Notifications

You are here

บทความ

เมื่อยูเนสโกเรียกร้องการห้ามใช้โทรศัพท์ในชั้นเรียน...

18 พฤศจิกายน 2024 299 อ่านข่าวนี้ 2 สัปดาห์ก่อน 2


บทความ Smartphones in school? Only when they clearly support learning ที่เผยแพร่โดยยูเนสโก (UNESCO) ในช่วงปลาย ค.ศ. 2023 ระบุว่า รายงาน The 2023 Global Education Monitoring Report ได้ประกาศเรียกร้องให้โรงเรียนนำเทคโนโลยีมาใช้ในชั้นเรียนได้ ในกรณีเพื่อสนับสนุนเฉพาะเรื่องของการเรียนรู้เท่านั้น ซึ่งรวมถึงการใช้สมาร์ทโฟนอย่างมีระเบียบที่แน่ชัดเพื่อให้เหมาะสมทั้งในชั้นเรียนและในโรงเรียน ด้วยเพราะการปฏิวัติด้านดิจิทัลมีศักยภาพมหาศาล ยากแก่การควบคุม โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กเล็กในวัยเรียน อย่างไรก็ดีทิศทางการควบคุมที่ถูกเรียกร้องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ ในการป้องกันปัญหาและระวังภัย โดยเฉพาะในยุคเอไอ ที่ผู้ใช้ต้องทั้งต้องตามให้ทันเทคโนโลยี ทั้งยังช่วยให้เกิดสมาธิจ่ออยู่กับสิ่งที่เรียน


สมาร์ทโฟนเปิดโลกกว้าง แต่อีกด้านคือสิ่งรบกวนสมาธิในการเรียนรู้

แม้เทคโนโลยีบางประเภทและสมาร์ตโฟนจะมีประโยชน์ในด้านการศึกษาและเรียนรู้ในโลกยุคดิจิทัลปัจจุบัน แต่การใช้งานที่มากเกินไปย่อมไม่เหมาะสม เนื่องจากการศึกษาชิ้นหนึ่งในกลุ่มนักเรียนอายุตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงระดับอุดม

ศึกษาใน 14 ประเทศ พบว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่มากเกินไปทำให้นักเรียนเสียสมาธิระหว่างการเรียนรู้ เพราะแม้แต่แค่การแจ้งเตือนเพียง 1 ครั้ง นั้นเพียงพอที่จะส่งผลให้นักเรียนหมดความสนใจจากสิ่งที่เรียนหรืองานที่กำลังทำอยู่ ทั้งยังมีการศึกษาที่พบว่า นักเรียนอาจใช้เวลานานถึง 20 นาทีเพี่อกลับมาจดจ่อกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้เมื่อพวกเขาเสียสมาธิไปแล้ว ซึ่งอาจหมายถึงการ

พลาดเนื้อหาสำคัญที่ต้องหาเวลากลับมาทำความเข้าใจ ในประเด็นนี้ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก ได้กล่าวในแนวทางที่ว่า การปฏิวัติดิจิทัลมีศักยภาพเกินกว่าที่จะประมาณได้ แต่ในเวลาเดียวกันเราจะควบคุมอย่างไรสำหรับการใช้เทคโนโลยี 


ทุกการใช้งานคือความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัวและความเป็นอยู่ที่ดี

เริ่มจากประเด็นความเป็นส่วนตัว ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนอายุน้อยหรือเป็นเด็กเล็กที่ยังขาดวิจารณญาณและประสบการณ์การใช้เทคโนโลยี เช่น เมื่อแอปพลิเคชันเฉพาะขอรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้ที่ไม่จำเป็นสำหรับแอปพลิเคชันในการทำงาน เด็กๆ อาจเข้าไปมีส่วนร่วมและถูกนำข้อมูลไปใช้หลังจากนี้  ในขณะเดียวกันปัจจุบันมีเพียง 16% ของนานาประเทศเท่านั้นที่รับประกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในการศึกษาตามกฎหมายอย่างชัดเจน ทั้งยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่า 89% ของผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีการศึกษา 163 รายการถูกแนะนำในช่วงการแพร่ระบาด ทั้งยังสามารถสำรวจข้อมูลของเด็กๆ ที่ใช้หรือเป็นกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์

 มากกว่านั้นมีมากถึง 39 จาก 42 รัฐบาลที่ให้การศึกษาออนไลน์ในช่วงที่เกิดโรคระบาด แล้วได้ปล่อยให้เกิดการใช้งานที่อาจเสี่ยงหรือเกิดการละเมิดสิทธิเด็ก ทั้งยังมีอีกประเด็นที่ต้องตระหนักคือการกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyberbullying) หรือการหลอกลวงโดยใช้เทคโนโลยีเอไอ (AI Deepfake) ภัยเงียบที่นับวันยิ่งต้องเฝ้าระวัง

“เราเห็นเด็กๆ อายุเพียง 9 ขวบมาขอใช้สมาร์ทโฟน เห็นได้ชัดว่าเด็กวัยนี้หรือกลุ่มนี้ ยังไม่พร้อมทางอารมณ์ที่จะรับมือกับความซับซ้อนของโลกดิจิทัลและอุปกรณ์” กล่าวโดยราเชล ฮาร์เปอร์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาเซนต์แพทริก เมืองวิกโลว์ ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งสั่งห้ามการใช้สมาร์ทโฟนในโรงเรียนเช่นเดียวกัน


การควบคุมการใช้งานสมาร์ทโฟนที่เหมาะสมในโรงเรียนควรเป็นอย่างไร

ตั้งแต่ก่อนการเรียกร้องโดยยูเนสโก เช่นเดียวกัน นักบริหารด้านการศึกษา นักการศึกษา และครูผู้สอน จำนวนไม่น้อยได้ต่อสู้และทำงานหนักเกี่ยวกับประเด็นการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนมาหลายปีก่อนหน้า จนกระทั่งมีการเรียกร้องเกิดขึ้น โรงเรียนหลายแห่งที่มองเห็นข้อดีของการห้าม จึงได้เริ่มค่อยๆ นำมาปรับใช้ ไปจนถึงเปิดรับแนวทางตามบริบทของประเทศและเมืองในภาพรวม โดยเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ในโรงเรียนจะมีการห้ามใช้สมาร์ทโฟน ตามกฎหมายหรือนโยบายที่ตกลงกัน เช่น

  • ในเอเชีย ทั้งบังกลาเทศและสิงคโปร์ ได้ห้ามนักเรียนใช้สมาร์ทโฟนในชั้นเรียน แต่ไม่ใช่ในโรงเรียน 
  • ในฝรั่งเศส ห้ามใช้สมาร์ทโฟน เว้นแต่เพื่อการสอนหรือเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีความผิดปกติทางร่างกายอย่างเคร่งครัด
  • ในเดนมาร์กและฝรั่งเศส ได้สั่งห้ามการใช้กูเกิล เวิร์กสเปซ (Google Workspace) ที่ไม่สอดคล้องกับกฎของยุโรป
  • ในเยอรมนี บางรัฐ ผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟต์ (Microsoft) ถูกประกาศห้ามด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน
  • ในสหรัฐอเมริกา บางรัฐ ได้มีการห้ามใช้แอปพลิเคชัน TikTok ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย 

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างจากบทความ ‘Going back in time’: the schools across Europe banning mobile phones โดย The Guardian นำเสนอใน ค.ศ. 2024 ที่ได้เน้นย้ำและแสดงให้เห็นว่าในยุโรป ได้ให้ความสำคัญกับการห้ามใช้โทรศัพท์ในชั้นเรียนมากขึ้นอย่างน่าสนใจ เช่น

  • ในเบลเยียม เมืองวัลโลเนียและบรัสเซลส์ โรงเรียนประถมศึกษาที่พูดภาษาฝรั่งเศส ได้เดินหน้าเรื่องข้อห้ามต่อไป
  • ในฮังการี กำหนดให้โรงเรียนต้องรวบรวมโทรศัพท์และอุปกรณ์อัจฉริยะเมื่อเริ่มต้นวัน ในรูปแบบกฤษฎีกาฉบับใหม่
  • ในอิตาลีและกรีซ ใช้แนวทางที่อ่อนโยนกว่า ด้วยการห้ามใช้ในห้องเรียน แต่อนุญาตให้นักเรียนพกติดตัวตลอดวันได้ 
  • ในเนเธอร์แลนด์ Calvijn College คือตัวอย่างโรงเรียนที่ต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องนี้จนได้ผลลัพธ์ที่ภูมิใจและน่าพึงพอใจ 

“นักเรียนเล่นกันและพูดคุยกัน (แทนการจดจ่ออยู่บนโลกออนไลน์) และการหยุดชะงักในบทเรียนน้อยลง” กล่าวโดย แจน แบ็กเกอร์ ประธานวิทยาลัย ซึ่งเปิดสอนนักเรียนมีอายุตั้งแต่ 12 ถึง 18 ปี

รายงาน The 2023 GEM Report ในหัวข้อ Technology in education: A Tool on whose terms?” ยังได้เรียกร้องให้มีการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการศึกษาเพื่อจัดลำดับความสำคัญความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้เทคโนโลยีและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ มีความเหมาะสม เสมอภาค ปรับได้ตามความต้องการ และยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยนอกจากโอกาสที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีแล้ว นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ความเสี่ยง ซึ่งประเทศต่างๆ จำเป็นต้องให้คำแนะนำที่มีเหตุผลสนับสนุนและเป็นประโยชน์ว่าเทคโนโลยีใดบ้างที่ถูกห้ามหรือที่ได้รับอนุญาตในโรงเรียน ที่อาจหมายถึงการอนุญาตให้ใช้เฉพาะเทคโนโลยีที่มีบทบาทชัดเจนในการสนับสนุนการเรียนรู้ โดยแนวทางเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้กับชั้นเรียนและโรงเรียน ในบริบทการเรียนการสอนที่แตกต่างหลากหลาย ในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน


#Education #UNESCO #Cellphone #Smartphone #Privacy #CyberBullying #AI #Deepfake #การศึกษา #ยูเนสโก #โทรศัพท์มือถือ #สมาร์ทโฟน #ความเป็นส่วนตัว #การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ #เอไอ#KnowledgePortal #กระตุกต่อมคิด #OKMD 


ข้อมูลอ้างอิง : www.unesco.org, www.unicef.org, www.generationunlimited.org, www.siliconrepublic.com และ www.theguardian.com

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ