นับจากรัฐบาลประกาศให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2564 และแสดงศักยภาพและความพร้อมทางเศรษฐกิจ BCG ของไทยบนเวทีโลกผ่านการประชุมเอเปค ในปี พ.ศ.2565 นับจากนั้นการขับเคลื่อนอาหารแห่งอนาคต ส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ก็ยิ่งเด่นชัดและเดินหน้าสู่การพัฒนาหลากหลายแนวทาง
โมเดลเศรษฐกิจ BCG
โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy คือ โมเดลการพัฒนา 3 เศรษฐกิจหลัก อันได้แก่ B-เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) C-เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ G-เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ อาทิ การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงยังสอดรับกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยด้วย
โดย 3 เศรษฐกิจหลัก มีสาระสำคัญ ดังนี้
- เศรษฐกิจชีวภาพ
มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
- เศรษฐกิจหมุนเวียน
คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ลดการเกิดขยะหรือของเสีย - เศรษฐกิจสีเขียว
พัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อาหารแห่งอนาคต
การพัฒนา 3 เศรษฐกิจหลัก มีความเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อน ‘อาหารแห่งอนาคต’ ซึ่งเป็นเป็นแนวคิดในอุตสาหกรรมอาหารโลกที่มีความหลากหลายในหน้าตา รูปแบบ และกระบวนการผลิตอาหาร โดยเน้นการคิดออกแบบอาหารและกระบวนการผลิตอาหารที่เหมาะสมกับโลกในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่ดีของประชากร จนทำให้ ‘อาหารแห่งอนาคต’ กลายเป็นเทรนด์ที่มีการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาทั้งจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่
เครื่องมือและแนวทางพัฒนา ‘อาหารแห่งอนาคต’
จากรายงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระบุว่า 3 เครื่องมือสำคัญของการขับเคลื่อนอาหารแห่งอนาคตสู่การพัฒนา ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย
- การประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยเทคโนโลยีและการบริหารการจัดการที่เหมาะสม ทั้งนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมการผลิต และนวัตกรรมการบริการ
- การพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพื่อให้เหมาะสมและทันต่อความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารปัจจุบันและอนาคต ขณะเดียวกันต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างการสร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค กับการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านอาหารสามารถแข่งขันได้
หนึ่งในหัวใจหลักสำหรับแนวทางการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต คือ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาตอบโจทย์ให้มากที่สุด โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต ไว้ 5 แนวทาง ได้แก่
- การใช้เทคโนโลยีเสริมระบบการผลิตอาหารและการจัดการห่วงโซ่อาหารที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการทำการเกษตร และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนปัญหาด้านพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์
- การใช้เทคโนโลยีชีวภาพอาหาร เพื่อพัฒนาอาหารใหม่ที่ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น
- การใช้เทคโนโลยี/อุปกรณ์การแปรรูปอาหาร เพื่อสร้างสรรค์อาหารอย่างหลากหลาย
- การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อทำการเกษตรที่แม่นยำ รวมทั้งเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต
- การใช้บล็อกเชนและการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อความปลอดภัย ความโปร่งใส และความมั่นใจด้านระบบอาหารสู่ประชาคมโลก
‘เทคโนโลยีอาหาร’ อีกหนึ่งแนวทางพัฒนาอาหารแห่งอนาคต
นอกจากเทคโนโลยีต่างๆ ข้างต้นแล้ว เทคโนโลยีอาหาร หรือฟู้ดเทค (Food Technology-Food Tech) เป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่ขับเคลื่อนอาหารแห่งอนาคตพัฒนาสู่ความยั่งยืน
ฟู้ดเทค คือการนำองค์ความรู้ งานวิจัย แนวคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี มาปรับปรุงและคิดค้นเป็น ‘อาหารใหม่’ จนสามารถนำไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ โดยอาหารใหม่นี้จะเป็น ‘อาหารแห่งอนาคตที่มีกระบวนการผลิตสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รสชาติดี เก็บไว้ได้นาน ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและโลก’ เช่น การผลิตนมสำหรับผู้แพ้โปรตีนบางชนิด หรือการผลิตน้ำผลไม้ผ่านกระบวนการสกัดน้ำตาลออก จนเป็นน้ำผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพ
ครอบคลุมถึงรูปแบบการบริการ ช่องทางการจัดจำหน่ายอาหาร ที่มีการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ด้วย ยกตัวอย่าง การบริการจัดส่งอาหารแบบตามสั่ง การบริการจองโต๊ะร้านอาหารบนอินเทอร์เน็ต การบริการส่งวัตถุดิบอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตถึงบ้านผ่านแอปพลิเคชัน
เพราะฉะนั้น เมื่อนำฟู้ดเทคไปใช้เป็นแนวทางพัฒนาอาหาร ผสานกับเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร เทคโนโลยีด้านการเกษตร หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพ จะทำให้อาหารแห่งอนาคตก้าวหน้า ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ ตามประกาศเป็นวาระแห่งชาติได้นั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง :
URL อ้างอิง: