9 เทรนด์สำคัญกำหนดอนาคตการทำงานปี 2025

14 พฤศจิกายน 2024
|
2473 อ่านข่าวนี้
|
5


ในโลกของการทำงาน ค.ศ. 2024 เป็นปีที่สามารถนิยามได้หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปีที่ทำให้เราตื่นตัวด้วยความสามารถของเอไอ (AI) ปีที่วิกฤตโลกร้อนส่งผลต่อการทำงานอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงปีของการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่แน่นอนว่าโลกการทำงานใน ค.ศ. 2025 จะยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยเหล่านี้ ทั้งยังสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอีกหลากหลายเทรนด์ที่ได้ถูกกล่าวถึงในบทความ 9 KEY TRENDS THAT WILL SHAPE THE FUTURE OF WORK IN 2025 ของนิตยสาร Startups ที่ว่าด้วยการสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อทำความเข้าใจและนำไปปรับใช้ในโลกของการทำงาน

1. การปรับทักษะใหม่และยกระดับทักษะ 
ปฏิเสธไม่ได้กว่าการเกิดขึ้นและความอัจฉริยะของเอไอทำให้ทุกอาชีพต้องปรับตัว ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือเกือบแทบทุกอาชีพในปัจจุบัน และจากรายงานประจำปีของ World Economic Forum ค.ศ. 2023 พบว่าพนักงานมากกว่าครึ่งหนึ่งจะต้องได้รับการปรับปรุงทักษะใหม่หรือยกระดับทักษะภายใน ค.ศ. 2025 อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการแข่งขัน มากกว่านั้นธุรกิจที่เสนอโครงการริเริ่มด้านการเรียนรู้และการพัฒนาที่แข็งแกร่งจะดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูงเข้ามาร่วมงาน ทั้งยังมีแนวโน้มรักษาลูกค้าไว้ได้จากการวางตัวเป็นบริษัทที่มีความพร้อมในการปรับตัว

2. การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์นับเป็นกระบวนทัศน์สมดุลชีวิตและการทำงานแบบใหม่ โดยมีโครงการนำร่องทั่วยุโรป ที่แสดงให้เห็นว่าการทำงาน 4 วันสามารถลดความเหนื่อยหน่ายและเพิ่มผลผลิตได้อีกด้วย รวมถึงในสหราชอาณาจักรที่ 92% ของบริษัทที่ทดลองทำงาน 4 วันได้เลือกแผนนี้ต่อไป หลังจากเห็นผลลัพธ์เชิงบวกทั้งในด้านประสิทธิภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Owl Labs, 2023) และเมื่อองค์กรนำโมเดลนี้มาใช้มากขึ้น เราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่กำหนดโครงสร้างการทำงานมาตรฐานใหม่เพื่อดึงดูดและรักษาผู้ที่มีความสามารถให้ยังคงอยู่กับองค์กร

3. วิวัฒนาการของการจ้างงานแบบ Gig Economy
Gig Economy คือระบบเศรษฐกิจที่จ้างงานแบบครั้งคราวหรือรับจ้างแล้วจบไป มักใช้เรียกพนักงานพาร์ทไทม์หรือฟรีแลนซ์ โดยเฉพาะช่วง ค.ศ. 2009 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม์ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ทำให้คนออกมาทำงานอิสระเป็นจำนวนมากขึ้น ตามความหมายที่สรุปได้จาก HREX.Asia  แต่มาในปัจจุบันหรือภายใน ค.ศ. 2025 ฟรีแลนซ์ หรือคนใน Gig Economy จำเป็นต้องพัฒนาไกลไปกว่าที่เคยเป็น ด้วยทักษะที่สูงขึ้นในสาขาต่างๆ เช่น เอไอ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการดูแลสุขภาพร่างกาย ทั้งยังคาดว่าจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบุคลากรที่กลุ่มใหญ่ขึ้น อย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งจากข้อมูลของ McKinsey พบว่าระหว่าง ค.ศ. 2021 ถึง ค.ศ. 2023 มีจำนวนพนักงานอิสระเพิ่มขึ้น 25%

4. การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร
“มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเอไอกัน” เมื่อความสามารถของเอไอรุดหน้ามากขึ้น เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีเอไอจะไม่เพียงแค่เข้ามาแทนที่มนุษย์ในหลายประเภทงาน แต่ยังเพิ่มบทบาทเกินกว่าที่เราจะคาดเดาได้ในเวลานี้ ปัจจุบันเอไอถูกมองว่าเป็นพันธมิตรในด้านการสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยให้พนักงานไม่ต้องทำงานซ้ำๆ สามารถมุ่งเน้นไปที่งานเชิงกลยุทธ์และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ดี สอดคล้องกับรายงานของ Deloitte ที่ระบุว่าการบูรณาการเอไอจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในสถานที่ทำงานได้สูงสุดถึง 40% เมื่อใช้อย่างมีประสิทธิภาพในทางกลับกัน

5. ความเป็นผู้นำที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
ในการทำงาน เอไอไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้ทั้งหมด โดยเอไอมักถูกใช้ให้ทำหน้าที่บริหารจัดการงานแบบเดิมๆ ที่ต้องทำซ้ำ ช่วยเปิดทางและทำให้มนุษย์มีเวลาดึงความเป็นผู้นำมาใช้ปลูกฝังความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งในการสร้างทีมงานซึ่งเป็นทีมของตนเอง ประเด็นนี้ยังเกี่ยวกับการศึกษาของ LinkedIn เครือข่ายออนไลน์ที่สนับสนุนด้านวิชาชีพ ที่ระบุว่าผู้นำที่ให้ความสำคัญกับความเห็นอกเห็นใจและความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยทำให้พนักงานรู้สึกได้รับการมีคุณค่าอย่างยิ่ง ส่วนสำหรับผู้นำในอนาคต แนวทางนี้จะช่วยแสดงถึงการย้ายจากการจัดการไปสู่การเสริมศักยภาพของทีม 

6. พื้นที่ทำงานออนไลน์ที่สมจริง
ขอบเขตใหม่ของการทำงานระยะไกล สามารถไปได้ไกลกว่าทีคิดด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง เช่น แพลตฟอร์มอย่าง Gather และ Spatial ที่ช่วยสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่สมจริงคล้ายการเล่นอยู่ในเกม ที่แม้จะอยู่ห่างจากกันแต่ช่วยให้ทีมทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้ โดย Gartner นั้นคาดว่าภายใน ค.ศ. 2025 บริษัทมากกว่า 60% จะใช้แพลตฟอร์มการทำงานที่สมจริงเพื่อเปิดใช้งานการประชุมแบบไดนามิกและฝึกอบรมทางไกล และแม้ว่าวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ของเมตาเวิร์สอาจยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ไม่ใกล้ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ได้นำเสนอโซลูชั่นที่ช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างพื้นที่ชองการทำงาน

7. เอไอในงานทรัพยากรบุคคลคือวิวัฒนาการต่อไปของการจัดการผู้มีความสามารถ
เวลานี้เอไอกำลังปรับโฉมงานทรัพยากรมนุษย์ โดยช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลมุ่งเน้นไปที่การริเริ่มเชิงกลยุทธ์มากกว่างานธุรการปกติ ตั้งแต่การสรรหาบุคลากรไปจนถึงการจัดการผลการปฏิบัติงาน โดยทีมทรัพยากรบุคคลที่ประสบความสำเร็จจะใช้เอไอเพื่อปรับปรุง ไม่ใช่แทนที่การตัดสินใจของมนุษย์ในการจัดการ การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กร เน้นความสมดุลระหว่างเทคโนโลยี ประสิทธิภาพ และความเข้าอกเข้าใจมนุษย์ด้วยกัน (Human Touch) โดยที่เครื่องจักรไม่สามารถทำแทน

8. การทำงานแบบผสมผสานในฐานะมาตรฐานใหม่
แม้จะมีการคัดค้านหรือไม่ลงตัวอยู่บ้างสำหรับองค์กร แต่รูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Work) จะยังคงอยู่ต่อไป สนับสนุนด้วยหลายเหตุผล รวมถึงการวิจัยจาก Owl Labs ที่แสดงให้เห็นว่าการทำงานแบบผสมผสานช่วยเพิ่มการรักษาพนักงานได้สูงสุดถึง 58% ด้วยเพราะความยืดหยุ่นได้กลายมาเป็นข้อพิจารณาหลักสำหรับผู้หางานในยุคนี้  และใน ค.ศ. 2025 แนวทางการทำงานแบบไฮบริดซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นบรรทัดฐานใหม่จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้นอีกโดยองค์กรต่างๆ ที่ตระหนักถึงประโยชน์ของการทำงานผสมผสานทั้งแบบเห็นหน้ากันและในระยะไกล 

9. สถานที่ทำงานที่มาพร้อมแนวคิดยั่งยืน 
ความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้นในพื้นที่ทำงาน และจากการศึกษาของ Glassdoor พบว่า เมื่อต้องเลือกนายจ้าง พนักงานคำนึงถึงความยั่งยืนมากกว่า 70% ตั้งแต่การออกแบบสำนักงานที่ยั่งยืนไปจนถึงประเด็นสำคัญอย่างการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ธุรกิจต่างๆ กำลังค้นหาวิธีในการปรับค่านิยมของตนให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง กลายเป็นภูมิทัศน์ใหม่ที่ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกบริษัทต้องมี

แนวโน้มเหล่านี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสามารถในการปรับตัวอย่างโดดเด่น ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

สำหรับผู้ประกอบการ การติดตามเทรนด์เหล่านี้นอกจากจะทำให้เห็นภาพรวมของโลกธุรกิจ ยังทำให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับมือกับการบริหารทรัพยยากรบุคคลในวันข้างหน้า ในขณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเตรียมพร้อมทักษะเพื่อเตรียมพร้อมอยู่เสมอในโลกของการทำงาน บนแนวทางพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เปิดรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี


#การทำงาน #อาชีพ #เทรนด์ #เอไอ #Work #Career #Trend #HRTrend #Hybridwork #KnowledgePortal #กระตุกต่อมคิด #OKMD 


ข้อมูลอ้างอิง : startupsmagazine.co.uk, th.hrnote.asia, www.linkedin.com และ www.gather.town

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง:
0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI