ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เป็นคำที่ใช้อธิบายความแตกต่างทางสายพันธุ์ ทั้งภายในและระหว่างสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมถึงระบบนิเวศ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามีสิ่งมีชีวิตบนโลกประมาณ 8.7 ล้านสปีชีส์ แต่ถูกค้นพบและตั้งชื่อเพียงประมาณ 1.2 ล้านสปีชีส์เท่านั้น
ความหลากหลายทั้งหมดเหล่านี้ ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่อาหาร น้ำ เชื้อเพลิง ยารักษาโรค ไปจนถึงการผลิตออกซิเจนในอากาศ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่หมุนวนอยู่ในระบบนิเวศทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคาดว่าความสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพจะมีมูลค่า 14 พันล้านยูโรภายในปี 2050 คิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP โลก เนื่องจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษที่เพิ่มสูงขึ้น และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัด
จากรายงานการประเมินระดับโลกของ IPBES ประจำปี 2019 ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 450 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพและผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ ระบุว่า มนุษย์ได้ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยมีสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตมากถึง 1 ล้านสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ส่วนระบบนิเวศสำคัญๆ ทั่วโลก พบว่า พื้นที่ป่าลดลง 32% นับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม พื้นที่ชุ่มน้ำหายไปราว 85% และมากกว่า 33% ของปลาทะเลถูกจับเกินขนาด ทั้งหมดนี้ล้วนได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น
อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการผลิตอาหารและแหล่งน้ำสะอาดลดลง การเกิดภัยพิบัติ-อุทกภัยรุนแรงมากขึ้น และการลดลงของบริการจากระบบนิเวศที่มนุษย์พึ่งพา จากการประเมินพบว่าการสูญเสียบริการจากระบบนิเวศ เช่น การผสมเกสรของแมลงในธรรมชาติ รวมถึงการควบคุมโรค อาจทำให้เศรษฐกิจหลายภาคส่วนสูญเสียรายได้มหาศาล
นอกจากนี้ จากการศึกษาของโครงการเศรษฐศาสตร์ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (TEEB) โครงการระดับนานาชาติที่ริเริ่มขึ้นในปี 2007 ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (UNEP) และสถาบันการเงินระดับโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นความสำคัญทางเศรษฐกิจของความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ ทำการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลก พบว่า การอนุรักษ์อุทยานคาคาดู ออสเตรเลีย สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปี และสร้างงานกว่า 1,600 ตำแหน่ง ส่วนในภาคการเกษตรกรรมของสหภาพยุโรป การผสมเกสรของแมลง มีส่วนช่วยในการเพิ่มผลิตพืชผลทางการเกษตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15 พันล้านยูโรต่อปี
สำหรับประเทศไทย TEEB ระบุว่า พบการเปลี่ยนพื้นที่ป่าชายเลนเป็นฟาร์มกุ้งจำนวนมาก เนื่องจากให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงในระยะสั้น แต่เมื่อคำนวณมูลค่าของบริการทางระบบนิเวศของป่าชายเลน เช่น การป้องกันชายฝั่ง การเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และการกักเก็บคาร์บอน พบว่าการอนุรักษ์ป่าชายเลนให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนกว่า โดยป่าชายเลนที่ได้รับการอนุรักษ์มีมูลค่าประมาณ 2,000 - 72,000 บาทต่อไร่ต่อปี ในขณะที่ฟาร์มกุ้งมีมูลค่าประมาณ 400 - 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี ดังนั้นการอนุรักษ์ป่าชายเลนจึงให้ผลตอบแทนสูงกว่าการทำฟาร์มกุ้งถึง 36 เท่า