Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

ใช้เกมรู้จักเมืองด้วยแนวคิด Gamification

15 สิงหาคม 2024 42 อ่านข่าวนี้ 3 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การเติบโตอย่างยั่งยืน  
หมวดหมู่ : #18.5การยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ 


คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราใช้ ‘เกม’ กระตุ้นให้คนหันมาสนใจและเที่ยว ‘เมือง’ จริง ๆ ในต่างประเทศ เริ่มนำองค์ประกอบและกลไกของเกมหรือที่เรียกว่า ‘Gamification’ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ และประชาชนรู้จักเมืองที่เขาอยู่ให้มากขึ้น เพราะเกมมีทั้งคะแนน ความท้าทาย และรางวัลที่ทำให้เราอยากเล่น อยากลอง อยากไปเพื่อทำภารกิจที่อยู่ในเกมนั้นๆ ให้สำเร็จ และได้ทั้งความสนุกสนาน 

Gamification เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้หลายคนสนใจ ส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกหลากหลายด้าน แล้วก็ถูกนำไปใช้หลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การศึกษา การท่องเที่ยว การฝึกอบรม หรือแม้แต่การทำงาน เช่นเดียวกับการนำเกมมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เมือง วางผังเมือง และเติมสีสันให้เมืองมีความสดใสและเต็มไปด้วยเรื่องราวใหม่ ๆ ด้วยความสนุกสนานจาก ‘เกม’ ผ่านแอปพลิเคชันหรือเทคโนโลยีเสมือนจริง

บทความวิจัยเรื่อง ‘Gamification and citizen motivation and vitality in smart cities: a qualitative meta-analysis study’
พูดถึงรูปแบบเกมที่อาจเกิดขึ้นในเมืองไว้ 5 รูปแบบ คือ
  1.  แอปพลิเคชันการเดินทาง ใช้แอปพลิเคชันที่มีการเล่นเกมส่งเสริมการใช้งานของระบบขนส่งสาธารณะ โดยให้ผู้ใช้ทำภารกิจเดินทางที่ต่างกันแล้วได้รับคะแนนหรือรางวัลเมื่อเดินทางในพื้นที่ที่กำหนด
  2. ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (AR) ในการท่องเที่ยว การใช้เทคโนโลยี AR สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและเล่นเกมในสถานที่ต่างๆ ในเมือง
  3. ใช้เกมการสร้างการเรียนรู้ ใช้เกม ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมือง ผู้เล่นสามารถได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์ผ่านการเล่นเกม
  4. ใช้เกมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน จัดการเล่นเกมในพื้นที่สาธารณะ เช่น การแข่งขันหาของที่ซ่อนในสวนสาธารณะ ทั้งยังสามารถสร้างโอกาสให้คนในชุมชนมาพบปะและมีส่วนร่วมกัน
  5. ใช้เกมเข้าถึงข้อมูล ผู้เล่นสามารถใช้เกมเพื่อสร้างข้อมูลที่สามารถใช้ในการวางแผนการพัฒนาเมืองได้
นอกจากนี้บทความวิจัยชิ้นเดียวกัน ยังระบุอีกว่า การเล่นเกมถือเป็นกลยุทธ์ที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจ เพื่อเพิ่มความมีชีวิตชีวาลงไปในเมืองได้และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนต่อเมืองที่พวกเขาอยู่และเติบโต อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ โครงการ DIGITgame ที่มุ่งสอนนักเรียนด้วยแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ที่เริ่มแล้วกับโรงเรียนในอิตาลีและตุรกี ลองคิด แก้ปัญหา ผ่านหัวข้อ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่จะทำให้เขาลองออกแบบและสร้างเมืองของตัวเอง ด้วยการคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่ ลองประยุกต์ความรู้ในห้องเรียนมาแก้ปัญหาเมืองที่เขาสร้างขึ้น และยังทำให้พวกเขาตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง

    สำหรับประเทศไทย ‘Gamification’ ถูกใช้มากในวงการมาร์เก็ตติง กระตุ้นให้ลูกค้าสะสมแต้ม แลกคะแนน แลกส่วนลด อาจมีอยู่บ้างในแวดวงการศึกษา และอาจเกิดขึ้นในบางห้องเรียน แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันว่า ถ้า Gamification ถูกนำมาใช้ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศจะเป็นอย่างไร? อาจเป็นเฉดสีใหม่ของเมืองที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน


    แหล่งอ้างอิง :

    • Latifi, Monfared and Hasan Abdi Khojasteh. 2022. Gamification and citizen motivation and vitality in smart cities: a qualitative meta-analysis study. Spatially Integrated Social Sciences and Humanities. GeoJournal.
    • Bonora, Martelli and Marchi. 2019. DIGITgame: Gamification as Amazing way to learn STEM Concepts Developing Sustainable cities Idea in the Citizen of the Future. Journal of Strategic Innovation and Sustainability. 14.

    URL อ้างอิง:

    เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

    เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
    ยอมรับ