Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

Global Boiling ภาวะโลกเดือด ที่รุนแรงยิ่งกว่าโลกร้...

30 สิงหาคม 2024 110 อ่านข่าวนี้ 2 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การเติบโตอย่างยั่งยืน  
หมวดหมู่ : #18.3การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ 


สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง ฝนตกหนักผิดฤดู ไฟป่าโหมกระหน่ำ คลื่นความร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ยากจะคาดเดา ทุกอย่างคือสิ่งที่โลกของเรากำลังส่งเสียงเตือนมายังมนุษยชาติ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศอย่างชัดเจนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 ว่า หมดยุคโลกร้อน เข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) อย่างเต็มตัว หลังจากโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสภาพอากาศมาเป็นเวลานับทศวรรษ 

ยุคโลกเดือด หรือ Global Boiling เป็นสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถควบคุมได้ ต่างจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่มีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) และศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) ได้เผยข้อมูลว่า เดือนกรกฎาคม 2023 จัดเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดนานถึง 3 สัปดาห์ และมี 3 วันที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมในช่วงปี 1850-1900 ถึง 1.43 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 เดือนของปี 2016 ถึง 0.10 องศาเซลเซียส

นอกจากอุณหภูมิบนผิวโลกแล้ว อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มระดับความร้อนสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมาในช่วงเวลาเดียวกันของปี คริส เฮวิตต์ (Chris Hewitt) ผู้อำนวยการฝ่ายบริการข้อมูลภูมิอากาศ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก นำชุดข้อมูล 173 ปีมาวิเคราะห์ พบว่าช่วงปี 2015 - 2022 เป็นเวลา 8 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า นี่คือทศวรรษที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วและชัดเจนที่สุดนับตั้งแต่ปี 1970 

แม้จะมีปรากฏการณ์ลานีญา เข้ามาช่วยลดอุณหภูมิโลกให้เย็นลงเพียงเล็กน้อย แต่ยุคสมัยนั้นได้จากไปแล้ว และถูกแทนที่ด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลอุ่นขึ้น คาดว่า 1 ใน 5 ปีข้างหน้าโลกของเราจะร้อนระอุกว่าที่เคยมีมา

ถึงจะเป็นเพียงการคาดการณ์ แต่นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มีโอกาส 98% ที่อย่างน้อย 1 ใน 5 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา และมีโอกาส 66% ที่อุณหภูมิโลกจะสูงเกินเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมอยู่ช่วงหนึ่งภายในเวลา 1 ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่าสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยทุกประเทศต้องพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

“ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลง ยุคโลกเดือดเปิดฉากขึ้นแล้ว” อันโตนิโอ กูเตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวถึงหายนะของโลก หากหลายประเทศไม่เริ่มหันมาดูแลโลกใบเดียวของเราอย่างจริงจัง

“มนุษยชาติกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น”

หากกล่าวว่าโลกที่กำลังเดือด คือ ผลพวงจากการกระทำของมนุษย์คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ เช่น กลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง ต้องเผชิญกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้น บางพื้นที่ชายฝั่งเสียหายจากการถูกกัดเซาะ กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และภาคธุรกิจที่ต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำเนินธุรกิจ เช่น ภาคการท่องเที่ยวหรือเกษตรกรรายย่อย รวมถึงคนเมืองเองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน แต่ยังเป็นอันตรายต่อสัตว์และพืชมากกว่าหนึ่งล้านชนิด ถือเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่จากน้ำมือของมนุษย์ก็ว่าได้

ยิ่งโลกเดือดเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยิ่งย่ำแย่ลงเท่านั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ จากรายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 (Fourth National Communication - NC4) จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme - UNDP) พบว่า ภาคการเกษตร การประมง และกลุ่มอาชีพผู้ผสมและเพาะพันธุ์สัตว์ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก สูญเสียรายได้ไปราว 83,826 ล้านบาทต่อปี นับเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

เกือบทุกภูมิภาคในไทยประสบปัญหาปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลันและภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ โดยถูกจัดอยู่อันดับที่ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2000 – 2017) 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หากมองในภาพรวม ทั่วทั้งโลกต่างได้รับผลกระทบจากยุคโลกเดือดไม่ต่างกัน เช่น  

  • แอฟริกาตะวันออก ปริมาณน้ำฝนในปี 2020 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของฤดูฝนติดต่อกัน 5 ปี นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดในรอบ 40 ปี ประชากรราว 20 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร
  • แคนาดา เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงในปี 2023 ทำลายพื้นที่ป่ามากกว่า 15 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 93 ล้านไร่) นักดับเพลิงเสียชีวิต 8 ราย และประชาชน 230,000 คนต้องพลัดถิ่น ส่วนกลางปี 2024 ฤดูไฟป่าเริ่มขึ้นเร็วกว่าปกติ เนื่องจากต้องเผชิญกับความแห้งแล้งระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่จะเร่งให้เปลวไฟลุกลาม และอาจต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้ง
  • ญี่ปุ่น อุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ออกคำเตือนฉุกเฉินถึงฝนตกหนักในจังหวัดฟุกุโอกะและจังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชู หนึ่งในสี่เกาะสำคัญของประเทศ พบปริมาณน้ำฝนสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บตัวเลขโดยอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นในปี 1976
  • จีน ในปี 2021 เกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดของมณฑลเหอหนาน ทางภาคกลางของจีน ฝนตกหนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี ประชาชนกว่า 2 แสนคนต้องอพยพ พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองมีน้ำท่วมสูงถึงกว่า 1.5 เมตร และมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 3 ล้านคน 
  • กรีนแลนด์ ในช่วงปี 2002 – 2020 สูญเสียน้ำแข็งไปแล้วประมาณ 279 พันล้านตันต่อปี ซึ่งการหดตัวของน้ำแข็งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกระแสน้ำ AMOC หรือกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม สายธารหลักในมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากปริมาณน้ำจืดมหาศาล จะเข้าไปรบกวนการไหลเวียนของกระแสน้ำทำให้ไหลช้าลง และนั่นจะสร้างหายนะครั้งใหญ่ต่อระบบนิเวศ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องลงมือใส่ใจโลกใบนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการดูแลสิ่งมีชีวิตร่วมโลกให้อยู่คู่มนุษย์ไปตราบนานเท่านาน เริ่มก่อนทุกอย่างจะสาย เพื่อไม่ให้โลกของเราถึงคราวล่มสลายและเดือดดาลไปมากกว่านี้

อ้างอิง :

  • BBC. (2022, June 15). กระแสน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้หยุดไหล จ่อส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก. Retrieved from https://www.bbc.com/thai/international-61805941
  • Carrington, D. (2024, May 8). World’s top climate scientists expect global heating to blast past 1.5C target. Retrieved from https://www.theguardian.com/environment/article/2024/may/08/world-scientists-climate-failure-survey-global-temperature
  • Copernicus. (2023, Novenber 8). Copernicus: October 2023 - Exceptional temperature anomalies; 2023 virtually certain to be warmest year on record. Retrieved from https://climate.copernicus.eu/copernicus-october-2023-exceptional-temperature-anomalies-2023-virtually-certain-be-warmest-year
  • Niranjan, A. (2023, July 27). ‘Era of global boiling has arrived,’ says UN chief as July set to be hottest month on record. Retrieved from https://www.theguardian.com/science/2023/jul/27/scientists-july-world-hottest-month-record-climate-temperatures
  • Spring News. (2021, July 23). จีนระเบิดเขื่อนเปลี่ยนทิศทางน้ำ สกัดน้ำท่วมเจิ้งโจวซ้ำ หลังเจอฝนพันปี. Retrieved from https://www.springnews.co.th/blogs/news/812849#google_vignette
  • Sustainability For all. (n.d.). The era of global boiling: the latest twist in the climate crisis. Retrieved from https://www.activesustainability.com/climate-change/global-boiling/?_adin=11734293023
  • United Nations Development Programme. (2024). Thailand’s Fourth National Communication. THE KINGDOM OF THAILAND.
  • United Nations Development Programme. (2024, April 29). Global Boiling and Climate Change: Which sector in Thailand is the largest contributor of greenhouse gas emissions? Retrieved from https://www.undp.org/stories/greenhouse-emissions-thailand
  • United Nations. (2023, July 27). Hottest July ever signals ‘era of global boiling has arrived’ says UN chief. Retrieved from https://news.un.org/en/story/2023/07/1139162
URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ