สวีเดนเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก กฎหมายและนโยบายจากภาครัฐที่เข้มงวด ส่งผลให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และนั่นทำให้สวีเดนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่แทบจะปราศจากขยะเลยก็ว่าได้
วิธีการกำจัดขยะของสวีเดนมุ่งเน้นไปที่รากของปัญหา ปฏิวัติระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ พบว่าขยะเกือบ 60% ของโลกจะลงเอยอยู่ในหลุมฝังกลบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการปล่อยสารพิษและสารอันตรายออกสู่ชั้นบรรยากาศ
จากรายงานของ International Solid Waste Association (ISWA) ระบุว่า ภายในปี 2025 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 10% ของโลกจะมาจากขยะในหลุมฝังกลบ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ขยะในหลุมฝังกลบปล่อยก๊าซมีเทนสูงเป็นอันดับสามของโลก ก๊าซพิษที่ทำร้ายชั้นบรรยากาศรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า ซึ่งในสหรัฐฯ มีปริมาณก๊าซมีเทนสูงถึง 15% ของมลพิษทางอากาศในประเทศ แต่ในสวีเดนมีเพียง 10% เท่านั้นที่ทำร้ายโลกใบนี้
เหตุผลที่สวีเดนเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เป็นเพราะรัฐบาลประกาศอย่างชัดเจนว่า จะเป็นประเทศผู้นำแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2045 โดยเห็นได้จากการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงถึง 56% ของพลังงาน และจากข้อมูลของ Swedish Environmental Protection Agency (Naturvårdsverket) ในปี 2022 มีขยะในประเทศราว 4.8 ล้านตันต่อปี ประมาณ 1.8 ล้านตันของขยะทั้งหมดจะถูกนำไปเผา เพื่อผลิตพลังงาน ส่วนที่เหลือจะถูกรีไซเคิลหรือฝังกลบ โดยรัฐบาลได้วางกรอบนโยบายเอาไว้ว่า ในอนาคตขยะจากหลุมฝังกลบจะต้องเหลือเพียง 1%
ข้อกำหนดและเป้าหมายหลักของรัฐบาลสวีเดนในการนำประเทศเข้าสู่ความยั่งยืน มีดังนี้
- การลดปริมาณขยะฝังกลบ
สวีเดนตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะฝังกลบให้เหลือเพียง 1% ของขยะทั้งหมดในประเทศ โดยมุ่งเน้นไปยังการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลและการเผาขยะเพื่อผลิตพลังงาน ปัจจุบันขยะที่เผามีอยู่ราว 35-40% ของขยะทั้งหมด ส่วนขยะฝังกลบมีเพียง 10% - การบังคับใช้กฎหมาย
ตั้งแต่ปี 2020 สวีเดนได้บังคับใช้กฎหมายห้ามฝังกลบขยะที่สามารถรีไซเคิลได้หรือที่มีมูลค่า เช่น ขยะพลาสติก และกระดาษ โดยใช้หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ผู้ก่อมลพิษความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม โดยเรียกเก็บเงินค่าขยะตามน้ำหนักที่แต่ละครัวเรือนผลิตได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรีไซเคิล พร้อมทั้งตั้งเป้าลดน้ำหนักขยะอาหาร 20% ต่อคน ตั้งแต่ปี 2020 - 2025 - การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ประเทศก้าวเข้าสู่ความยั่งยืน แม้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอาจปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการลดมลพิษทางอากาศ ความสำเร็จของสวีเดน ทำให้หลายประเทศทั่วโลก เช่น สหราชอาณาจักร ลิทัวเนีย โปแลนด์ ไอร์แลนด์ และสเปน เริ่มพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากขยะมากขึ้นเช่นกัน - การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการรีไซเคิลและการจัดการขยะ แนวทางที่จะช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบ ตัวอย่างเช่น ในปี 2019 เมืองเอสกิลส์ทูนา ได้คิดนโยบายคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยถุงใส่ขยะหลากสี แบ่งออกเป็น 7 สี เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกขยะ และสามารถบรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรปในการรีไซเคิลขยะได้มากถึง 50% ภายในปี 2020 อีกด้วย - การลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 สวีเดนกำจัดขยะโดยวิธีการเผา และได้ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด เช่น เทคโนโลยีการเผาขยะสะอาดและการรีไซเคิลขั้นสูง จากรายงานของ Avfall Sverige ระบุว่า การเผาขยะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 1 ล้านตันต่อปี
สวีเดนยังคงปรับปรุงและพัฒนากฎหมายและนโยบายการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แม้จะมีขยะเฉลี่ยตกบ้านละ 467 กิโลกรัมต่อคนต่อครัวเรือน คิดเป็น 4.8 ล้านต้นที่ผลิตขึ้นทุกปี แต่การที่ประชาชนสามารถตระหนักรู้ถึงคุณค่าของขยะ ว่าไม่ได้เป็นของไร้ประโยชน์ แต่ยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลและสร้างเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนใช้ซ้ำภายในประเทศ นับเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้สวีเดนก้าวเข้าสู่ประเทศต้นแบบแห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง
อ้างอิง :
- Folk, E. (2023, April 11). Waste Management in Sweden: Perspectives. Retrieved from https://www.bioenergyconsult.com/waste-management-sweden/
- Igini, M. (2022, May 26). How Sweden is Successfully Turning Waste to Energy. Retrieved from https://earth.org/sweden-waste-to-energy/
- Natur Vards Verket. (2023, July 6). Municipal waste management in Sweden. Retrieved from https://www.naturvardsverket.se/en/topics/waste/municipal-waste-management-in-sweden/
- Swedish Institute. (n.d.). Sweden is aiming for zero waste. Let's see what this means to a family in Stockholm. Retrieved from https://sweden.se/climate/sustainability/swedish-recycling-and-beyond
- นัฐกานต์ ขำยัง, น. (2023). การจัดการขยะพลาสติก : กรณีศึกษาราชอาณาจักรสวีเดน.