วิกฤตพลังงานส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง ร่วมกับดูแลโลกไม่ให้อ่อนแอมากไปกว่านี้ หลายประเทศจึงเริ่มนำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการขับเคลื่อนประเทศ โดยมุ่งเน้นไปยังการลงทุนในพลังงานสีเขียว (Green Energy) มากขึ้น
หากเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา พบว่าการจ้างงานทั่วโลกในส่วนของพลังงานฟอสซิลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทส่วนใหญ่หันไปใช้เครื่องจักรทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากปี 1980 พบว่าการผลิตถ่านหิน 100 ตันต่อชั่วโมงต้องใช้คนงานเหมือง 52 คน เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนดังกล่าวลดลงเหลือ 16 คน แม้ว่าจะมีการทำเหมืองถ่านหินเพิ่มขึ้น แต่การทำเหมืองถ่านหินกลับสูญเสียตำแหน่งงานไป 58% นับตั้งแต่ปี 1980 ถึง 2015
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของตลาดแรงงานสหรัฐฯ คาดว่าผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและติดตั้ง การวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการบำรุงรักษาในภาคพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ย 11-13 เท่า โดยภาคส่วนโซลาร์เซลล์เป็นภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว ปัจจุบันมีการจ้างงาน 4.3 ล้านตำแหน่ง รองลงมาคือภาคส่วนพลังงานลมและพลังงานน้ำ
รายงานของ International Renewable Energy Agency (IRENA) ระบุว่า ในปี 2021 การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนได้สร้างงานทั่วโลกเติบโตขึ้นจาก 700,000 ตำแหน่งตั้งแต่ปี 2020-2021 เป็น 12.7 ล้านตำแหน่งทั่วโลก และคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 42 ล้านตำแหน่งทั่วโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์เป็นสองภาคที่เติบโตเร็วที่สุด
เกือบ 2 ใน 3 ของงานด้านพลังงานสีเขียวอยู่ในเอเชีย จีนเป็นประเทศที่มีงานด้านพลังงานหมุนเวียนมากที่สุด โดยคิดเป็น 42% ของงานทั้งหมดทั่วโลก ตามมาด้วยสหภาพยุโรปและบราซิล 10% และสหรัฐอเมริกาและอินเดีย 7% และยังพบว่าอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวมีการจ้างงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศสูงกว่าในภาคส่วนพลังงานแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
สถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) ระบุว่า การประกอบอาชีพในสายงานพลังงานสีเขียวอาจหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น 8-19% มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน และโอกาสในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเป็นสายงานที่มีความโดดเด่น จึงมักเป็นที่ต้องการตัวอยู่เสมอ
นอกจากในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดแล้ว บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกต่างวางกลยุทธ์การลงทุนในประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานสีเขียว ในการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น Microsoft ประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030, Amazon Web Services (AWS) และ Google เองก็เห็นความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม พวกเขามีนโยบายใช้พลังงานสะอาด จากแหล่งที่สามารถตรวจสอบความเป็นมาตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยไม่กระทบต่อสังคม ชุมชน รอบข้าง
นี่คือแนวโน้มตำแหน่งงานที่อาจเพิ่มมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรม และจากการประชุม COP28 การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) เรียกร้องให้ทุกประเทศลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่า และเพิ่มการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานเป็นสองเท่าภายในปี 2030 ยิ่งตอกย้ำว่าการมีความเชี่ยวชาญในภาคส่วนพลังงานสีเขียวเป็นทักษะที่จะช่วยให้อยู่รอดในโลกอนาคต
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดเงินทุนสำหรับเศรษฐกิจเกิดใหม่และในประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงพลังงานสะอาดกระจายไปทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้
ตัวอย่างประเทศที่มีการลงทุนในพลังงานสีเขียว
• จีน เป็นประเทศที่มีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนสูงที่สุดในโลก โดยมีการลงทุนประมาณ 266 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 และในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ (PV) และพลังงานลมจะคิดเป็น 96% ของกำลังการผลิตใหม่ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2028
• สหรัฐอเมริกา มีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 แต่การลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2010 เกือบ 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในปี 2023 สหรัฐอเมริกามีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนประมาณ 325 กิกะวัตต์ และมีเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050
• เยอรมนี ผู้นำในการใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ในยุโรป มีการลงทุนในพลังงานสีเขียวประมาณ 41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2020 สร้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนกว่า 352,000 ตำแหน่ง พร้อมทั้งตั้งเป้าให้พลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วน 80% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2030 และครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2035
การลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวจึงถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการสร้างงานใหม่ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาโลกผ่านการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ช่วยให้มนุษย์และโลกมีชีวิตรอดไปด้วยกันท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ
แหล่งอ้างอิง :
- Dublino, J. (2024, May 20). Renewable Resources: The Impact of Green Energy on the Economy. Retrieved, www.business.com/articles/the-impact-of-green-energy-on-the-economy/
- Ellerbeck, S. (2023, January 20). The renewable energy transition is creating a green jobs boom. Retrieved, https://trellis.net/article/renewable-energy-transition-creating-green-jobs-boom/
- IRENA. (2023). World Energy Transitions Outlook 2023. Retrieved, www.irena.org/Digital-Report/World-Energy-Transitions-Outlook-2023
- Knight, R. (2023, March 8). How clean energy creates more jobs. Retrieved, https://citizensclimatelobby.org/blog/policy/how-clean-energy-creates-more-jobs/
- Wood, J. (2024, February 8). The world added 50% more renewable capacity last year than in 2022. Retrieved, www.weforum.org/agenda/2024/02/renewables-energy-capacity-demand-growth/
- ฐานเศรษฐกิจ. (2024, May 4). Data Center: สมรภูมิดึงดูดการลงทุน “ไฟฟ้าสีเขียว” อาวุธใหม่ของไทย. Retrieved, www.thansettakij.com/sustainable/energy/595207
URL อ้างอิง: