Deepfake ภัยเงียบที่คุณต้องรู้ก่อนเป็นเหยื่อรายต่อไป

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ได้พัฒนาก้าวกระโดดนำมาซึ่งทั้งความก้าวหน้าและความท้าทายที่เราคาดไม่ถึง หนึ่งในประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในปัจจุบันคือการมาของเนื้อหาที่สร้างขึ้นโดย AI หรือที่เรียกกันว่า Deepfake ซึ่งหมายถึงสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ หรือเสียง ที่ถูกสร้างหรือดัดแปลงโดย AI เพื่อบิดเบือนความจริง เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ การทำความเข้าใจผลกระทบของมันจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน
Deepfake คืออะไร?
ลองนึกภาพว่าคุณกำลังดูคลิปวิดีโอของดาราคนโปรดพูดอะไรบางอย่าง แต่ความจริงแล้วพวกเขาไม่เคยพูดประโยคนั้นเลย นี่คือตัวอย่างของ Deepfake ซึ่งก็คือสื่อปลอมที่สร้างขึ้นโดย AI เพื่อสร้างเนื้อหาที่ดูสมจริงแต่แท้จริงแล้วเป็นของปลอม เทคโนโลยีนี้ใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลในการสร้างเนื้อหาที่เลียนแบบ รูปภาพ วิดีโอ และเสียงในชีวิตจริงได้อย่างแนบเนียน
การแพร่กระจายของข้อมูลเท็จที่สร้างโดย AI
ความหลากหลายของ Deepfake ทำให้คนจำนวนมากเริ่มกังวลถึงการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2566 มีการเผยแพร่เสียงปลอมของนักการเมืองในสโลวาเกียที่พูดถึงการโกงการเลือกตั้ง ซึ่งกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงพลังของเนื้อหาที่สร้างโดย AI ในการสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง
นอกจากการสร้างเนื้อหาปลอมแล้ว การกล่าวหาว่าบางสิ่งเป็นผลงานของ AI กลายเป็นกลยุทธ์ในการลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลจริงไปด้วย เหมือนที่ Ellen Judson นักสืบสวนอาวุโสของ Global Witness ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ‘ไม่ชอบสิ่งที่บางคนกำลังพูด? การบอกว่าหลักฐานที่มีเป็นของที่สร้างโดย AI นั้นง่ายกว่าการต้องไปหาหลักฐานมาหักล้างเสียอีก’ กลยุทธ์นี้ทำให้สาธารณชนแยกแยะความจริงจากความเท็จได้ยากขึ้น
ความยากในการตรวจจับ
การตรวจจับ Deepfake เป็นงานที่ซับซ้อน ซึ่งแม้จะมีเครื่องมือและวิธีการที่ออกแบบมาเพื่อระบุสื่อที่ถูกปรับแต่งด้วย AI ก็ตาม แต่เทคโนโลยีเบื้องหลัง Deepfake ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนบ่อยครั้งก็เร็วกว่าที่ความสามารถในการตรวจจับจะตามทัน โครงการ ‘Detect Fakes’ ของ MIT Media Lab เน้นย้ำว่า ไม่มีร่องรอยชี้ชัดเฉพาะเพียงอย่างเดียวที่จะบอกได้ว่าอะไรคือ Deepfake แต่แนะนำให้ทุกคนระมัดระวังและสังเกตความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเคลื่อนไหวของใบหน้าที่ไม่เป็นธรรมชาติ หรือการเคลื่อนไหวของริมฝีปากที่ไม่ตรงกับเสียง
ผลกระทบในวงกว้าง
ผลกระทบของ Deepfake ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการเมือง แต่ยังถูกนำไปใช้ในการสร้างเนื้อหาลามกอนาจารโดยไม่ได้รับความยินยอม และการฉ้อโกงทางการเงิน ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายทั้งต่อบุคคลและสังคม ศักยภาพของ Deepfake ในการทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อสื่อและสถาบันต่างๆ นั้นรุนแรง เพราะผู้คนอาจเริ่มสงสัยในเนื้อหาที่ถูกต้อง โดยไม่แน่ใจว่าอะไรคือของจริง และอะไรคือของปลอม
กรณีศึกษาล่าสุด การหลอกลวงโดยใช้ชื่อ ‘แบรด พิตต์’
เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วยตอกย้ำความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่สร้างโดย AI เรื่องมีอยู่ว่า ผู้หญิงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง โดยใช้นามสมมุติว่า ‘แอน’ ถูกหลอกให้โอนเงินกว่า 28 ล้านบาทให้กับคนร้ายที่แอบอ้างเป็นนักแสดงแบรด พิตต์ คนร้ายใช้รูปภาพและข้อความที่สร้างโดย AI เพื่อหลอกให้แอนเชื่อว่าเธอกำลังมีความสัมพันธ์โรแมนติกกับนักแสดงคนดัง ถึงขั้นแต่งเรื่องว่าแบรด พิตต์ต้องการเงินเพื่อรักษามะเร็งและหลอกให้แอนโอนเงินจำนวนมากให้
ตัวแทนของแบรด พิตต์ได้ออกมาเตือนสาธารณชนว่านักแสดงคนดังไม่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ และเตือนไม่ให้ตอบกลับการติดต่อทางออนไลน์ ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางทางอารมณ์ที่อาจถูกเอารัดเอาเปรียบผ่านการหลอกลวงด้วย AI ที่ซับซ้อน
การสร้างภูมิคุ้มกันต่อ Deepfake
- การรับมือกับความท้าทายที่เกิดจาก Deepfake จำเป็นต้องใช้วิธีการที่หลากหลายประกอบกัน
- การสร้างความตระหนักรู้และให้ความรู้แก่สาธารณะ
- การให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับการมีอยู่และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก Deepfake เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อเข้าใจว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มีอยู่จริง ผู้คนจะสามารถเสพสื่อด้วยวิจารณญาณมากขึ้น
- การพัฒนาเทคโนโลยี
- การลงทุนและพัฒนาเครื่องมือตรวจจับขั้นสูงมีความสำคัญ ความร่วมมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยี สถาบันการศึกษา และรัฐบาล สามารถนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการระบุและลดการแพร่กระจายของ Deepfake
นโยบายและกฎระเบียบ
- การกำหนดนโยบายและกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสร้างและเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างโดย AI สามารถยับยั้งผู้ที่มีเจตนาร้าย รวมถึงการกำหนดความรับผิดชอบของบุคคลและองค์กรที่ใช้เทคโนโลยี Deepfake ในทางที่ผิด
- การรู้เท่าทันสื่อ
- การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อสามารถเสริมพลังให้ผู้คนประเมินเนื้อหาที่พวกเขาบริโภคอย่างมีวิจารณญาณ รวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับแหล่งที่มา การหาข้อมูลยืนยัน และการระมัดระวังก่อนแชร์เนื้อหาที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน
การมาถึงของเนื้อหาที่สร้างโดย AI นำเสนอทั้งโอกาสและความท้าทาย แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำไปใช้อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ได้ แต่ความเป็นไปได้ที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดก็ทำให้เราต้องระมัดระวัง ด้วยการติดตามข้อมูลให้ทันสมัย สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจจับ และสร้างวัฒนธรรมการบริโภคสื่ออย่างมีวิจารณญาณ