นโยบายการใช้เอไอทั่วโลกปี 2025 และอนาคต
ก่อนตระหนักว่าเอไอมีอิทธิพลกับชีวิตและการทำงานปัจจุบัน เราเริ่มจากการใช้เอไอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นระบบนำทาง เครื่องมือแปลภาษา ระบบค้นหาข้อมูล และอีกมาก จนเทคโนโลยีเอไอได้ขยายวงกว้างไปทั่วโลกในวันนี้
การเกิดขึ้นของเอไอที่สร้างความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมหาศาลได้ ทำให้นานาประเทศออกนโยบายไปจนถึงข้อบังคับหรือกฎหมาย เพื่อรับมือกับการใช้งานที่ส่งผลทั้งด้านลบและด้านดี ที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามภูมิภาคและประเทศ ขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งใน ค.ศ. 2025 และอนาคต เอไอจะยิ่งเพิ่มความสำคัญและกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ กำหนดหรือปรับปรุงนโยบายด้านเอไอให้ตามทันเทคโนโลยี เช่นเดียวกับเนื้อหาจากบทความ AI Regulations Around the World: Trends, Takeaways & What to Watch Heading Into 2025 โดย Diligent ธุรกิจผู้ให้บริการซอฟต์แวร์องค์กรระดับโลก (SaaS) ด้านการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามข้อกำหนด (GRC)
นโยบายและกฎข้อบังคับด้านเอไอในอเมริกาเหนือ
กฎข้อบังคับด้านเอไอในสหรัฐอเมริกา ตรงกันข้ามกับแนวทางการควบคุมเอไอแบบรวมศูนย์ของสหภาพยุโรป และแตกต่างอย่างมากจากกรอบการทำงานเอไอระดับชาติในญี่ปุ่นและสิงคโปร์ โดยสหรัฐอเมริกากำลังดำเนินตามกรอบการกำกับดูแลแบบกระจายอำนาจ ด้วยพระราชบัญญัติ CHIPS and Science 2022 ที่ระบุว่าเอไอเป็นสาขาเทคโนโลยีที่สำคัญสาขาหนึ่ง นอกจากนี้ แกรี เกนส์เลอร์ ประธานบริษัทหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้เรียกร้องให้มีมาตรการป้องกันด้านเอไอ และคำสั่งจากฝ่ายบริหารของทำเนียบขาวได้ระบุหลักการสำคัญสำหรับการพัฒนาและใช้งานเอไออย่างรับผิดชอบ โดยมุ่งเน้นที่ทั้งความโปร่งใสและการคุ้มครองพนักงาน
ขณะที่แคลิฟอร์เนียเป็นผู้นำด้านกฎระเบียบเอไอระดับรัฐ จากการเสนอกฎหมายหลายฉบับเพื่อเพิ่มความรับผิดชอบทางธุรกิจ ต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ และควบคุมวิธีที่ธุรกิจต่างๆ ใช้ข้อมูล ในอีกมุม โคโลราโดเป็นรัฐแรกที่ออกกฎหมายด้านเอไอแบบครอบคลุม ซึ่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024 พระราชบัญญัติเอไอของโคโลราโดได้กำหนดกฎเกณฑ์สำหรับนักพัฒนาและผู้ปรับใช้ระบบ มุ่งเน้นไปที่การเลือกปฏิบัติด้วยอัลกอริทึมและระบบที่ ‘มีความเสี่ยงสูง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือและแพลตฟอร์มเอไอที่ใช้งานในพื้นที่สำคัญ เช่น ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษา และการจ้างงาน ส่วนแคนาดานั้น รัฐบาลได้เปิดตัวกลยุทธ์แรกของโลกสำหรับนโยบายและกฎข้อบังคับเอไอใน ค.ศ. 2017 ซึ่งการกำกับดูแลเอไอยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมา
นโยบายและกฎข้อบังคับด้านเอไอในยุโรป
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้เวลากับการดำเนินการปะติดปะต่อกรอบการทำงานของรัฐบาลกลาง รัฐ และอุตสาหกรรม และเรื่องกฎหมายระดับชาติยังคงอยู่ในขั้นตอนการหารือในแคนาดา ทางด้านสหภาพยุโรปได้รวมประเทศสมาชิก 27 ประเทศไว้ด้วยกัน ภายใต้ชุดกฎระเบียบที่ครอบคลุมร่วมกันแบบรวมศูนย์ มีพระราชบัญญัติเอไอของสหภาพยุโรป มีการกำหนดวาระการประชุมขององค์กรทั้งในและนอกยุโรป นำไปสู่การสรุปความเสี่ยงด้านเอไอ 4 ระดับ ควบคู่ไปกับความโปร่งใสที่เข้มงวด และภาระหน้าที่ในการกำกับดูแลข้อมูลสำหรับผู้ให้บริการเอไอ สอดคล้องกับบทความ EU AI Act: First Regulation on Artificial Intelligence โดย European Parliament
ในทางตรงกันข้าม กลยุทธ์การกำกับดูแลด้านเอไอของสหราชอาณาจักรกลับวางการกำกับดูแลด้านเอไอไว้ในมือของหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอยู่ภายใต้หลักการที่ครอบคลุมด้านความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความยุติธรรม เป็นแนวทางเชิงนวัตกรรมที่มีพื้นฐานมาจากข้อโต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้รู้ว่าจะควบคุมเอไออย่างไรในภาคส่วนของตนเอง และมีเป้าหมายสุดท้ายคือการกระตุ้นการพัฒนาเอไออย่างมีความรับผิดชอบ ในฐานะหนึ่งในผู้นำระดับโลกในด้านเอไอ
นโยบายและกฎข้อบังคับด้านเอไอในเอเชียแปซิฟิก
สิงคโปร์นับเป็นผู้นำระดับโลกด้านการกำกับดูแลเอไอ โดยใน ค.ศ. 2019 ได้เป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดตัว Model AI Governance Framework และยังคงเป็นผู้นำระดับโลกและภูมิภาคในด้านกฎระเบียบเอไอตลอดเวลา 5 ปีที่เอไอเข้ามาแทรกแซง ไปพร้อมกับการเปิดตัว National AI Strategy ฉบับแรกในเวลาเดียวกัน และทุกครั้งที่เอไอมีการพัฒนา นโยบายของสิงคโปร์ได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วเช่นกัน อย่างกรณีการเปิดตัว ChatGPT ช่วงปลาย ค.ศ. 2023 สิงคโปร์ได้ดำเนินการอัปเดตกลยุทธ์ระดับชาติ ตามมาด้วยเดือนมกราคม ค.ศ. 2024 หน่วยงานสื่อสารข้อมูล Media Development Authority ได้ออกกรอบการกำกับดูแลโมเดลเอไอสำหรับใช้กับ Generative AI
ญี่ปุ่นเป็นอีกผู้นำในด้านกฎระเบียบด้านเอไอทั่วโลก มีจุดเด่นคือหลักการยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางหรือให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ และใน ค.ศ. 2019 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เผยแพร่หลักการทางสังคมของการใช้เอไอ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยกำหนดรูปแบบ ‘สังคมที่พร้อมใช้เอไอ’ แห่งแรกของโลกผ่านแนวทางที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยั่งยืนในวงกว้าง และสังคมที่มีภูมิหลังอันหลากหลายที่สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละบุคคล
จีน หนึ่งในประเทศเอเชียแปซิฟิก ใช้แนวทางแบบรวมศูนย์ในการพัฒนาเอไอมากขึ้น และมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบเอไอ แม้ว่าแนวทางการกำกับดูแลจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ จำนวนมากทั่วโลก แต่แนวทางดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อสะท้อนถึงการพัฒนาใหม่ๆ ตั้งแต่กฎหมายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2023 ที่ออกมาควบคุม Generative AI ไปจนถึงข้อเสนอเดือนกันยายน 2567 ที่ออกมาเพื่อสร้างมาตรฐานและการติดป้ายกำกับเนื้อหาที่สร้างโดยเอไอ
นโยบายและกฎข้อบังคับด้านเอไอในตะวันออกกลาง
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตะวันออกกลางเป็นศูนย์กลางของความก้าวหน้าด้านเอไอและมีกฎระเบียบที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง โดยซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) อยู่ในระดับแนวหน้าของการเคลื่อนไหวนี้ มีการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลและนวัตกรรมด้านเอไอ มีกรอบทำงานของซาอุดีอาระเบียอย่าง ยุทธศาสตร์แห่งชาติสำหรับข้อมูลและเอไอ และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างรวดเร็วของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เน้นย้ำความเป็นผู้นำบนเวทีเอไอ
ในซาอุดีอาระเบีย ยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านข้อมูลและเอไอกำลังจะเปลี่ยนโฉมของประเทศให้กลายไปเป็นผู้นำด้านเอไอระดับโลกภายใน ค.ศ. 2030 มีกลยุทธ์ที่ครอบคลุมโครงการริเริ่มต่างๆ เพื่อควบคุมศักยภาพ สร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศ ส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถผ่านโปรแกรมฝึกอบรมเฉพาะทาง ไปจนถึงสนับสนุนการใช้เอไออย่างโปร่งใสและรับผิดชอบร่วมกัน
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการบูรณาการเอไอเข้ากับโครงสร้างประจำชาติ ด้วยการลงทุนจำนวนมากในการวิจัยเอไอ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งยังมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีและมียุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติปี 2031 มีหมุดหมายที่ต้องไปให้ถึง เช่น การใช้เอไอกับบริการภาครัฐ และการส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจในยุคเอไอ
แม้แต่ละภูมิภาคและหลายประเทศของโลกจะมีกฎข้อบังคับด้านเอไอเป็นของตนเอง หากทว่า ในอนาคตหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะตกลงในการใช้ข้อบังคับหรือกฎกติกาเดียวกันมากขึ้นอย่างน่าสนใจ จึงสำคัญอย่างยิ่งที่เราควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย หรือกฎหมายใหม่ๆ เพื่อตั้งรับและพัฒนาตนเอง
อ้างอิง :
- diligent.com
- europarl.europa.eu
- weforum.org
- www.okmd.or.th/TheKnowledgevol.36

