Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

เที่ยวอย่างไรให้สุขภาพดี ทำความรู้จัก ‘Medical Tou...

28 สิงหาคม 2024 53 อ่านข่าวนี้ 2 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การท่องเที่ยว  
หมวดหมู่ : #05.3การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทย 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อชมความงามตามธรรมชาติ หรือแม้แต่จะแวะมาพักผ่อนระหว่างทำงานทางไกล (Digital Nomad) แต่ยังมีอีกหนึ่งเทรนด์การท่องเที่ยวที่ประเทศได้รับความไว้วางใจจากนักท่องเที่ยวคือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) 

การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ คือ การเดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อรับบริการทางการแพทย์ ซึ่งมีมาตรฐานในระดับเดียวกัน หรือดีกว่าในประเทศของตน เพื่อมารักษาทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น ศัลยกรรมความงาม การรักษาภาวะมีบุตรยาก มะเร็ง และการทำทันตกรรม โดยปกติแล้วจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าและมีระยะเวลารอคอยที่สั้นกว่าประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่ ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับการสแกน MRI ในสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ 1,325 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 46,000 บาท) ขณะที่ประเทศไทยราคาสูงสุดไม่เกิน 1,100 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 38,000 บาท) จึงไม่แปลกที่หลายคนเลือกเดินทางมายังประเทศไทย นอกจากจะได้รักษาแล้วยังได้ท่องเที่ยวไปในตัว

Global Healthcare Accreditation หรือ GHA หน่วยงานอิสระระดับโลก ผู้ทำหน้าที่ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการให้การบริบาลด้านการแพทย์ให้ทัดเทียมนานาชาติ จัดทำ Medical Tourism Index (MTI) ปี 2020-2021 ของประเทศที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยต่างชาติ พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 17 ส่วนในปี 2020 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นอันดับที่ 15 ของโลกจากการจัดอันดับโดยสถาบันด้านสุขภาพสากล หรือ GWI 

แม้ว่าจะหยุดชะงักในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ช่วงหนึ่ง แต่หลังจากกลับมาเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ประเทศไทยสามารถฟื้นตัวจากพิษโควิด สร้างรายได้ประมาณ 1.19 พันล้านบาท


       
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลให้การสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทางการแพทย์ โดยยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจากบางประเทศเพื่อกระตุ้นการเดินทาง พัฒนาระบบการเดินทางผ่านวีซ่า Medical Tourism ไม่ป่วยแต่สามารถอยู่ได้ระยะยาว และวีซ่า รหัส Non-MT ให้ผู้ป่วยเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทยอยู่ได้ 90 วัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ศูนย์กลางทางด้านการแพทย์และสุขภาพของโลก และหวังจะติด 1 ใน  5 ประเทศปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวภายในปี 2070 เหตุผลที่ทำให้ไทยเป็นที่นิยมนั้น เป็นเพราะความเชื่อมั่นในการรักษา ค่าบริการไม่แพงจนเกินเอื้อมเมื่อเทียบกับคุณภาพการรักษา เทคโนโลยีทางการแพทย์ล้ำสมัย และประเทศไทยยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนระหว่างรอรับบริการ เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายก่อนเดินทางกลับประเทศอีกด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรไว้วางใจคงหนีไม่พ้น การที่สถานพยาบาลได้รับการยอมรับ Joint Commission International หรือ JCI องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้กับสถานพยาบาลทั่วโลกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 75 ปี ซึ่งประเทศไทยมีโรงพยาบาลได้รับมาตรฐานนี้กว่า 65 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยคงหนีไม่พ้น ประเทศใกล้เคียงอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เนื่องจากแต่ละประเทศมีข้อได้เปรียบแตกต่างกันไป อย่างสิงคโปร์ก็โดดเด่นทางด้านมาตรฐานทางการแพทย์ระดับสูงและปลอดภัย เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของผู้มีอำนาจใช้จ่าย ฟิลิปปินส์ มีความเชี่ยวชาญทางทันตกรรม และการผ่าตัดเสริมความงามคุณภาพดีในราคาประหยัด ขณะที่เกาหลีใต้ มีความก้าวล้ำของเทคโนโลยีและชื่อเสียงด้านศัลยกรรมความงามก็เป็นที่เลื่องลือมาโดยตลอด

ทั้งหมดนี้คือความท้าทายของประเทศไทย ซึ่งอาจต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเข้มแข็ง และก้าวเข้าสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้ตามเป้าหมาย



แหล่งอ้างอิง :

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ