ธีมหรือแนวคิดหลักของงานหนังสือถือเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของนักอ่าน ทำให้ทุกครั้งที่มีการจัดงานหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติช่วงต้นปี หรือมหกรรมหนังสือระดับชาติช่วงปลายปี ต้องมีการชูธีมสุดสร้างสรรค์มานำเสนอแตกต่างกันไป
สำหรับมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ปี พ.ศ.2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 10-20 ตุลาคมนี้ มาพร้อมกับความแปลกแหวกแนว ด้วยธีม ‘อ่านกันยันโลกหน้า’ แค่ฟังชื่อธีมหลายคนคงนึกถึงเหล่าภูตผีปีศาจหรือโลกอันลี้ลับ ซึ่งก็ไม่ผิดจากวัตถุประสงค์ของการจัดงานแต่อย่างใด คือต้องการส่งเสริมการอ่านทั้งในโลกนี้และโลกหน้า จะเป็นคน ผี หรือวิญญาณ ล้วนชวนมาอ่านหนังสือกันได้หมด ดังนั้น ผู้จัดงาน (สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย-PUBAT) จึงเลือกภาพโปสเตอร์งานเป็นภาพผีต่างๆ กำลังอ่านหนังสือ ที่ชนะการประกวดออกแบบโปสเตอร์ผี มาจุดกระแสการอ่านและเชิญชวนคนเข้าร่วมงาน เช่น ผีกระสือ ผีกระหัง ผีแม่นาค ผีนางตานี ผีกุมารทอง ฯลฯ อีกทั้งยังมีการจัดห้องสมุดสุดสยอง นิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือภูตผีและการเสวนากับนักเขียนแนวสยองขวัญจากต่างประเทศ การแข่งขันผู้รอบรู้เรื่องผี รวมถึงการประกวดสุดยอดคอสเพลย์ผีจากหนังสือผีเล่มโปรด (Cosplay : Ghost from Books) เพื่อให้บรรยากาศงานสอดคล้องต้องกันกับธีม และผู้ร่วมงานตื่นเต้นสนุกสนานไปด้วย
นอกจากนี้ ก็เป็นไปได้ว่า มหกรรมหนังสือระดับชาติจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ไล่เลี่ยกับเทศกาลฮาโลวีนหรือวันปล่อยผีของฝรั่ง การหยิบเอาธีมนี้มาชูจึงทำให้ดูมีสีสันตระการตาและอยากมาร่วมงานมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ ซึ่งค่อนข้างชื่นชอบหนังสือแนวหลอน ขณะเดียวกัน ก็มองได้ด้วยว่า เป็นการต่อยอดธีม ‘NO กองดอง จะ Yes หรือ No มาโชว์กันในงาน’ จากมหกรรมครั้งก่อนๆ ซึ่งเน้นกระตุ้นการอ่านด้วยการชวนเลิกพฤติกรรมกองดอง (ซื้อหนังสือมากองแล้วไม่อ่าน) แต่หากไม่มีเวลาจริงๆ หรืออ่านไม่ทันในโลกนี้ เป็นผีก็ยังสามารถอ่านได้ โดยถ้ามองลึกลงไป คงเปรียบเปรยเสมือนหนึ่งโลกของการอ่านนั้นไม่มีสิ้นสุด จึงนับเป็นธีมแปลกใหม่ ตีความหรือเชื่อมโยงได้หลากหลายทั้งกับความเชื่อพื้นบ้าน วิทยาศาสตร์ และปรัชญา ตลอดจนเป็นแนวที่ครอบคลุมถึงหนังสือสยองขวัญ ฆาตกรรม และสืบสวนสอบสวนอย่างลงตัว
แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนอ่านจำนวนไม่น้อยกลับไม่ค่อยประทับใจกับธีมภูตผีนี้เท่าไหร่ เพราะเห็นต่างว่ายังมีธีมอื่นๆ ที่เป็นวรรณกรรมทรงคุณค่าอันน่าจะหยิบขึ้นมาชูมากกว่า เพื่อยกระดับสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์หนังสือ รวมถึงหนังสือผีไม่ใช่หนังสือในหมวดขายดีจากการสำรวจยอดจำหน่ายในงานมหกรรมหนังสือปีที่ผ่านๆ มา
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ใช่หนังสือในหมวดขายดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า หนังสือผีอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยสมัยก่อนการ์ตูนผีเล่มละบาทถือเป็นวรรณกรรมราคาต่ำที่เฟื่องฟูมาก เพราะเนื้อหาและภาพวาดฉูดฉาดชวนติดตาม จนมีการ์ตูนเล่มละบาทจากหลายสำนักพิมพ์วางแผงขายกันเกือบเดือนละล้านเล่มในยุคนั้น (ข้อมูลจากหนังสือประวัติย่อการ์ตูนไทย) โดยจุดเริ่มต้นของความเฟื่องฟูได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น และการผลิตขายในราคาเล่มละบาท ก็เพื่อประหยัดต้นทุนของสำนักพิมพ์และต้องการให้หนังสืออยู่บนแผงได้นานๆ การ์ตูนเล่มละบาทก็เลยเป็นที่ถูกใจคนอ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อไม่มาก ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ของการ์ตูนมักวนเวียนอยู่กับเรื่องภูตผี ตำนาน ความเชื่อลี้ลับที่ไม่อิงหลักวิทยาศาสตร์ และสามารถจบได้ง่ายในไม่กี่สิบหน้า
สืบต่อมาในยุคนี้ การ์ตูนผีเล่มละบาทอาจจะลดความนิยมลง เนื่องจากการ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามายึดครองพื้นที่ และเกิดสื่อบันเทิงรูปแบบใหม่ๆ ที่ดึงดูดใจกว่า ทว่ากลุ่มคนอ่านหนังสือผีก็ยังคงมีอยู่ โดยเห็นได้จากการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลการ์ตูนผีไทยขึ้นมา และได้รับการตอบรับจากคนอ่านไม่น้อย ส่วนหนังสือผีประเภทนิยายและเรื่องสั้นทั้งในตลาดหนังสือไทยและเทศกลับไม่ได้ลดความนิยมลง สาเหตุที่คนยังชอบอ่าน นักจิตบำบัดระบุว่า เป็นเพราะเกิดความเพลิดเพลินจากอารมณ์กลัวและอารมณ์ร่วม ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด-คอร์ติซอล และฮอร์โมนความตื่นเต้น-อะดรีนาลีน เพิ่มขึ้นนั่นเอง ดังนั้น ยิ่งอ่านหนังสือแนวนี้ก็ยิ่งอยากรู้ อยากติดตาม และอยากค้นหาคำตอบมากขึ้น อันเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของมนุษย์
โดยหนังสือผีขึ้นหิ้งของไทยมีมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ปีศาจของไทย โดยเหม เวชกร, มายาพิศวาส โดยจินตวีร์ วิวัธน์, ภูตพิศวาส โดยรพีพร, โรงแรมผี โดยอ.อรรถจินดา, สาปภูษา โดยพงศกร, บ่วงสไบ โดยภาคินัย, ศพใต้เตียง-ศพข้างบ้าน-ศพท้ายรถ โดยสรจักร ฯลฯ
หรือหนังสือผีชื่อดังของต่างประเทศ ก็เช่น คลั่ง ขัง ฆ่า (Misery)-กลับจากป่าช้า (Pet Sematary)-คืนนรก (The Shining) โดยสตีเวน คิง, แดร็กคูลา ราชาผีดูดเลือด (Dracula) โดยแบรม สโตกเกอร์, ฆาตกรรมบนลำน้ำไนล์ (Death on the Nile)-จนศพสุดท้าย (And Then There Were None) โดยอกาธา คริสตี้, ริง คำสาปมรณะ (Ring) โดยซุสุกิ โคจิ, บ้านวิกลคนประหลาด โดยอุเก็ตสึ ฯลฯ
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือผีที่ได้รับการยกย่องและการันตีความแพร่หลายในตลาด ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ตราบใดความเชื่อเรื่องภูตผี โลกลี้ลับหลังความตาย ยังผูกติดอยู่กับสังคม ตราบนั้นหนังสือผีก็จะยังคงมีคนตามอ่านอย่างแน่นอน
ดังนั้น การที่มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ หยิบเอาธีมหนังสือผีมาชู จึงนับว่ามีเหตุมีผลด้วยประการทั้งปวง แถมใช้เป็นกลยุทธ์สร้างลูกเล่นทางการตลาดเพื่อดึงคนเข้าร่วมให้เพิ่มขึ้นได้
ที่สำคัญ ภายในมหกรรมยังประกอบด้วยบูธหนังสืออื่นๆ ให้เลือกชมอย่างเต็มอิ่มด้วย เช่น หนังสือนิยายและวรรณกรรม หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น หนังสือเด็กและการศึกษา หนังสือทั่วไป หนังสือเก่า และสื่อที่ไม่ใช่หนังสือ อย่างบอร์ดเกมหรือเกมต่างๆ
เอาเป็นว่า ถึงธีมจะเป็นหนังสือผี แต่แวะไปเยือนมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ อย่างไรก็จะได้สัมผัสกับหนังสือครบทุกแนวอย่างชื่นมื่นเช่นเคย
ข้อมูล : สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, เฟซบุ๊กหอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร, www.wikipedia/org, https://www.ereadpublisher.com/content/4258/whyreadhorrornovels
ภาพ : เฟซบุ๊ก Thai Book Fair, www.en.m.wikipedia.org, www.naiin.com, www.biblio-store.com