30 สิงหาคม 2024
50 อ่านข่าวนี้
2 เดือนก่อน
0
แผนแม่บท :
แผนแม่บท การเติบโตอย่างยั่งยืน
หมวดหมู่ :
#18.1การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว
Bhadla Solar Park คือสวนพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในทะเลทรายธาร์ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย มีกำลังการผลิต 2,245 เมกะวัตต์ เพียงพอจะให้แสงสว่างกับบ้านเรือนมากกว่า 4.5 ล้านครัวเรือนของประเทศ โดยรัฐบาลอินเดียทุ่มงบประมาณราว 44,750 ล้านบาท ถือว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของอินเดียในการเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้ง 35,410 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เพื่อประชาชนในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
กว่า 75% ของกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในอินเดีย ส่วนใหญ่ผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน เมื่อเทียบกับสัดส่วนของไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 10% เท่านั้น ขณะที่อินเดียเป็น 1 ใน 3 ประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก รองจากจีน และสหรัฐอเมริกา
แต่หลังจากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย ประกาศ วาระปัญจามฤต (Panchamrit Agenda) หรือแผนห้าข้อเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในปี 2021 ระบุว่าภายในปี 2030 จะลดการใช้พลังงานถ่านหินลงกว่า 60% ของกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าของทั้งประเทศ เปลี่ยนเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เข้ามาแทนที่ พร้อมตั้งเป้าหมายผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 100 กิกะวัตต์ภายในปี 2026 สวนพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ จึงมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายไปสู่การผลิตพลังงานสีเขียวเป็นอย่างมาก
หากอินเดียกำหนดเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในกลางศตวรรษนี้ สถาบัน Institute for Energy Economics and Financial Analysis (IEEFA) ระบุว่า อินเดียจะต้องมีพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 1.7 - 2.5% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ
Bhadla Solar Park ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนประเทศเข้าสู่เป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยในทะเลทรายธาร์สามารถรับปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่อาจมีสูงถึง 5.7 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวัน ดังนั้น โรงไฟฟ้าแห่งนี้จึงสามารถใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม สวนพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้ ยังคงพบกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาด้านการบำรุงรักษา เนื่องจากต้องเผชิญกับลมและฝุ่นจากทะเลทรายปกคลุมบนแผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรับรังสีดวงอาทิตย์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่แผงโซลาร์เซลล์จะต้องได้รับการบำรุงรักษาเป็นประจำ และต้องปราศจากฝุ่น แต่การตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งท่ามกลางทะเลทราย จึงเป็นการยากไม่น้อยที่จะคงสภาพให้อยู่ในสถานะพร้อมใช้งาน
นอกจากจะช่วยผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว Bhadla Solar Park ยังมีส่วนช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้มากกว่า 20 ล้านต้น ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงาน ช่วยให้ประชาชนในเขตนอกโครงข่ายระบบไฟฟ้าของรัฐบาล สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคได้ไม่ต่างจากคนเมือง
ในปี 2022 อินเดียมีกำลังการผลิตติดตั้งในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานลมสูงสุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ดังนั้น การลงทุนในกลุ่มพลังงานสะอาด ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโลกลดลงอย่างรวดเร็ว และอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่ประสบความสำเร็จในการลดค่าใช้จ่าย ด้านการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต่อหน่วยถูกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
สุดท้ายแล้ว หากต้นทุนเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล นับเป็นกุญแจสำคัญในการปรับเปลี่ยนโลกเข้าสู่ยุคพลังงานสีเขียวอย่างแท้จริง
อ้างอิง :
- Das, T. K. (2024, April 2). Why Bhadla Solar Park is Important for India. Retrieved, https://dasenergie.com/blog/bhadla-solar-park-largest-solar-power-plant-in-india/
- Freyr Energy. (n.d.). Solar Innovation at Scale: Technologies Used in Bhadla Solar Park. Retrieved, https://freyrenergy.com/solar-innovation-at-scale-technologies-used-in-bhadla-solar-park/
- Gupta, P. (2022, October 14). India's solar-powered future clashes with local life. Retrieved, www.bbc.com/news/business-62848096
- Times, G. C. (n.d.). Where is the World's Largest Solar Park? Retrieved, www.greencitytimes.com/bhadla-solar-park-india/