หนึ่งในความรู้ที่ทุกคนควรรู้อย่างมากในยุคนี้ คือความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) แต่คนส่วนใหญ่กลับมองไม่ค่อยเห็นถึงความสำคัญ จึงทำให้เกิดปัญหาการใช้เงินแบบเดือนชนเดือน การใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน การกู้หนี้ยืมสินเรื้อรัง และอีกหลายปัญหาเกี่ยวกับการเงิน
ดังนั้น หากมีความรู้ทางการเงินแล้วนำมาปฏิบัติ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต จะส่งผลให้บุคคลนั้นไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม ด้วยความรู้ทางการเงินซึ่งควรส่งเสริมให้ประชาชนได้รับรู้ โดยเฉพาะกับเด็กหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ ใน 5 วิชาการเงินหลักๆ ดังนี้
1. วิชาออมไว
เป็นวิชาปลูกฝังเรื่องการออมและวินัยการออม ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กหรือช่วงแรกของการทำงาน ด้วยเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังน้อย โดยการรู้จักออมก่อนค่อยใช้จ่าย อาจเริ่มง่ายๆ ด้วยการออมเล็กๆ น้อยๆ จากเงินค่าขนม เงินเดือนประจำ หรือรายได้เสริม แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามเวลาหรือความเหมาะสม
2. วิชาลงทุนให้เงินทำงาน
เนื่องจากการออมอย่างเดียวไม่เพียงพอ ยิ่งค่าเงินผันแปรไปตามภาวะเงินเฟ้อ อันส่งผลให้อำนาจการซื้อลดลง ยิ่งจำเป็นต้องมีวิชาการเงินด้านนี้ โดยการเรียนรู้เรื่องการลงทุนให้เข้าใจถ่องแท้ แล้วลงทุนอย่างรอบคอบ ในสัดส่วนเหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อให้มีเงินงอกเงยมากขึ้น โดยยิ่งเริ่มต้นไวก็ยิ่งได้เปรียบ เช่น การลงทุนในหุ้น กองทุน ตราสารหนี้ต่างๆ
3. วิชาเป็นหนี้แบบมีเงินเก็บ
เป็นวิชาว่าด้วยทัศนคติเกี่ยวกับการเป็นหนี้ว่า หนี้ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป หากรู้จักบริหารหนี้ไม่ให้เกินตัว เพราะสิ่งจำเป็นบางอย่างอาจรอให้มีเงินสะสมเพียงพอค่อยซื้อไม่ได้ เพียงแต่ไม่ควรเป็นหนี้นอกระบบ และไม่ควรมีหนี้เกิน 50% ของรายได้แบบคงที่ทุกเดือน ไม่นับรวมเงินโอทีหรือเงินจากส่วนอื่นๆ โดยสามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนดเวลา ขณะเดียวกัน ก็มีเงินแบ่งเก็บออมในจำนวนที่ทำได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย ก็จะทำให้หนี้ไม่กลายเป็นภาระหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
4. วิชาวางแผนภาษี
ในเมื่อทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรต้องรู้จักวิชาการวางแผนภาษีอย่างถูกต้อง และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นเงินลดหย่อนได้อย่างครบถ้วน เพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุด รวมถึงไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมหรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ ซึ่งวิชานี้ควรเริ่มต้นเรียนรู้ตั้งแต่วัยทำงานใน 5 เรื่อง คือรู้ประเภทของรายได้ รู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ รู้ค่าลดหย่อนเพื่อลดภาษี รู้วิธีการคำนวณภาษี และรู้ช่องทางการยื่นภาษี เพื่อจะได้ดำเนินการเสียภาษีให้เป็นไปตามแผน
5. วิชาเกษียณแบบมีรายได้
เป็นวิชาที่หลายคนมองข้าม ทั้งที่ความจริงจะถึงวัยเกษียณหรือหยุดทำงานแล้ว แต่ทุกคนก็ยังมีโอกาสสร้างรายได้จากช่องทางต่างๆ ได้ หากมีการเตรียมพร้อมมาอย่างดีตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เช่น การวางแผนหารายได้เสริมหลังเกษียณอายุ โดยพิจารณาจากความรู้ความสามารถที่มี และลักษณะงานที่เหมาะสมกับเงื่อนไขด้านสุขภาพ หรือการสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ การแปลงที่ดินทำธุรกิจ หรือการนำเงินออมไปลงทุนในพอร์ตต่างๆ อย่างเหมาะสม
ข้อมูลอ้างอิง :
- finomena.com
- setinvestnow.com
- set.or.th
- The Knowledge by okmd vol.35