ถอดรหัสกลโกง Deepfake เพื่อรู้เท่าทันด้านมืดของ AI

19 มิถุนายน 2025
|
1 อ่านข่าวนี้
|
2


หนึ่งในกลโกงยุคดิจิทัลที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกตอนนี้ คงหนีไม่พ้นกลโกงจาก Deepfake ที่ใช้เทคโนโลยีเอไอในการปลอมแปลงภาพ เสียง และวิดีโอได้เหมือนจริงแบบช็อตต่อช็อต และมีการแพร่กระจายจนกลายเป็นภัยใกล้ตัวซึ่งทำให้คนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ รวมถึงสังคมได้รับผลกระทบและความเสียหายอย่างมากมาย โดยเฉพาะเหยื่อที่ถูกหลอกให้โอนเงินจากมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซนเตอร์ อันเนื่องมาจากขาดความรู้เท่าทัน  

โดยจากการสำรวจผู้คน 16,000 คนทั่วโลกของ iProov ในปี ค.ศ. 2022 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 71% ไม่ทราบว่า Deepfake คืออะไร และมีถึง 43% ที่ไม่สามารถตรวจจับการปลอมแปลงได้ จึงส่งผลให้อัตราคนตกเป็นเหยื่อหรือถูกหลอกด้วย Deepfake สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


จับสังเกตสิ่งผิดปกติจาก Deepfake

ดังนั้น เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อด้านมืดของเอไอ มาร่วมกันถอดรหัสกลโกงกับ 7 วิธี ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจับสังเกตสิ่งผิดปกติจาก Deepfake ในเบื้องต้นได้บ้าง

1. การเคลื่อนไหวบนใบหน้า เช่น การพูดและการขยับของริมฝีปาก หากเป็นคลิปวิดีโอที่สร้างจาก AI Deepfake การขยับริมฝีปากมักไม่สอดคล้องกับเสียงพูดหรือการเคลื่อนไหวอื่นๆ ของใบหน้า และอาจมีความเบลอของภาพเกิดขึ้น รวมถึงการกะพริบของดวงตาอาจไม่สม่ำเสมอ มีความผิดปกติ กะพริบตามากหรือน้อยเกินไป หรือไม่กะพริบตาเลย   

2. แสงและเงาบนใบหน้า อาจไม่ตรงกับหลักการของความเป็นจริง เช่น แสงส่องมาจากด้านขวา แต่ใบหน้าด้านขวากลับมืดกว่าด้านซ้าย

3. องค์ประกอบของภาพ บางครั้งการสร้าง Deepfake อาจยังไม่แนบเนียบพอ ความสมดุลของใบหน้าอาจยาวผิดรูปกว่าปกติ การหันหน้าซ้าย-ขวาอาจดูไม่เป็นธรรมชาติ หรือการแสดงผลของผิวหนังและผมอาจเบลอกว่าปกติ นอกจากนั้นตำหนิต่างๆ บนร่างกายอาจอยู่ในตำแหน่งที่ผิดเพี้ยนเมื่อมีการเคลื่อนไหว


4. ความชัดของคลิปวิดีโอ โดยสังเกตจากการเบลอเพียงบางจุด เช่น ระหว่างใบหน้าและลำคอ หรือระหว่างคอและช่วงลำตัว จะช่วยให้เห็นถึงความไม่เป็นระนาบเดียวกันของคลิปวิดีโอได้ 

5. เสียงที่ผิดปกติ ผู้สร้าง Deepfake อาจใส่ใจกับการใส่เสียงไม่เท่ากับการทำวิดีโอต้นแบบ ดังนั้นเสียงอาจไม่สอดคล้องกับการพูด การออกเสียงบางคำผิดปกติ ไม่แนบเนียน เสียงอาจฟังดูเหมือนหุ่นยนต์ การพูดอาจไม่มีจังหวะหยุด หรือพูดรัวยาวไปเลย 

6. เนื้อหาของคลิปวิดีโอ เนื้อหาการพูดในคลิปวิดีโอ Deepfake มักจะแตกต่างจากเนื้อหาที่บุคคลนั้นเคยพูดหรือมีลักษณะเกินจริง เช่น การชักชวนให้ลงทุนหรือสมัครสมาชิกเกินจริง หรือมีแนวโน้มว่ามีความเป็นไปไม่ได้ 

7. ตั้งสติทุกครั้งก่อนหลงเชื่อ หากมีการยื่นข้อเสนอที่สูงเกินจริง ควรตั้งสติให้ดีไว้ก่อนและอย่าเพิ่งหลงเชื่อเด็ดขาด เนื่องจากปัจจุบันมีมิจฉาชีพหลายรูปแบบ และอย่าโอนเงินให้ผู้อื่นง่ายๆ ต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างละเอียด ชัดเจน และรอบคอบก่อนเสมอ


รู้จัก 4 เครื่องมือตรวจจับ Deepfake

นอกจากการสังเกตดังกล่าวแล้ว นักวิจัยยังพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อใช้ในการตรวจจับ Deepfake ที่แม่นยำยิ่งขึ้น ไปทำความรู้จักตัวอย่างเครื่องมือนานาชนิด ในการตรวจจับ Deepfake ดังนี้

1. โมเดลการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning Model) หรือเครือข่ายประสาทเทียมที่ได้รับการฝึกฝนกับข้อมูลจริงและปลอม มาวิเคราะห์วิดีโอทั้งเฟรม

2. การวิเคราะห์ข้อมูลเมตาที่ฝังอยู่ในไฟล์ภาพหรือวิดีโอ หรือ  Metadata และ Digital Watermarking เพื่อดูการแก้ไขหรือดัดแปลง และใช้เทคนิคการฝังลายน้ำดิจิทัลที่สามารถตรวจจับการแก้ไขเนื้อหา

3. การฝังโค้ดที่ตรวจสอบต้นทางได้ เช่น การใช้บล็อกเชนติดตามแหล่งที่มาของวิดีโอว่าจริงหรือปลอม

4. แพลตฟอร์มหรือโปรแกรมต่างๆ ยกตัวอย่าง การใช้ Deepware Scanner ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถสแกนวิดีโอเพื่อหาสัญญาณของ Deepfake ได้ เพียงอัปโหลดภาพหรือวิดีโอลงไป ระบบจะวิเคราะห์ว่ามีโอกาสเป็น Deepfake หรือไม่ การใช้ RealityDefender หรือเครื่องมือที่ช่วยในการตรวจจับสื่อสังเคราะห์ได้ทั้งข้อมูล ภาพ วิดีโอ และเสียง หรือการใช้ Microsoft Video Authenticator ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการวิเคราะห์วิดีโอเพื่อตรวจสอบความเป็นของแท้


อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบ Deepfake ต้องมีการพัฒนาเทคนิคให้ก้าวหน้าต่อไป ตราบใดที่กลโกงจากด้านมืดของเอไอนี้ยังคงเดินหน้าหาวิธีสร้าง Deepfake ที่แนบเนียนและซับซ้อนอย่างไม่หยุดนิ่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม


อ้างอิง : 

บทความใกล้เคียง
ดูบทความทั้งหมด
ไซบอร์กแห่งปี 2025
27 มิถุนายน 2025
35 0
0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI