Meta Learning : Creativity Beyond AI เรียนรู้ให้ไว ด้วยวิธีที่ใช่ คู่เอไอ พร้อมสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง
เพราะโลกแห่งการเรียนรู้มีหลากหลายวิธี ตามความชอบและความถนัดเฉพาะบุคคล ซึ่งหากเรามองภาพกว้างแล้วเลือกวิธีการที่เหมาะสม อาจสามารถค้นพบรูปแบบการเรียนรู้ที่ชอบ ทำให้การเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ เป็นไปในเชิงบวก ต่อยอดได้อย่างดีเยี่ยม หนึ่งในนั้นคือการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้เพื่อเรียนรู้ จากมุมมองของคุณหนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ในระหว่างการเสวนา Meta Learning : Creativity Beyond AI ในงาน LEARN LAB 2025 : Mega Trend Meta Learning โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นตัวแทนจากหลากหลายอุตสาหกรรมและอาชีพ ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park กรุงเทพฯ
Meta Learning ในฐานะแนวคิดช่วยพัฒนาการเรียนรู้ โดยมี AI เป็นหนึ่งเครื่องมือ
คุณหนุ่ม-โตมรได้อธิบาย Meta Learning ด้วยการยกตัวอย่างการเขียนนิยายแบบ Metafiction รูปแบบนิยายที่เขียนเล่าว่านักเขียนกำลังจะเขียนอะไร (Metafiction เป็นเรื่องแต่งท่ี่มีลักษณะการเล่าเรื่องซ้อนกัน เนื้อหาของเรื่องที่เล่าที่แท้ก็คือกระบวนการของการแต่งเรื่องเรื่องนั้นเอง จากวารสารราชบัณฑิตยสถาน) Meta Learning มีแนวทางที่คล้ายกันคือก่อนที่เราจะเรียนรู้อะไร เราต้องลองถอดตัวเองออกมา แล้วดูว่าวิธีที่เราจะเรียนรู้ได้มีกี่วิธี พร้อมยกตัวอย่างการเรียนเปียโน ว่าควรเริ่มจากการทำความรู้จักวิธีการสอนและการเรียนเปียโนที่มีหลากหลายแนวทาง แล้วเลือกวิธีที่ชอบและเหมาะกับตนเอง เพื่อต่อยอดความชอบไปสู่การพัฒนาทักษะที่ยิ่งดีขึ้นต่อไป ในมุมกลับกันหากไม่มีโอกาสค้นหาหรือทดลองวิธีที่ชอบ อาจทำให้เกิดการต่อต้าน ไม่สนุกกับสิ่งที่เรียนได้ กล่าวได้ว่า Meta Learning เป็นแนวคิดช่วยพัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดรวดเร็วขึ้น ที่เมื่อผนวกกับเอไอ จะช่วยนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือนวัตกรรมที่ช่วยให้คุณภาพชีวิต ไปจนถึงเศรษฐกิจดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
วิธีการของ Meta Learning คือ “เรียนรู้เรื่องการเรียน” ซึ่งหากย้อนกลับไปจะมีวิชาญาณวิทยา (Epistemology) ศึกษาธรรมชาติของความรู้ ซึ่งกว่า 2,000 ปีก่อน คนแรกๆ ที่ชวนเราตั้งคำถามถึงความรู้คือโสเครติส บิดาแห่งปรัชญาตะวันตกก่อนคริสตกาล จากคำกล่าวที่ว่า “ชีวิตที่ปราศจากการตรวจสอบเป็นชีวิตที่อาจจะไม่ได้ควรค่ากับการมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ” (“The unexamined life is not worth living”) เป็น Meta Learning ที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล ขณะที่ปัจจุบันเรามีโอกาสใช้ Meta Learning มากขึ้น จากด้านหนึ่งที่มีข้อมูลมากขึ้น และอีกด้านหนึ่งมีเอไอเข้ามา
“ผมคิดว่าเอไอเป็นสิ่งสำคัญเพราะว่าสมมติเราอยากรู้ว่ามีวิธีสอนเปียโนกี่แบบ เราอาจไปนั่งค้นในยูทูบแล้วลิสต์ออกมา แต่ถ้าเราถาม Generative AI น่าจะบอกภาพใหญ่ในความรู้เรื่องนั้นว่ามีเรื่องอะไรอยู่บ้าง เป็นที่มาของ “Creativity Beyond AI” เพราะหลังจากใช้เอไอไปช่วยดูภาพใหญ่แล้ว จะเป็นหน้าที่ของเราทำให้สิ่งที่รู้มาไปไกล อย่าปล่อยให้ความสนุกในการคิดงานอยู่ในมือเอไอ” เพราะว่าความสนุกในการทำงานคือสร้างสรรค์ด้วยตัวเองต่อ ต่อยอดจากการนำเสนอของเอไอ
เมื่อแนวคิด Meta Learning มาคู่กันกับการใช้ AI ผลลัพธ์คือ “เรียนรู้เร็ว”
เมื่อชวนนึกถึง 3 คำที่สรุปเกี่ยวกับแนวคิด Meta Learning ที่มาคู่กับการใช้เอไอ ด้าน คุณซี - ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร สมาชิกคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ อดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ได้เลือกคำว่า “เรียนรู้เร็ว” ทั้งยังยกตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของเอไอ เช่น Model-Agnostic Meta-Learning หรือ MAML หรือการสอนเอไอ ที่โดยปกติแล้วต้องเตรียมข้อมูลตัวอย่างในการฝึกฝนหรือ Training มหาศาล ซึ่งเมื่อลงในรายละเอียดแล้ว การแยกหมวดหมู่ข้อมูลความรู้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สะเปะสะปะ ก่อนนำไปใช้ฝึก จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่เร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งยังใช้ข้อมูลน้อยลงกว่าข้อมูลที่ไม่ได้จัดระเบียบ อย่างจากล้านตัวอย่างอาจใช้แค่หลักหมื่นตัวอย่าง ลดเวลาและการใช้ทรัพยากรโดยไม่จำเป็น ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการเรียนรู้ของมนุษย์ได้เช่นกัน
“ใช้ในมนุษย์ได้เหมือนกันนะครับ สมมติว่าเรามีเป้าหมายในชีวิตซักอย่างหนึ่ง เช่น เราอยากเป็นนักเขียนด้านนิยายวิทยาศาสตร์ เราอาจมานั่งดูว่าความสามารถอะไรที่จะทำให้เราไปถึงจุดนั้น เหมือนมีต้นไม้ต้นหนึ่ง (ต้นมะม่วง) แล้วอาชีพที่เราจะไปให้ถึงเป็นเหมือนมะม่วง การที่เราจะวิ่งไปให้ถึงจุดนั้นได้ต้องผ่านกิ่งเล็กกิ่งใหญ่ (ที่ต้องใช้เวลา) ซึ่งขั้นตอนแรกในการที่จะรู้ได้ว่าต้องผ่านไปยังไง เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะไปไหน แล้วเส้นทางที่เราจะไปเป็นยังไง การที่เราเห็น RoadMap ทั้งหมดนี้ ทำให้เรารู้ว่าการเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่จะเก่งได้ เราต้องมีทักษะอะไรบ้างติดตัว เราต้องเรียนรู้อะไร แล้วเราก็เริ่มเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้วางแผนจัดกลุ่ม โฟกัส เรียงการเชื่อมโยง”
คุณซี - ดร.กอบกฤตย์ได้ยังกล่าวด้วยว่าแนวคิดของ Meta Learning สามารถมองว่าคือศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า Education Technology คือกระบวนการที่ทำให้เราเรียนรู้ได้ไวขึ้น ฉลาดขึ้น โดยใช้แรงน้อยลง ซึ่งการใช้เอไอช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น และหากใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างประโยชน์ด้านการเรียนรู้ในอนาคตได้อย่างมหาศาลได้ดี อย่างไรก็ตามเอไออาจไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง เพราะบางครั้งวิธีการแก้ปัญหาที่ง่าย ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพที่สุด อาจเริ่มด้วยการใช้ดินสอเพียงหนึ่งแท่งและลงมือเขียนไอเดีย พึงระลึกไว้เสมอว่า “The best solution is the simplest solution” หรือ “วิธีที่ดีที่สุด คือวิธีที่ง่ายที่สุด”
จับตามอง Gen Alpha คนรุ่น AI และไม่ว่าวัยไหนต้องเรียนรู้ ตามให้ทันเทคโนโลยี
เมื่อพูดถึง Meta Learning และเอไอ คุณตี๋-พัฒนพงศ์ รานุรักษ์ Co-founder of divana ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Wellness) ที่เริ่มต้นจากธุรกิจสตาร์ทอัพ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเริ่มต้น Learn Lab ทั้งยังมีพื้นฐานความรู้ด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้มองว่าคนรุ่น Alpha (Generation Alpha) หรือกลุ่มที่คนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.2553 – 2568 คือกลุ่มคนรุ่นที่น่าจับตามองมากที่สุดในเวลานี้ เพราะเติบโตมาด้วยความคุ้นเคยและใช้เทคโนโลยีเอไอในวิถีชีวิต พร้อมที่จะเป็นผู้นำที่ใช้เทคโนโลยีเอไอต่อยอดอีกหลากหลายไอเดียในอนาคต
ทั้งยังมองว่ามองว่าการเปลี่ยนไปของเอไอคล้ายกับการที่โลกเรามีไฟฟ้าใช้ โดยอ้างอิงถึงหนังสือเซเปียนส์
ประวัติย่อมนุษยชาติ : Sapiens A Brief History of Humankind” ซึ่งในวันนี้ที่เรามีเอไอ ขอให้ทุกคนมองเห็นว่านี่คือโอกาสของการเติบโต ประกอบกับที่คุณหนุ่ม โตมรชวนมองภาพ Bird Eye View หรือการที่ได้พูดคุยกับคุณซี - ดร.กอบกฤตย์ว่าปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อุปสรรคทางธุรกิจมีหลายด้าน ประกอบกับดอกเบี้ยสูงขึ้น เราต้องมอง Mega Trend ล่วงหน้าให้เร็วกว่านี้ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะคนรุ่นก่อน Alpha โดยเฉพาะ Gen X ขึ้นไป ต้องปรับตัวเองอย่างไร เลือกวิธีเรียนรู้แบบไหนให้ทันโลก ขณะเดียวกันอยากให้ทุกคนได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เรากำลังพูด ตามหลักกาลามสูตรเพื่อหาข้อมูล ทดลอง และพิสูจน์ด้วยตนเอง ซึ่งคือหนึ่งในหลัก Meta Learning การได้ลองเรียนรู้วิธีการเรียนรู้หลายอย่าง ลองทำสิ่งนั้นก่อน
ในโอกาสเดียวกันนี้คุณตี๋-พัฒนพงศ์ยังได้แนะนำหลักในการเรียนรู้ที่หลายคนสามารถนำไปปรับใช้ต่อ เริ่มจาก 1. เข้าใจ – Understand เพื่อให้เห็นภาพกว้างหรือภาพรวมในการเรียนรู้ เราต้องมองแบบ Bird Eye view ให้เป็นก่อน 2. เคารพในความแตกต่างหลากหลาย – Respect รวมถึงเคารพในคู่แข่งของเรา และ 3. เปลี่ยนแปลง Change หน้าที่ของพวกเราทุกคนคือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ร่วมกัน
รุ่นพี่โครงการ LEARN LAB 2023 การลองผิดลองถูกกับ AI สู่การเติบโตล่าสุดของ ‘Edsy’
‘Edsy’ แพลตฟอร์มฝึกพูดภาษาอังกฤษที่ใช้เอไอช่วยฝึกภาษาอังกฤษให้เด็กนักเรียน นับเป็นหนึ่งตัวอย่างของ Meta Learning ตัวเลือกของวิธีการเรียนรู้ของโลกการศึกษายุคใหม่ (EdTech) ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งคือคุณเฟิม - พริษฐ์ เที่ยงธรรม รุ่นพี่ทีมผู้ชนะจากโครงการ Learn Lab 2023 โดย ‘Edsy’ ที่เปรียบเหมือนเครื่องมือผู้ช่วยครู เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกการสื่อสารภาษาอังกฤษจริงจากการลองผิดลองถูกกับเอไอ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความกังวลจากการออกเสียงไม่เหมือนจากเจ้าของภาษา หรือเลือกคำตอบที่ผิดแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาครูผู้สอนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการได้ดี
คุณเฟิม – พริษฐ์ยังได้กล่าวว่า เช่นเดียวกับการเรียนเปียโน (ที่คุณหนุ่ม โตมรยกตัวอย่างช่วงต้น) ว่าถ้าเรียนตามหลักสูตรที่มีอยู่เพียงหลักสูตรเดียว เราจะมีแค่ทำได้ดีกับทำได้ไม่ดีสำหรับหลักสูตรนี้ แต่ความเป็นจริงการเรียนเปียโนมีหลายรูปแบบ อาจมีวิธีใดวิธีหนึ่งที่เราทำได้ดี จนเกิดความชอบ และพัฒนาเป็นทักษะที่เชี่ยวชาญ สำหรับภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาโรงเรียนในไทยเน้นการท่องศัพท์และไวยากรณ์ ที่ทำให้เด็กไทยหลายๆ คนไม่ชอบภาษาอังกฤษที่ต้องท่องจำ แต่ถ้าเด็กๆ ได้ลองเรียนวิชาภาษาอังกฤษในแบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การเล่นเกม และการได้ฝึกกับคนต่างชาติ อาจช่วยทำให้เริ่มรักภาษาได้มากขึ้นตามลำดับ ตามความถนัดของตนเอง “Edsy เอาคอนเซ็ปต์ Meta Learning มาดูว่าการเรียนภาษามีหลากหลายแบบ แบบไหนบ้าง เหมาะกับใครบ้าง แล้วพอเราทำเป็นโปรโตไทป์ คล้ายๆกับ Duolingo ให้นักเรียนได้ฝึกสนทนากับเอไอ เช่น หัวข้อ “งานในฝัน” หรือหัวข้ออื่นๆ เมื่อเอไอฟังแล้วจะชวยตรวจสอบดูว่าผิดไวยากรณ์หรือไม่ เป็นธรรมชาติหรือไม่ และคอยช่วยปรับแก้ให้เอง ซึ่งเมื่อเด็กๆ ได้ Trial and Error ได้ลองพูด โดยไม่ต้องกลัวว่าคนจะมาจับผิด เนื่องจากเอไอไม่มีการตัดสิน ทำให้เด็กสนุกขึ้น ครีเอทีฟ กลายเป็นคนที่รักภาษาอังกฤษมากขึ้นได้” ปัจจุบัน (พ.ศ. 2568) Edsy มีโรงเรียนนำไปใช้นำร่องเกือบ 1,000 โรงเรียน มีผู้ใช้หลายหมื่นคน
“ผมคิดว่านี่คือช่วงเวลาทำธุรกิจที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันเรามีเอไอเป็นผู้ช่วยที่ดีมาก” หรือกล่าวได้ว่าด้วยเอไอมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง จากมุมมองของนักธุรกิจที่เดินหน้าพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ
ก้าวสู่มหานครแห่งการเรียนรู้ผ่านเอไอ เปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ตั้งแต่วันนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่านาทีนี้เทคโนโลยีเอไอคือหนึ่งใน Mega Trend ที่ใหญ่ที่สุด (นอกเหนือจากประเด็นโลกเดือดหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ) ที่เมื่อโลกเปลี่ยน ทั้งสังคมและเราต้องปรับตัว จึงเป็นที่มาของ Learn Lab 2025: Mega Trend Meta Learning ภายใต้โครงการมหานครแห่งการเรียนรู้ผ่านเอไอ กิจกรรมที่รวบรวมผู้นำจากทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นวงการศิลปะ ดนตรี สุขภาพ และอีกมาก ที่เกี่ยวข้องและเปิดใจก้าวไปข้างหน้าคู่เทคโนโลยี ซึ่งผู้นำจากหลากหลายอุตสาหกรรมพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และมุมมอง ทั้งในวันกิจกรรมเปิดโครงการ ในกิจกรรม BootCamp การอบรมเชิงลึกเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ด้านธุรกิจและเอไอ 8 ครั้ง และในกิจกรรม Mentoring การให้คําปรึกษาเฉพาะด้านจากผู้เชี่ยวชาญตลอดระยะเวลา 2 เดือน ก่อนชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 200,000 บาท ที่จะมีการนําเสนอผลงานโดยทีมผู้เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายที่ไม่มีการจำกัดอายุ การศึกษา อาชีพ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 เจาะไปที่โมเดลธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม Mega Trend 3 ประเภทหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมดนตรีและศิลปะ และอุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ ที่ผสานการใช้เทคโนโลยีเอไอ
ในโอกาสเปิดโครงการ คุณโจ๊ะ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการาำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ค ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าแข่งขันสู่ห้องปฏิบัติการ Learn Lab สนามประลองความคิดสร้างสรรค์เรื่อง Mega Trend ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบ Meta Learning และการใช้เอไอ โดยสนับสนุนให้ผู้เข้าแข่งขันปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ร่วมกันผลักดันไอเดียใหม่ๆ และสร้างนวัตกรรมให้เกิดเป็นประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ พร้อมเดินหน้าสู่ทุกความท้าย
ติดตามการเสนาเต็มรูปแบบได้ที่ “เสวนาสุดมันกับ โจทย์สุดท้าทายเมื่อโลกกำลังเปลี่ยนไป www.facebook.com/OKMDInspire/videos/1654010468485543"
และติดตาม Learn Lab 2025: Mega Trend Meta Learning ได้ที่ FB : OKMD
#Learnlab2025 #Startup #Hackathon #Megatrend #AI #Creativity #สตาร์ทอัพ #เอไอ #ความคิดสร้างสรรค์ #KnowledgePortal #กระตุกต่อมคิด #OKMD

