เทคโนโลยีทางการเงินหรือ ‘ฟินเทค (FinTech)’ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องของอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ และสมาร์ทโฟนที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากกว่าในอดีต
รวมถึงในภาคธุรกิจที่มองเห็นมูลค่าเพิ่มจากการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กร และจากการนำนวัตกรรมดังกล่าวไปสร้างบริการทางการเงินชนิดใหม่ เพื่อก่อให้เกิดความสามารถทางการแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในและนอกประเทศ
สิ่งที่น่าสนใจคือผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทค ผ่านกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟน 5,000 คน ในตลาดใหญ่ 4 แห่ง คือ ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน และ อินโดนีเซีย รวมถึง เกาหลี อังกฤษ และสหรัฐฯ พบว่าภาพรวมยังมีโอกาสสูง หากสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์
ผลสำรวจจากทั้ง 7 ตลาดหลัก โดยร้อยละ 64 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจยอมรับว่า เทคโนโลยีทางการเงินช่วยในการวางแผนและจัดการทางการเงินให้ง่ายขึ้น
โดยรวมมีความเชื่อมั่นสูงต่อเทคโนโลยีด้านการเงิน คิดเป็นร้อยละ 63 ที่วางใจในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตัวเองรู้จัก ส่วนอีกร้อยละ 30 ยังไม่มั่นใจ ซึ่งความเชื่อมั่นนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะกลุ่มอายุ 18-34 ปี มีความเชื่อมั่นสูงถึงร้อยละ 69% เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป ที่มีความเชื่อมั่นเพียงร้อยละ 55
สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำการวิจัยเรื่อง ‘ฟินเทค (FinTech) ในมุมมองของสถาบันการเงินและผู้ประกอบการ FinTech Startup ในประเทศไทย’ โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการนำเสนอเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโต ประโยชน์ ความเสี่ยง ผลกระทบ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการยอมรับ การสนับสนุนจากทางภาครัฐ และการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจฟินเทคในบริบทของประเทศไทย
ผลการวิจัยพบว่าภาครัฐและเอกชนไทยมีความตื่นตัวในธุรกิจฟินเทค โดยภาครัฐมีความพยายามในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับภาคเอกชนมีการปรับตัวโดยนำฟินเทคเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพของบริการทางการเงินที่มีอยู่เดิม หรือต่อยอดไปถึงการสร้างบริการทางการเงินชนิดใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
โดยฟินเทคมีจุดเด่นคือการลดต้นทุนการดำเนินงาน รวมถึงเพิ่มความสะดวกสบายและความรวดเร็วให้กับบริการทางการเงิน ดังนั้นฟินเทคจึงมีศักยภาพสูงในการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน
แต่สำหรับในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของฟินเทคและต้องได้รับการปรับปรุง เช่น การขาดความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภค การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ การขาดเงินทุนสนับสนุน ความไม่ชัดเจนของกฎเกณฑ์การกำกับดูแล และความอ่อนแอของการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในประเทศ
The Standard เจาะลึก ‘FinTech’ การเติบโต ประโยชน์ ความเสี่ยง และผลกระทบในประเทศไทย
งานวิจัย ฟินเทค (FinTech) ในมุมมองของสถาบันการเงินและผู้ประกอบ การ FinTech Startup ในประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์