Notifications

You are here

บทความ

อาหารท้องถิ่นสู่อาหารแห่งอนาคต

14 มิถุนายน 2024 688 อ่านข่าวนี้ 2 เดือนก่อน 5


วัตถุดิบท้องถิ่นมีมูลค่าและประโยชน์มากกว่าที่คิด เมื่อนำมาจัดกลุ่มหรือผลิตเป็นอาหารแห่งอนาคต  โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ เหมาะสำหรับทำการเกษตรและทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ ก่อนนำไปผลิต แปรรูป ใส่แนวคิดด้านนวัตกรรม โดยมีหลายตัวอย่างอาหารท้องถิ่นที่เป็นความหวังในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ ช่วยแก้ปัญหาอาหารขาดแคลน บนแนวคิดระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน

 

ผำ พืชน้ำขนาดจิ๋ว ประโยชน์ไม่จิ๋ว 

บทความ “ผำ พืชจิ๋วพื้นบ้าน อาหารแห่งอนาคตสู้วิกฤตด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม” โดยมหาวิทยาลัยมหิดลอธิบายว่า ผำ หรือ ไข่น้ำ (Wolffia) มีขนาดเล็กกว่าแหน ไม่มีราก เติบโตได้ในน้ำสะอาดเท่านั้น คนภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือนำมาทำเป็นอาหารท้องถิ่น ให้ผลผลิตโปรตีนสูงกว่าถั่วเหลืองเมื่อเทียบในพื้นที่เพาะปลูกที่เท่ากัน ใช้ทรัพยากรการผลิตต่ำและยังสามารถโตได้ไว นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนจำเป็น สารอาหารหลายชนิด มีเส้นใยสูงทำให้ย่อยง่าย ต้องทำให้สุกก่อนบริโภค สามารถนำไปยำ แกง คั่ว หรือใส่ไข่เจียว  โดยมีแอดวานซ์ กรีนฟาร์ม เป็นหนึ่งในธุรกิจสตาร์ตอัปที่ผลิตและจำหน่ายผำแบบพรีเมียมพร้อมตักรับประทานกับอาหารหลายประเภท ตั้งแต่สลัดไปจนถึงไอศกรีม


จิ้งหรีด ผลิตภัณฑ์แมลงแหล่งโปรตีน 

แมลงที่เป็นของกินเล่นท้องถิ่นภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเมนูพิสดารของนักท่องเที่ยว แท้จริงแล้วแมลง โดยเฉพาะจิ้งหรีดกำลังเป็นที่นิยมในตลาดอาหารแห่งอนาคตเวลานี้ เพราะมีโปรตีนสูง ใช้ทรัพยากรและพื้นที่น้อยเมื่อเทียบกับการทำฟาร์มปศุสัตว์ ทำให้เกิดระบบผลิตที่เป็นมิตรต่อโลก โดยปัจจุบัน ผู้สนใจสามารถนำนวัตกรรมฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดที่ผ่านมาตรฐาน GAP ไปเพิ่มผลผลิตได้จริง ตามข้อมูลจากบทความโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  โดยมี เดอะบริคเก็ต เป็นหนึ่งในสตาร์ตอัปไทยที่เชี่ยวชาญการผลิต เลี้ยงจิ้งหรีดด้วยนวัตกรรมรองรับมาตรฐาน GAP ผ่านแพลตฟอร์ม AgTech Connext  มีสินค้าเด่น อย่างผงจิ้งหรีดขาว และจิ้งหรีดทอดอบกรอบ



เห็ดแครง เห็ดข้างบ้านสู่เนื้อเพื่ออนาคต 

เห็ดแครงมีในทุกภาคในประเทศไทย งอกตามท่อนไม้ ใบไม้ตลอดปีโดยเฉพาะในฤดูฝนและในพื้นที่ภาคใต้ที่มักเติบโตตามท่อนต้นยางพาราที่ถูกโค่น มีโปรตีนค่อนข้างสูง โดยน้อยกว่าโปรตีนจากสัตว์ 8% เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารท้องถิ่นที่คนภาคใต้คุ้นเคย อย่างห่อหมกและแกงคั่ว ก่อนพัฒนามาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ “เนื้อจากพืช” เพื่ออนาคต ตามเทรนด์อาหาร Plant-based เวลานี้  โดยมีแบรนด์ มัดใจ เป็นหนึ่งในธุรกิจสตาร์ตอัปผู้ผลิตเนื้อจากเห็ดแครง ที่ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยไทย โดยการใช้ประโยชน์จากโรงงานต้นแบบในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ



 สาหร่าย พืชมากประโยชน์กินได้จากใต้ทะเล 

เพราะมีแร่ธาตุและวิตามิน ไฟเบอร์สูง แคลอรีต่ำฯ  ทำให้สาหร่ายพวงองุ่นที่คนภาคใต้รู้จัก เป็นหนึ่งในอาหารที่ภาครัฐสนับสนุนใน “โครงการพืชเศรษฐกิจใหม่สาหร่าย: อาหารแห่อนาคต” ใน พ.ศ.2565 ที่ผ่านมานี้  ปัจจุบันพื้นที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  โดยการสนับสนุนของกรมประมง อยู่ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี  โดยมีตัวอย่างธุรกิจอย่าง ฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น Family Farm ที่พัฒนาเป็นฟาร์มคุณภาพ เข้าระบบตรวจสอบเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์  สตาร์ทอัพที่เห็นโอกาสยังสามารถสร้างมูลค่าให้สาหร่ายคุณภาพไม่ถึงเกณฑ์จากแหล่งความรู้ เช่น งานวิจัยฤทธิ์ชีวภาพของสาหร่ายพวงองุ่นเพื่อการพัฒนาเป็นอาหารสุขภาพ ของนักศึกษาปริญญาเอกคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มีที่ปรึกษาจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่สนับสนุนงานวิจัยโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  

 


ไข่ขาว โปรตีนสูงในเส้นอูด้งไร้แป้ง 

สำหรับผู้ดูแลสุขภาพและบริโภคไข่ขาวเป็นประจำ หากบริโภคในรูปแบบเส้นได้ด้วยย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทำให้นักวิจัยคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นเส้นอูด้งจากโปรตีนไข่ขาว โดยที่ยังคงคุณค่าโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ปราศจากกลูเตน เหมาะกับคนชอบเมนูเส้นที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคไตฯ ปัจจุบันพัฒนาเป็นธุรกิจสตาร์ตอัป ทานน์ดี (Tann D) ผู้ผลิตเส้นโปรตีนไข่ขาว 100% พร้อมรับประทานเจ้าแรกในไทย ภายใต้ CU Innovation Hub และทีมวิจัยภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่จากไข่ขาวรูปแบบอื่นตามมาอย่างต่อเนื่อง


ไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังวิจัยอาหารเพื่อวันข้างหน้า ทำให้เกิดข้อดีคือการต่อยอดองค์ความรู้เพื่อใช้พัฒนา และท้าทายอย่างมากสำหรับการแข่งขันกับนานาประเทศในอนาคต



ข้อมูลอ้างอิง :

  • https://mgronline.com/smes/detail/9640000092916
  • https://researchcafe.tsri.or.th/extract-of-caulerpa-lentillifera/
  • https://siamrath.co.th/n/373659
  • https://thaifarmer.lib.ku.ac.th/news/631c4d312b680b0e08fd949b
  • https://pmuc.or.th/?p=6321
  • www.chula.ac.th/highlight/50000/
  • www.nstda.or.th/sci2pub/cricket-business/
  • www.nia.or.th/AlterProteinSPACEF
  • www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_213924
  • www.youtube.com/watch?v=UQbvId9cVGU

ภาพอ้างอิง :

  • FB : Advanced GreenFarm
  • th.m.wikipedia.org
URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ