเชื่อมโยงกันมานาน เช่น เทศกาลภาพยนตร์เควียร์นานาชาติกาชิช มุมไบ ที่เฉลิมฉลองศิลปะและวัฒนธรรมชุมชน LGBTQ+ รวมถึงประเพณีทำอาหาร ที่น่าสนใจคืออินเดียยอมรับเพศที่หลากหลายมานานดังเห็นได้จากตำราและประติมากรรม และสะท้อนผ่านจานอาหารโดยปริยาย ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีร้านอาหารที่มีเจ้าของเป็นเพศทางเลือกได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญ นำเสนออาหารอินเดียที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักและน่าภูมิใจ ส่งเสริมความสัมพันธ์ในชุมชน



อาหารเควียร์ในสหรัฐอเมริกา

ทศวรรษ 1940 อาหารได้หล่อเลี้ยงชุมชนเควียร์ในซานฟรานซิสโกและกรีนิชวิลเลจ มีตำราอาหารหลายเล่มออกมาเฉลิมฉลองอาหารและประเด็นทางเพศ รวมถึง The Gay of Cooking by Kitchen Fairy (ค.ศ. 1983) ที่ไม่เพียงนำเสนอสูตรแต่ยังทำหน้าที่รณรงค์ ท้าทายกฎเกณฑ์ตำราอาหาร และไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมืองโอกแลนด์ในแคลิฟอร์เนียได้กลายเป็นเมืองหลวงอาหารเควียร์แห่งใหม่ มีเจ้าของธุรกิจเป็น LGBTQ+ จำนวนมาก ทั้งยังต้องกล่าวถึงฮาร์วี มิลก์เชก (Harvey Milkshake) เมนูที่ตั้งชื่อตามฮาร์วี มิลก์ (Harvey Milk) ผู้ปูทางเพื่อขบวนการสิทธิเกย์ในซานฟรานซิสโก

อาหารเควียร์ในยุโรป : เกิดขึ้นมายาวนานเช่นกัน มีหลายเมืองที่วัฒนธรรมอาหารนี้เฟื่องฟู เช่น ลอนดอน สหราชอาณาจักร ในเทศกาลไพรด์ลอนดอนมีแผงขายอาหารนานาชนิดที่ทำให้เห็นถึงพรสวรรค์ด้านอาหารของชุมชน เช่นเดียวกับในเบอร์ลิน เยอรมนี ที่มีชื่อเสียงด้านการไม่แบ่งแยกและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น บาร์เกย์และร้านอาหาร Roses ที่ผสมผสานอาหาร ศิลปะ และวัฒนธรรม ในอดีตยุโรปยังมีหลายบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น คำว่า “tante” ในภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 หมายถึงชายรักชายผู้ทำอาหารอย่างมีศิลปะ ซึ่งเน้นย้ำวัฒนธรรมอาหาร LGBTQ+ ได้ดี



อาหาร LGBTQ+ ในเอเชีย

แหล่งกำเนิดประเพณีอาหาร LGBTQ+ ที่หลากหลาย หลายประเทศมีแนวทางเฉพาะเพื่อเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ของเควียร์ เช่น ในญี่ปุ่น บาร์ “okama” (เกย์) ในย่านชินจูกุ นิโชเมะของโตเกียวนำเสนออาหาร เครื่องดื่ม และความบันเทิงที่ผสมผสานกันอย่างมีเอกลักษณ์ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของกลุ่มคน LGBTQ+ ขณะที่ในอินเดีย (ในบริบทของ LGBTQ+ ที่ไม่ใช่เพียงกลุ่มเควียร์) ชุมชนหิชรา (Hijra) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลข้ามเพศ (Transgender) และบุคคลเพศกำกวม (Intersex Individuals) นับเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ในการเฉลิมฉลองอัตลักษณ์และแบ่งปันอาหารในชุมชน



อาหารเควียร์ในลาตินอเมริกา

อีกฟากโลกที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอาหารเควียร์มายาวนาน เช่น ในเม็กซิโกมี “ตอร์ติยา” เป็นคำอธิบายผู้หญิงเลสเบียน ซึ่งมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมการทำอาหารของประเทศ จากรายการอาหารหลักในอาหารเม็กซิกัน ไม่กี่ปีที่ผ่านมาความสนใจอาหารเควียร์ในลาตินอเมริกามีเพิ่มขึ้นพร้อมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เทศกาลเควียร์แทงโก เทศกาลเต้นรำที่มีชื่อเสียงในบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา ที่มีการจัดแสดงแนวทางการทำอาหาร LGBTQ+ จากทั่วทั้งภูมิภาค เป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนเล็ก ๆ แต่สำคัญในลาตินอเมริกา


มากกว่าส่งเสริมอัตลักษณ์ สิ่งสำคัญที่สุดคืออาหารเควียร์หรืออาหาร LGBTQ+ ได้เข้ามาเป็นเครื่องมือสื่อสารความเท่าเทียมการเข้าถึงอาหาร เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากบางพื้นที่ของโลกยังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศอย่างครอบคลุม สิทธิ์การเข้าถึงอาหารจึงยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับหลายกลุ่มคนในปัจจุบัน


#QueerFood #FoodCulture #Queer #LGBTQ+ # #อาหารเควียร์ #วัฒนธรรมอาหาร #เควียร์ #ความหลากหลายทางเพศ #ความเท่าเทียม #KnowledgePortal #TheKnowledgeByokmd #okmd #กระตุกต่อมคิด 






ข้อมูลอ้างอิง : tu.ac.th, www.amnesty.or.th, slurrp.com, emorywheel.com, www.amazon.com และ www.sbs.com.au

ภาพ www.facebook.com/HarveysCanada

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ