เรียนรู้ความหมายห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สร้างมูลค่าเพิ่มผ่าน 5 บทความเด่น เติมความรู้สู่อนาคต

04 เมษายน 2025
|
1068 อ่านข่าวนี้
|
8


สถาบันเคมบริดจ์เพื่อความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน (Cambridge Institute for Sustainability Leadership - CISL) กล่าวถึง Value Chain หรือ ห่วงโซ่คุณค่า ผ่านหัวข้อ What is a value chain? Definitions and characteristics ว่า “ห่วงโซ่คุณค่าอธิบายถึงกิจกรรมทั้งหมดที่จำเป็นในการนำผลิตภัณฑ์หรือบริการตั้งแต่เริ่มต้น ไปจนถึงขั้นตอนต่างๆ ของการผลิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแปรรูปทางกายภาพและการนำบริการต่างๆ ของผู้ผลิตเข้ามาใช้ การส่งมอบถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย และการกำจัดขั้นสุดท้ายหลังการใช้งาน” 

เป็นไปในแนวทางเดียวกับคำอธิบายของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในหัวข้อ แนวคิดห่วงโซ่คุณค่าที่มุ่งเน้นเป้าหมายกลุ่มคนยากจน (Pro-Poor Value Chain) ที่ได้ขยายความในบริบทของตนเองว่าห่วงโซ่คุณค่านี้ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก : การดำเนินการขาเข้า, การปฏิบัติการ, โลจิสติกส์ขาออก, การตลาด และการขายและการบริการ และ 4 กิจกรรมรอง : การจัดซื้อจัดจ้าง, การจัดการทรัพยากรบุคคล, การพัฒนาเทคโนโลยี และโครงสร้างของกิจการ 

เหล่านี้สอดคล้องกับอธิบายขยายความจาก สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD หรือ สบร.) จากบทความ รู้จักกับ Value Chain ในการเกษตร ที่ว่า ห่วงโซ่คุณค่าหมายถึงกิจกรรมต่างๆ ที่สัมพันธ์และเชื่อมโยงกันเพื่อร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ประกอบการรายเดียว หรือเกิดจากหลายรายที่มารวมตัว 

ดังนั้นเพื่อร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการในห่วงโซ่คุณค่า เราจึงควรเติมความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเช้าไปในระบบ รวมถึงความรู้จาก 5 ตัวอย่างบทความของ knowledgeportal.okmd.or.th ตามคำค้นหา Value Chain ที่จะมาสมทบ ติดอาวุธทางความคิดให้กับคุณในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

5 บทความเติมความรู้สู่อนาคต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

สำหรับ 5 บทความเติมความรู้สู่อนาคต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่ OKMD ภูมิใจนำเสนอ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอนาคตประกอบด้วย บทความจากหลากหลายหมวดหมู่ด้วยกันดังนี้

  • “โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plants) นวัตกรรมแห่งอนาคตของระบบพลังงานโรงไฟฟ้า”
    โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plants - VPPs) คืออะไร แตกต่างจากโรงไฟฟ้าดั้งเดิมอย่างไร ชวนคุณรู้จักโรงไฟฟ้าเสมือน วิธีการจัดการรวบรวมพลังงานที่ลงทุนผลิตแบบกระจายแยกย่อย เพื่อทำงานร่วมกันเสมือนเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว จากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย แทนการใช้แหล่งพลังงานเดียวหรือจำกัด เช่น จากเดิมที่มีเพียงแค่แหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่โรงไฟฟ้าเสมือนอาจรวมแหล่งพลังงานหมุนเวียนมารวมเข้าด้วยกัน นับเป็นนวัตกรรมที่จัดอยู่ในหมวด “โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล” ของห่วงโซ่คุณค่า ที่มีการลงทุนจากนานาชาติและกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • “‘ไฮเปอร์ลูป’นวัตกรรมการขนส่งแห่งอนาคต”ทำไมต้องเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop Technology)
    เทคโนโลยีนี้จะพาผู้โดยสารหรือสิินค้าและบริการของภาคธุรกิจไปยังจุดหมายปลางทางในเมืองต่างๆ ด้วยความเร็วสูง ตอบโจทย์ความต้องการระบบขนส่งที่รวดเร็วทันใจของผู้ใช้บริการและผู้บริโภค เป็นเหตุผลให้ประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีต่างใช้งบลงทุนเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาไฮเปอร์ลูปที่มีต้นทุนสูง ไปพร้อมกับการร่างกฎหมายและมาตรฐานรองรับการใช้งานจริง โดยจัดอยู่ในหมวด “โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล” ที่สำคัญเช่นกัน 

  • “สวิตเซอร์แลนด์ แชมป์นวัตกรรมโลกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
    ฉายานี้ที่ได้มาไม่เกินจริง  เพราะหากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสิงคโปร์เป็นประเทศผู้นำในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้นวัตกรรม ทางภูมิภาคยุโรป สวิตเซอร์แลนด์นับได้ว่ายืนหนึ่งจากการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ในดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ต่อเนื่องถึง 12 ปีมาแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากผลการวางรากฐานที่แข็งแกร่งและการลงทุนอย่างต่อเนื่องยาวนานในหลากหลายโครงการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจระดับนานาชาติในการมาลงทุนวิจัยและพัฒนา โดยจัดอยู่ในหมวด “พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ที่น่าเรียนรู้”

  • “PEER-TO-PEER LENDING กู้ยืมลงทุนโดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน”
    หากยังไม่รู้จัก Peer-to-Peer Lending  (P2P Lending) มาก่อน นี่คือรูปแบบการกู้ยืมเงินแบบที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอาจพุ่งสูงถึง 1,709.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน ค.ศ. 2034 อธิบายโดยย่อได้ว่าเป็นสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล ไม่มีสถาบันการเงินเป็นตัวกลาง ซึ่งบริการ Peer-to-Peer Lending Platform ในประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนหรือผู้ที่ต้องการใช้บริการนี้ โดยจัดอยู่ในหมวด “ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่” ที่มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ที่ต้องเรียนรู้และพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

  • “Agora School การศึกษาในศตวรรษที่ 21 กับการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง”
    ชวนนักการศึกษาและผู้ที่สนใจแนวทางการเรียนรู้ยุคใหม่มาทำความรู้จักและเข้าใจหลักการ Agora หลักการเรียนรู้ที่มาพร้อมการเล่นสนุก ผสมผสานจุดเด่นของหลากหลายปรัชญาการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ สำรวจ ทดลอง และเรียนรู้โลกกว้าง โดยมีกิจกรรมและครูที่เหมาะสมคอยแนะนำ เพื่อให้เด็กค้นพบว่าอยากทำอะไรและอยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหนด้วยตัวเอง พร้อมยกตัวอย่าง Agora School ชั้นเรียนที่นักเรียนมีส่วนร่วมออกแบบ ซึ่งจัดอยู่ในหมวด “การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต” เพื่ออนาคต 

ยังมีอีกหลายบทความให้ความรู้เกี่ยวกับห่วงโซ่คุณค่า ที่ทุกคน ทุกวัย ทุกอาชีพ สามารถติดตามได้เพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมของตนเองได้ และไปในแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ทุกคนสามารถเข้าถึง ทาง https://knowledgeportal.okmd.or.th/valuechain/all/all/okmd เพียงแค่คลิก หรือ OKMD Knowledge Portal ค้นหาคำ “Value Chain”


#Valuechain #LifelongLearning #ห่วงโซ่คุณค่า #การเรียนรู้ตลอดชีวิต#KnowledgePortal #OKMD #กระตุกต่อมคิด



ข้อมูลอ้างอิง : www.cisl.cam.ac.uk,
pmua.or.th, www.okmd.or.th และ knowledgeportal.okmd.or.th

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI