ศาลาไทยในเวทีโลก: ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน ความงดงามจากอดีตสู่อนาคตที่ World Expo 2025
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 กล่าวได้ว่า งานมหกรรม World Expo คือหนึ่งในเวทีสำคัญที่รวมพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมและวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลกอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด โดยในปีนี้ เวียนมาจัดที่ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง ณ นครโอซาก้า และพื้นที่แถบคันไซ ในชื่อ World Expo 2025 หรือ Expo 2025 Osaka, Kansai, Japan ระหว่างวันที่ 13 เมษายน-13 ตุลาคม ค.ศ.2025 ภายใต้หัวข้อหลักว่า ‘Designing Future Society for Our Lives’ หรือ ‘การออกแบบสังคมแห่งอนาคตเพื่อชีวิตของเรา’ เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมกว่า 150 ประเทศ พร้อมด้วยองค์กรนานาชาติอีกมากมาย รวมถึงประเทศไทย
ดังนั้น งานมหกรรม World Expo 2025 จึงเป็นพื้นที่ที่ทุกประเทศจะได้ใช้เป็นโอกาสแสดงศักยภาพ แนวคิดใหม่ๆ และเอกลักษณ์ของตนต่อสายตาประชาคมโลก ซึ่งสำหรับปีนี้ ประเทศไทยมาพร้อมกับแนวคิด ‘ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน’ อันเผยให้เห็นทั้งความงดงามและอุดมสมบูรณ์แห่งภูมิคุ้มกันของไทย ผ่านการออกแบบศาลาไทย หรือ Thailand Pavilion อย่างตระการตา
ทำความรู้จัก WORLD EXPO 2025 ก่อนเยี่ยมยลศาลาไทย
งานมหกรรม World Expo มีประวัติมายาวนานเกือบ 200 ปี และจัดหมุนเวียนในนานาประเทศทุกๆ 5 ปี โดยเริ่มต้นจัดครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1851 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงผลงานและนวัตกรรมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก งานมหกรรมนี้จึงเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเทคโนโลยีซึ่งได้พัฒนาไปตามยุคสมัย จนกลายเป็นงานยิ่งใหญ่และสำคัญในการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และสังคม โดยแต่ละปีจะมีหัวข้อหลักหรือธีมของงานแตกต่างกันไป
สำหรับงานมหกรรม World Expo 2025 ซึ่งจัดขึ้นในปีนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นการจัดครั้งที่ 3 นับจากการจัดครั้งแรกในปี ค.ศ.1970 และ 2005 อันแสดงถึงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกของแดนอาทิตย์อุทัย ทำให้ World Expo 2025 ยังคงได้รับความสนใจจากคนทั้งโลกเช่นเคย
โดยปีนี้ หัวข้อหลักของงานมหกรรม คือ ‘Designing Future Society for Our Lives’ แบ่งเป็นโซน ดังนี้
- โซน Saving Lives (การปกป้องชีวิต) นำเสนอเทคโนโลยีการแพทย์และการดูแลสุขภาพ
- โซน Empowering Lives (การส่งเสริมศักยภาพของชีวิต) นำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต
- โซน Connecting Lives (การเชื่อมโยงชีวิต) นำเสนอการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเชื่อมโยงกัน
ทั้งนี้ ในแต่ละโซนจะมีอาคารนิทรรศการ หรือ Pavilion จากประเทศต่างๆ นำผลงานที่แสดงถึงศักยภาพ แนวคิด
ใหม่ๆ และเอกลักษณ์ของตนมาประชันกันอย่างตื่นตาตื่นใจ เพื่อช่วยพัฒนาโลกให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความร่วมมือร่วมใจ
ศาลาไทยกับแนวคิด ‘ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน’
ในการเข้าร่วมงานมหกรรม World Expo 2025 ครั้งนี้ ประเทศไทยเลือกแสดงศักยภาพความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในประเทศ ตลอดจนนำเสนอภาพลักษณ์ระดับสากล ด้วยแนวคิด ‘ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน’ เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อหลักของงาน และความอุดมสมบูรณ์แห่งภูมิคุ้มกันของไทย ที่สามารถสร้างสังคมแห่งอนาคตที่มีความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวัฒนธรรมได้อย่างโดดเด่น จากภูมิคุ้มกันอันแข็งแกร่งหลากหลายด้าน
โดยคำว่า ภูมิพิมาน มาจากคำว่า ‘ภูมิ’ หมายถึงแผ่นดิน ความเป็นถิ่นฐาน และความเป็นมาของประชาชน ส่วน ‘พิมาน’ หมายถึงที่อยู่อาศัยหรือวิมานอันงดงาม เมื่อรวมกันจึงสื่อถึงดินแดนแห่งความงดงามและอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะกับการดำรงชีวิต
ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร สถาปนิกจากบริษัท A49 ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบศาลาไทย อันเป็นอาคารแสดงนิทรรศการไทย บนพื้นที่ A13 ในโซน Connecting Lives ของงานมหกรรม นำมาสร้างสรรค์เป็นงานออกแบบศาลาไทยที่บอกเล่าความเป็นไทยในมิติของสุขภาพ ทั้งสุขภาพไทย การนวดไทย และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมของไทย ที่มีความโดดเด่น ล้ำหน้า และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
โดยการออกแบบจะสะท้อนความเป็นไทยและศักยภาพสาธารณสุขไทยสู่สายตานานาชาติ ผ่านการตีความอัตลักษณ์ไทยที่มีทั้งความงดงามและอ่อนช้อยเพื่อสอดแทรกลงไปในอาคารศาลาไทย ด้วยการลดทอนองค์ประกอบของศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณให้ผสานเข้ากับวิธีก่อสร้างสมัยใหม่ เช่น การใช้เทคนิคย่อมุมบนยอดอาคารมณฑป ซึ่งมีลักษณะเป็น ‘ทรงจอมแห’ หรือรูปทรงของหลังคาสโลปลงแล้วยกขึ้นจากพื้น ที่ให้ความรู้สึกเสมือนลอยอยู่บนสรวงสวรรค์ และมีระดับสูงต่ำตามลักษณะการใช้งานของพื้นที่ภายใน เพื่อให้ใช้พลังงานและทรัพยากรเท่าที่จำเป็น
นอกจากนั้น ยังมีการใช้สีสันและรูปแบบวัสดุแบบไทยๆ เพื่อสะท้อนภูมิปัญญาด้านวัสดุและงานฝีมือ เพื่อให้ผู้เยี่ยมยลได้สัมผัสถึงความละเมียดละไมของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่ประยุกต์ใช้กับวัสดุและวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่
ส่วนบริเวณด้านหน้าศาลาไทยจะมีการสอดแทรกลวดลายจักสานของ ‘เฉลว’ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเชื่อและภูมิปัญญาของคนไทย คู่กับ ‘ช้าง’ ตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ อายุยืนยาว และการต้อนรับนักท่องเที่ยวของไทย รวมถึงมีมาสคอตนำโชค ‘น้องภูมิใจ’ ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทย และต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนอย่างอบอุ่น
สำหรับตำแหน่งที่ตั้งบนพื้นที่ A13 โซน Connecting Lives ของศาลาไทย เนื่องจากมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีสัดส่วนด้านหน้าแคบและลึกร้อยกว่าเมตรไปทางด้านหลัง จึงออกแบบใช้ผนังกระจกสูงขนาบข้างตลอดแนวของแปลงที่ตั้ง ทำให้เกิดเป็นภาพสะท้อนของหลังคาทรงครึ่งจั่วที่สมบูรณ์ทั้งสองข้างจากมุมมองทางเข้าหลักของงาน เพื่อดึงดูดให้ผู้ชมงานเข้าเยี่ยมยลอาคารศาลาไทย ท่ามกลางบรรยากาศของพืชพรรณสมุนไพรตั้งแต่ลานทางเข้าสู่พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการภายใน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ห้องจัดแสดง โดยแต่ละห้องมีการนำเสนอเรื่องราวและเนื้อหาตามหัวข้อหลักของงานมหกรรม
อลังการ 3 ห้องจัดแสดงนิทรรศการในศาลาไทย
นิทรรศการภายในอาคารศาลาไทย มีการจัดแสดงเพื่อเชื่อมโยงให้ชาวโลกเข้าถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ความงดงามและอุดมสมบูรณ์แห่งภูมิคุ้มกันของไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 ห้องจัดแสดง ได้แก่
- ห้อง Thai Wisdom หรือห้องภูมิวิถี
ประกอบด้วยโซน 1 หมุดหมายสุขภาพโลก ซึ่งเป็นจุดถ่ายภาพสำหรับแบ่งปันความเป็นดินแดนแห่งความกินดีอยู่ดีของไทยให้ผู้เยี่ยมยลได้สัมผัส และโซน 10 มนต์เสน่ห์ของประเทศไทย ซึ่งฉายภาพภูมิวิถีแบบไทยๆ ผ่านการอยู่กับธรรมชาติ การกินตามฤดูกาล ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ ความมั่งคั่งทางสุขภาพ ตลอดจนแง่งามของวัฒนธรรมประเพณี และยิ้มสยามอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทั่วโลกยอมรับ โดยถ่ายทอดผ่านแอนิเมชัน สื่อ Interactive และการจัดแสดงแบบ Immersive Experience - ห้อง Thai Medical and Wellness Hub หรือห้องภูมิคุ้มกัน
ประกอบด้วยโซน 100 ศักยภาพสาธารณสุขไทย ซึ่งนำเสนอเนื้อหาที่สื่อถึงระบบสาธารณสุขที่ดี โครงการที่ดี และความร่วมมือที่ดี ภายใต้นโยบาย Thailand Medical Hub ผ่าน Projection Mapping และวัตถุจัดแสดงรอบห้องกว่า 100 สิ่ง, โซน 1,000 สถานบริการทางการแพทย์ ที่จัดแสดงศักยภาพทางการแพทย์และการบริการของไทยที่ได้มาตรฐานในระดับสากล ผ่าน Touch Screen ที่สามารถเข้าถึงการรักษา 15 กลุ่มโรค ที่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์นิยมมารักษาในประเทศไทย เช่น สปา ศูนย์เวลเนสต่างๆ และโซน 10,000 เมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งชูเรื่องราวของอาหารไทย วัตถุดิบท้องถิ่นที่หลากหลาย และเมนูไทยที่มีชื่อเสียง โดยผู้เข้าชมสามารถเล่นเกมรังสรรค์เมนูไทยด้วยวัตถุดิบที่มีให้เลือกในสไตล์ตนเองได้อย่างสนุกสนาน ผ่าน Art Wall Installation หรือเลือกดูเมนูไทยติดอันดับโลกผ่าน Interactive Table - ห้อง Thai Living Lab หรือห้องภูมิสยาม
ประกอบด้วยโซน 100,000 ผลิตภัณฑ์สร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งจัดแสดงการทำอาหารไทยยอดนิยม และจำหน่ายสุดยอดสินค้าดีของไทย พร้อมมีกิจกรรมเวิร์กช้อปเกี่ยวกับสมุนไพรไทย การนวดไทย ฯลฯ และโซน 1,000,000 รอยยิ้มแห่งความประทับใจ ซึ่งเป็นพื้นที่รวบรวมล้านความรู้สึกประทับใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้มีส่วนร่วมแบ่งปันรอยยิ้มให้กับคนทั่วโลก
จากนิทรรศการใน 3 ห้องจัดแสดงของศาลาไทย ในงาน World Expo 2025 ครั้งนี้ จะเห็นได้ว่ายิ่งใหญ่อลังการ โดยมุ่งเน้นการเชื่อมต่อกับชาวโลกด้านความเป็นเลิศของไทยในมิติสุขภาพ เพื่อให้ผู้เยี่ยมยลสามารถเข้าถึงความเป็นไทยได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนในอนาคต ภายใต้การออกแบบศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่สะท้อนความงดงามและอุดมสมบูรณ์แห่งภูมิคุ้มกันอย่างครบถ้วนที่สุด
อย่างไรก็ตาม กระแสตอบรับหรือวิจารณ์เป็นเรื่องปกติวิสัย เมื่อมียกย่องก็ย่อมมีติเพื่อก่อ ดังนั้นแม้ศาลาไทยจะได้รับเสียงชื่นชมด้านการออกแบบที่งดงามลงตัว แต่เนื้อหาและการนำเสนอนิทรรศการอาจไม่ตอบโจทย์ผู้เยี่ยมยลบางส่วน ทว่า World Expo 2025 เพิ่งจะเริ่มต้น ประเทศไทยจึงยังสามารถพัฒนานิทรรศการให้ดีงามยิ่งขึ้นได้
#WorldExpo2025 #OsakaExpo2025 #ศาลาไทยในงานเวิร์ลเอ็กซ์โป2025 #ภูมิพิมานดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน #อลังการนิทรรศการไทย #a49 #knowledgeportal #okmd #กระตุกต่อมคิด
อ้างอิง : www.expo2025.or.jp/en, https://thailand pavilion world expo 2025.com, https://www.bie-paris.org/site/en/about-world-expos, https://www.thansettakij.com/business/marketing/625214#google_vignette, https://room.baanlaesuan.com/335496/design/focus/thailand-pavilion-expo-2025-a49, https://a49.com/Projects/view/1052, https://thailandpavilionworldexpo2025.com

