เมนูนี้เด็ด ร้านนี้ต้องไป เมื่อ 'เอไอ' หลอกเราให้อยากชิม

Yale Center for Customer Insights ได้รายงานเกี่ยวกับการตั้งคำถามในโลกเอไอว่า เมื่ออ่านรีวิวร้านอาหารจะรู้ได้อย่างไรว่ามาจากมนุษย์หรือปัญญาประดิษฐ์ พร้อมระบุการศึกษาที่ยืนยันว่าผู้รับสารไม่สามารถแยกแยะได้ด้วยตนเอง จากความอัจฉริยะของเอไอ
นักวิจารณ์อาหารแนวใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ด้วย Generative AI
เริ่มต้นจากความนิยมของแพลตฟอร์ม Generative AI ที่ทำให้การสร้างบทวิจารณ์เป็นเรื่องง่าย ทำให้ผู้อ่านไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างบทวิจารณ์จริงกับบทวิจารณ์ประดิษฐ์ และหากรีวิวในโลกออนไลน์มีอิทธิพลในการทำการตลาดมากที่สุดในกลุ่มผู้บริโภค ประเด็นนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในแง่การชี้นำผ่านความคิดเห็น ไปจนถึงการกล่าวเกินจริงเพื่อชวนให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการ และในทางตรงกันข้ามบทวิจารณ์ประดิษฐ์สามารถสร้างและกระจายความคิดเห็นเชิงลบได้เช่นเดียวกัน
Balázs Kovács ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรที่ Yale School of Management และผู้เขียนรายงานการศึกษานี้ได้ติดตามวิวัฒนาการการรีวิวร้านอาหารออนไลน์มาตั้งแต่ ค.ศ. 2004 เมื่อ Yelp เว็บไซต์รีวิวและค้นหาร้านค้าธุรกิจชื่อดังของอเมริกาเข้าสู่ตลาดและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในชีวิตประจำวัน เขายังได้กล่าวว่าแม้รีวิวที่ตีพิมพ์ส่วนใหญ่เขียนโดยมนุษย์ที่มีประสบการณ์การกินอาหารจริง อย่างไรก็ดีแพลตฟอร์ม Generative AI เช่น ChatGPT โดย OpenAI ก็สามารถสร้างบทวิจารณ์ขนาดยาว โดยอิงตามคำสั่งมนุษย์เพียงไม่กี่ขั้นตอนได้เช่นเดียวกัน ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า GPT-4 สามารถสร้างข้อความที่หลอกหรือโกงเครื่องตรวจจับ โดยเฉพาะเมื่อได้รับคำสั่งให้พิมพ์ผิดและใช้ภาษาพูดเพื่อให้บทวิจารณ์เหมือนเขียนโดยมนุษย์จริง
การสำรวจของ BrightLocal ระบุว่า 87% ของผู้บริโภคอ่านรีวิวออนไลน์เกี่ยวกับธุรกิจในท้องถิ่น และ 79% มองว่ารีวิวเหล่านั้นน่าเชื่อถือและเป็นคำแนะนำส่วนตัว ทำให้เห็นแนวโน้มว่าบทวิจารณ์ปลอมเหล่านั้นเสี่ยงทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของแต่ละแอปพลิเคชันหรือแต่ละแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้อ่านสูญเสียความไว้วางใจ
ผลการสำรวจนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เคยเชื่อมั่นการรีวิวในอุตสาหกรรมร้านอาหารที่ถูกต้อง ผู้เขียนรายงานยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ปัญหารีวิวปลอมยังจะสั่นสะเทือนในทุกวงการและอุตสาหกรรม ตั้งแต่การหาซื้อเครื่องดูดฝุ่นไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีวิถีอเมริกัน ที่หากไม่จัดการเนื้อหาปลอมเหล่านี้ ความรับผิดชอบจะต้องตกไปอยู่ที่ความรู้และความสามารถในการวิเคราะห์ของพลเมืองออนไลน์เป็นหลัก จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการติดอาวุธ สร้างภูมิคุ้มกัน ให้ผู้บริโภคในโลกออนไลน์
นักสร้างภาพอาหารจากสูตร ความน่ากินที่ไม่ต้องเข้าครัวปรุง
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัย Tel-Aviv University ในอิสราเอลได้พัฒนาโครงข่ายประสาทเทียม (Neural Network) ที่สามารถอ่านสูตรอาหารและสร้างภาพว่าผลิตภัณฑ์ที่ปรุงเสร็จแล้วจะมีลักษณะอย่างไร ทำให้ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าอาหารน่าอร่อยที่เราเห็นในจานนั้นเป็นของจริงหรือไม่ โดยสมาชิกในทีมนักวิจัยได้สร้างเอไอ โดยใช้เวอร์ชันดัดแปลงของ Generative Adversarial Network ที่เรียกว่า StackGAN V2 และการผสมผสานรูปภาพ/สูตรอาหาร 52K จากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ยักษ์ Recipe1M ตามรายงานใน ค.ศ. 2019 ของเว็บไซต์ข่าวสาร การคิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยี The Next Web
นักวิจัยกล่าวกับ TNW ว่า เอไอนี้เริ่มต้นจากหนึ่งในนักวิจัยของทีมได้ไปขอสูตรเมนูปลาทอดกับซอสมะเขือเทศในตำนานของคุณยายที่มีอายุมากและเริ่มหลงลืม ยากแก่การจำสูตร จึงจุดประกายทำให้คิดค้นระบบการป้อนภาพอาหารและส่งออกผลลัพธ์มาเป็นสูตร อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ามีข้อยกเว้นสำหรับส่วนผสมที่มีรายละเอียดที่ยากเกินไป หรือเครื่องปรุงที่ถูกซ่อนไว้ เช่น เนย แป้ง พริกไทย และเกลือ นำไปสู่การตั้งคำถามว่าเขาจะสามารถทำสิ่งที่ตรงกันข้ามแทนได้หรือไม่ ที่หมายถึงการสร้างภาพอาหารจากสูตร ให้ออกเป็นหน้าตาอาหารน่าอร่อยโดยไม่จำเป็นต้องเข้าครัวปรุง
‘Recipe1M คืออะไร’ สถาบันการศึกษาระดับโลก MIT หรือ Massachusetts Institute of Technology ได้พัฒนาโครงข่ายประสาทเทียมที่เรียกว่า Receipe1M ที่ไม่เพียงช่วยให้เราเรียนรู้สูตรอาหาร แต่ยังเข้าใจพฤติกรรมการกินและความชอบของผู้คนได้ดีขึ้น เอไอนี้ยังอาจพัฒนาไปถึงขั้นให้มีความสามารถในการวิเคราะห์วิธีการเตรียมอาหาร การแยกแยะความแตกต่างของอาหาร ไปจนถึงการพัฒนาระบบผู้ช่วยออกแบบเมนูอาหารที่ประเมินได้จากวัตถุดิบในตู้ ความชอบ ไปจนถึงสูตรที่คล้ายกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งการผลิตรีวิวปลอมและการสร้างภาพเกินจริง หรือภาพเมนูที่ไม่เคยลองทำจริงจากสูตร สามารถนำไปสู่ AI Deepfake ที่ใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ แต่ในมุมกลับเอไอเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในทางสร้างสรรค์ เช่น ใช้ Generative AI สร้างบทความให้ความรู้ด้านอาหาร การสร้างสรรค์ภาพเพื่อเติมเต็มจินตนาการจากชุดคำสั่ง หรือช่วยกระตุ้นการคิด วิเคราะห์สูตรจากภาพอาหารที่มี
www.okmd.or.th/knowledge/okmd-magazine/5826/