ฝนตก น้ำท่วม ถือเป็นของคู่กันสำหรับเมืองไทย ทว่าน้ำท่วมไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ต่างสร้างผลกระทบให้กับผู้คน ทั้งคนทำงานที่ต้องเดินทางกลับบ้าน หรือผู้อยู่อาศัยในบ้านที่น้ำท่วมประจำ ยิ่งกว่านั้น น้ำที่ท่วมนั้นก็ยังคงมีขยะและสิ่งปฏิกูล ยากที่จะนำมากลับใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง
ราว 10 ปีก่อน ที่เมืองจีนมีการคิดค้น ‘Sponge City’ หรือเมืองฟองน้ำ แนวคิดการพัฒนาเมืองที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดย ‘ทำเมืองให้เหมือนฟองน้ำ’ การออกแบบเมืองให้สามารถดูดซับ กักเก็บ และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพแทนที่จะปล่อยให้น้ำลงท่อไปเฉยๆ ระบบเทคโนโลยี ‘Sponge City’ จะทำหน้าที่เป็นอ่างเก็บน้ำ แต่ยังให้ความสำคัญและปกป้องระบบนิเวศเดิมของเมือง โดยคำนึงถึง 6 เกณฑ์หลัก ประกอบด้วย การซึมลงดิน (Infiltration) การกักน้ำ (Retention) การเก็บน้ำ (Storage) การบำบัดน้ำ (Purification) การใช้ประโยชน์น้ำ (Utilization) และ การระบายน้ำ (Drainage) เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม
ดร. ไฮโก ซีเกอร์ (Dr. Heiko Sieker) ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์สาขาอุทกวิทยา มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเบอร์ลิน (Technical University of Berlin) กล่าวว่า แนวคิดเมืองฟองน้ำมีองค์ประกอบสำคัญหลายประการ สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่า Sponge City ไม่ใช่เทคโนโลยีเดียวที่จะช่วยเรื่องน้ำ แต่เป็นกล่องเครื่องมือมากกว่า
Sponge City เป็นเทคโนโลยีที่สามารถดูดซึมซับจากหลังคา ผนังที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และร่องน้ำ ทำหน้าที่ระบายน้ำตื้น กักเก็บน้ำฝน ขณะเดียวกัน ก็คอยบำบัดน้ำเสียจากท้องถนนกลับสู่ธรรมชาติ ขณะเดียวกัน การริเริ่ม Sponge City ไม่ได้เป็นเพียงนิมิตหมายที่ดีในเรื่องการระบายน้ำเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการออกแบบเมืองที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้การทำงานของ Sponge City เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
‘อู่ฮั่น’ เมืองนำร่องที่ลงทุนเยอะ แต่คุ้มค่า
ในประเทศจีน แทบจะ Kick Off โครงการใกล้ๆ กัน หลังจากน้ำท่วมใหญ่เมืองปักกิ่งในปี 2012 หนึ่งในเมืองที่นำร่องและประสบความสำเร็จมากๆ ในปัจจุบัน ก็คือ ‘อู่ฮั่น’ เมืองที่ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศจีน น้ำอุดมสมบูรณ์ แต่ก็มีความท้าทายมากเช่นกัน ประการแรก เมืองอู่ฮั่นประสบปัญหาน้ำท่วมขังมาหลายปี สาเหตุหลักมาจากพื้นที่อาคารต่ำและฝนตกแต่ละปีไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะตกช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน ประการที่สอง คือ การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทำให้ภูมิทัศน์เมืองเปลี่ยนไป ทำให้น้ำท่วมขังรุนแรงขึ้นขนาดของทะเลสาบหดตัวลงเกือบ 70% ตั้งแต่ปี 1950 จนถึงปี 2013 ความจุในการกักเก็บน้ำที่ทะเลสาบก็ลดลง ประการต่อมา คือ ระบบจัดการน้ำเสื่อมโทรม ใช้ท่อระบายน้ำและท่อระบายน้ำฝนปะปนกัน น้ำเสียถูกปล่อยลงสู่ช่องทางน้ำในเมือง ทำให้เกิดแหล่งน้ำสีดำและมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ การใช้น้ำใต้ดินมากเกินไปและปรากฏการณ์เกาะความร้อน ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ดังนั้น Sponge City จึงเป็นคำตอบ
ออกแบบเมืองใหม่โดยยึดสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น สวนฝนที่เป็นทุ่งหญ้า ต้นไม้ และพืชพรรณ ล้อมรอบด้วยอาคาร หลังคาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่องหญ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการกักเก็บทางชีวภาพ ทางเท้าที่มีรูพรุน ทางเท้าคอนกรีตที่มีรูพรุน ร่องน้ำซึม และโมดูลกักเก็บน้ำฝน เริ่มเมื่อปี 2015 อู่ฮั่นนำร่อง 288 โครงการ และใช้เงินลงทุนไปมากกว่า 11,000 ล้านหยวน บางส่วนก็ยังคงก่อนสร้างถึงปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า ในช่วงฤดูร้อนของปี 2020 เมืองอู่ฮั่นประสบกับฝนตกหนักหลายครั้งติดต่อกันจนทำลายสถิติในช่วงฤดูฝนที่ยาวนาน ในบางพื้นที่ของเมืองอู่ฮั่น ปริมาณน้ำฝนรายวันสูงถึง 472.3 มม. แต่น้ำไม่ท่วมเลย โดยคู่มือการสร้าง Sponge City ระบุว่า Sponge City จะต้องช่วยดูดซับน้ำฝนประจำปีได้ 60%-85% (17.6-35.2 มม./วัน) ต้านพายุได้ 50 ปีอย่างมีประสิทธิภาพ (303 มม./วัน) กำจัดแหล่งน้ำสีดำและกลิ่นเหม็นได้ และยังลดค่าใช้จ่ายไปได้ถึง 4,000 ล้านหยวน
แนวคิดเมืองยั่งยืน น้ำไม่ท่วม แต่ยังไม่แพร่หลาย
ถึงแม้จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่จริงๆ แล้ว Sponge City ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ก็มีการนำแนวคิดไปปรับใช้อยู่บ้าง เพื่อบรรเทาเกาะความร้อนในเมือง* ในชื่อ Water Sensitive Urban Design (WSUD) ในออสเตรเลียและตะวันออกกลาง Sustainable Urban Drainage Systems (SuDS) ในสหราชอาณาจักร และระบบระบายน้ำตามธรรมชาติในซีแอตเทิล
*เกาะความร้อนในเมือง คือ เกาะความร้อนหรือเกาะความร้อนเมือง (Urban heat island: UHI) เป็นปรากฏการณ์ที่พื้นที่สังคมเมืองมีอุณหภูมิและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมสูงกว่าบริเวณโดยรอบ อีกทั้งมีแสงสลัว ลมน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของแผ่นดินจากการพัฒนาเมือง ทำให้มีอาคารก่อสร้างจำนวนมากกว่าต้นไม้ที่คอยดูดซับมลพิษหรือดักจับฝุ่นในอากาศ
ที่ รุมเมลสเบิร์ก (Rummelsberg) เขตหนึ่งในเมืองเบอร์ลิน ก็เลือกใช้ Sponge City เพราะเบอร์ลินเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองในเยอรมนีที่ไม่ใช้ท่อส่งน้ำจากน้ำพุหรือแหล่งน้ำอื่น แต่ใช้แหล่งน้ำดื่มของเบอร์ลินทั้งหมดจากน้ำใต้ดินภายในเขตเมือง จึงต้องจัดการน้ำอย่างระมัดระวัง อีกทั้งน้ำของเมืองจะไหลออกทางแม่น้ำสปรี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านเมือง หมายความว่าเมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง น้ำจะไม่สามารถไหลผ่านท่อและระบบระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ทำให้ Sponge City ยังเป็นแนวคิดสำคัญที่จะถูกนำไปใช้ในทุกเขตของเมืองเบอร์ลิน
ส่วนที่เมืองซีแอตเทิล ก็มีการทำโครงการ South Thornton Natural Drainage System (NDS) มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนที่ปนเปื้อนไหลลงสู่ ลำธาร Thornton ที่ไหลผ่านซีแอตเทิลไปสู่ทะเลสาบวอชิงตัน รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ริมถนน ทำให้ลดปัญหาการจราจรและลดน้ำท่วมถนน เพื่อดึงความสนใจมาที่ประโยชน์ทางนิเวศน์ของระบบระบายน้ำตามธรรมชาติอีกด้วย
แต่สิ่งสำคัญ ดร. ซีเกอร์ ก็ให้ความเห็นถึงแนวคิด Sponge city ผ่านเว็บไซต์ The Urbanist ว่า “เมืองฟองน้ำเป็นวิธีที่ดีที่สุดและถูกที่สุดในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเมืองที่มีปัญหาความร้อน” แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยที่จัดการเฉพาะหน้าฝน แต่ Sponge City ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืน ทั้งยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ เมือง และน้ำ อยู่ร่วมกันได้
แหล่งอ้างอิง :
- https://oppla.eu/wuhan-sponge-city-programme-achieving-harmony-among-people-water-and-city
- https://www.theurbanist.org/2023/02/08/urbanism-101-what-is-a-sponge-city/#:~:text=The%20term%20%E2%80%9CSponge%20City%E2%80%9D%20first,water%20during%20times%20of%20rainfall
- https://sciplanet.org/content/14575#:~:text=%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%B0,%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0