เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียแสดงความประสงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของกลุ่ม BRICS ไปเรียบร้อยแล้ว คำถามต่อมา แล้ว BRICS คือใคร?
‘BRICS’ ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า ‘BRICS+’ เป็นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 9 ประเทศ ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ที่คาดว่าเกิดมาเพื่อคานอำนาจกับขั้วเศรษฐกิจของบรรดาชาติพัฒนาแล้วหรือมั่งคั่งกว่าในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก และยังถือเป็นกลุ่มประเทศน้องใหม่ที่น่าจับตามอง ข้อมูลจากสภายุโรปเมื่อเดือนมีนาคม 2024 ระบุว่า หากประมาณการ BRICS+ การรวมตัวกันของประเทศต่างๆ แล้วนำ GDP ของทุกประเทศรวมกันก็นับเป็น 37.3% ของ GDP ของโลก หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของสหภาพยุโรป
ขณะที่สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า เมื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งนี้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น จะทำให้ครอบคลุมประชากรราว 3.5 พันล้านคน หรือราว 45% ของประชากรโลก และมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์ มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก อย่างที่บอกไปข้างต้น พวกเขารวมตัวกันเพราะคาดว่าจะคานอำนาจกับอำนาจกับขั้วเศรษฐกิจของบรรดาชาติพัฒนาแล้วหรือมั่งคั่งกว่าในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก หนึ่งในนั้น คือ ‘เรื่องการเงินและการธนาคาร’ และสิ่งที่น่าสนใจในวันที่ทั้งโลกหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น BRICS+ ก็เป็นกลุ่มประเทศที่หันมาสนใจขับเคลื่อนเรื่อง ‘Green Finance’
Green Finance คือ การจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green financing) คือการจัดหาแหล่งเงินทุนและระดมทุนผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการที่สร้างผลประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้การจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมนิยม (Environmentalism) และด้านทุนนิยม (Capitalism)
ในงานวิจัยเรื่อง ‘The measurement of green economic quality in the BRICS countries: Should they prioritize financing for environmental protection, economic growth, or social goals?’ ที่ตีพิมพ์ในวารสารของประเทศรัสเซีย ระบุว่า การใช้ Green Finance ใน BRICS สามารถสนับสนุนการลงทุนในพลังงานทดแทน รักษาสิ่งแวดล้อม และดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างความยั่งยืนในการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ หนึ่งผลงานที่ออกดอกออกผลนั่นคือ ‘พันธบัตรสีเขียว’ (Green Bonds) ตราสารหนี้ที่ผู้ออกระดมทุนเพื่อเอาเงินไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของธนาคารพัฒนาแห่งใหม่ (NDB) ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มประเทศ BRICS นำพันธบัตร ‘สีเขียว’ ที่สะสมไว้สามปีมูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์ ปล่อยขายสู่ตลาดทุนระหว่างประเทศ ธนาคารดังกล่าว มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนเพื่อระดมทุนสำหรับโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ BRICS และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นอกจากนี้ธนาคารยังได้รับการจัดอันดับเครดิตระหว่างประเทศ ‘AA+’ จาก Fitch Ratings และ S&P Global Ratings ทำให้ธนาคารระดมเงินทุนระยะยาวจากตลาดทุนจากในและต่างประเทศได้อย่างดีเยี่ยม โดยมีการอนุมัติโครงการเกือบ 100 โครงการ มูลค่ารวม 32,800 ล้านดอลลาร์
รวมถึงยังมีกรณีศึกษาสำคัญที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของ BRICS กับ Green Finance ที่น่าสนใจจากงานวิจัย ‘Climate Change and Sustainable Green Banking in BRICS Countries’ ระบุว่า การส่งเสริมเรื่อง Green Finance ทำให้ธนาคารมุ่งเน้นในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง การจัดสรรส่วนที่แน่นอนของเงินกู้ธนาคารให้เป็นเงินทุนสีเขียวในรูปแบบสินเชื่อจะช่วยสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาการเงินสีเขียวในระยะยาวได้
นอกจากนี้ บทบาทของ Green Finance ในเรื่องของการเงินการลงทุน (Fintech) ของกลุ่มประเทศ BRICS ก็เป็นส่วนสำคัญในการเสริมความยั่งยืน กล่าวคือ กลไกของ Green Finance จะปล่อยกู้เงินและอนุมัติการลงทุนในการโครงการด้านสิ่งแวดล้อม Fintech ก็จะเป็นคนมองหาแหล่งเงินทุน หนึ่งตัวอย่างที่ดี คือ โครงการ Ant Forest ของ Ant Group ซึ่งให้รางวัลผู้ใช้ Alipay ที่ทำกิจกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศ BRICS ก็ยังคงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวและเพิ่มขีดความสามารถของธนาคารและสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อ Green Finance รวมถึงการให้ข้อมูลเพื่อลดความเสี่ยง
ขณะเดียวกัน ระหว่างรอคำตอบรับจากกลุ่มประเทศ BRICS ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เริ่มปรับตัวด้วยแนวคิด ‘การเงินเพื่อความยั่งยืน’ จัดสรรทรัพยากรทางการเงินจากผู้ออมเงินไปยังผู้กู้ที่ต้องการใช้เงินทุน โดยคำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจและสังคม และดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี ถึงจะดูเรียบง่าย แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ฝั่งการเงินและการลงทุนของไทย จะเป็นส่วนหนึ่งให้รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
แหล่งอ้างอิง :
URL อ้างอิง: