Notifications

You are here

ห่วงโซ่คุณค่า

การท่องเที่ยวที่ใช้ ‘กีฬา’ นำทาง เจาะลึกการท่องเที...

02 กันยายน 2024 345 อ่านข่าวนี้ 2 เดือนก่อน 0
แผนแม่บท : แผนแม่บท การท่องเที่ยว  
หมวดหมู่ : #05.3การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทย 


การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่น่าจับตามอง ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่จบลงไปได้อย่างสวยงาม และยังสามารถสร้างบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศ 

 Visa บริษัทข้ามชาติให้บริการด้านการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก เผยข้อมูลหลังจบการแข่งขันว่า สามารถกระตุ้นการค้าในกรุงปารีสได้อย่างมหาศาล ธุรกิจขนาดเล็กและร้านค้ารายย่อยในกรุงปารีสมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 26% และยังพบว่า จำนวนนักเดินทางอายุต่ำกว่า 35 ปี เพิ่มขึ้นถึง 120% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา (เพิ่มขึ้น 64%) เยอรมนี (เพิ่มขึ้น 61%) และสเปน (เพิ่มขึ้น 27%) บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักถึงแก่นของการท่องเที่ยวเชิงกีฬาว่ามีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร


การท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือ Sports Tourism คือการเดินทางท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวข้องกับกีฬา ตั้งแต่เข้าร่วมแข่งขันกีฬา เข้าชมการแข่งขันกีฬา ไปจนถึงการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา เช่น การเดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลโลก การเข้าร่วมวิ่งมาราธอน การเล่นกอล์ฟที่สนามชื่อดัง หรือการเข้าชมการแข่งขันโอลิมปิก 

การท่องเที่ยวเชิงกีฬาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

  1. การท่องเที่ยวในงานหรือมหกรรมกีฬา (Event Sports Tourism) การท่องเที่ยวเพื่อเข้าร่วมงานแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันฟุตบอลโลก โอลิมปิก และเอเชียนเกมส์ 
  2. การท่องเที่ยวเพื่อการเล่นกีฬา (Active Sports Tourism) การท่องเที่ยวเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาโดยตรง เช่น วิ่งมาราธอน ปั่นจักรยาน หรือกีฬาสายแอดเวนเจอร์
  3. การท่องเที่ยวเพื่อความทรงจำ (Nostalgia Sports Tourism) การเดินทางมาเพื่อเยี่ยมชมสถานที่ที่มีความสำคัญทางด้านกีฬา เช่น พิพิธภัณฑ์กีฬา สนามกีฬาประวัติศาสตร์ หรือบ้านเกิดของนักกีฬาชื่อดัง

ส่วนประเทศที่มีความโดดเด่น จนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าร่วมกิจกรรมทางกีฬาได้เป็นจำนวนมากนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ทางกีฬามาอย่างยาวนาน เช่น 

  1. สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจของโลกผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Super Bowl, NBA Finals, US Open (เทนนิส) และบอสตันมาราธอน ในปี 2019 มีนักวิ่งเข้าร่วมมากกว่า 30,000 คน และมีการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีเมืองต่าง ๆ ที่เป็นศูนย์กลางการกีฬา เช่น ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ก และไมอามี โดยการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของการท่องเที่ยวทั้งหมด 
  2. สเปน ที่ตั้งของสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น บาร์เซโลนาและเรอัลมาดริด มีการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตชื่อดังอย่าง Formula 1 Spanish Grand Prix ที่ดึงดูดผู้ชมจากทั่วโลก ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงกีฬาเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของสเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ ๆ เช่น บาร์เซโลนาและมาดริด
  3. อังกฤษ ประเทศต้นกำเนิดของกีฬาหลากชนิด เช่น ฟุตบอล เทนนิส และรักบี้ ซึ่งทุกปีมีการแข่งขันที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคน สนามกีฬาในอังกฤษอย่าง Wembley, Old Trafford และ Wimbledon Stadium ล้วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม เมื่อดูสัดส่วนการท่องเที่ยวเชิงกีฬาคิดเป็น 5-10% ของการท่องเที่ยวทั้งหมดในอังกฤษ
  4. ออสเตรเลีย มีชื่อเสียงในด้านการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ เช่น Australian Open, Melbourne Cup และการแข่งขันคริกเก็ต การท่องเที่ยวเชิงกีฬาในออสเตรเลียมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ และคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 14% ของการท่องเที่ยวทั้งหมด
  5. ญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกหลายรายการ ตัวอย่างเช่น โอลิมปิก โตเกียว 2020 มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมมากกว่า 4 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีการแข่งขันกีฬาประจำปีที่ได้รับความนิยมอย่าง ซูโม่ และมาราธอน การท่องเที่ยวเชิงกีฬากลายเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้คึกคัก

ส่วนการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในประเทศไทย เริ่มได้รับการผลักดันจากภาครัฐมาตั้งแต่ปี 1996 หลังจากไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจัดงานกีฬาใหญ่ระดับภูมิภาค และเป็นก้าวแรก ที่ไทยเริ่มเข้ามามีบทบาทในเวทีการท่องเที่ยวเชิงกีฬาอย่างจริงจัง การท่องเที่ยวเชิงกีฬาในไทยยังได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติหลายรายการ เช่น การแข่งขันมวยไทย การแข่งขันกอล์ฟ และการแข่งขันมาราธอนในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ในปี 2021 การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เผยผลสำรวจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในประเทศไทย จาก 48.59 ล้านคนบนสื่อโซเชียลมีเดียทุกช่องทางมี 7.2 หมื่นคนที่ให้ความสนใจในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยมี 3 กีฬาหลักที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ เซิร์ฟบอร์ด (58.6%) นิยมท่องเที่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน, เจ็ตสกี (24.9%) นิยมเดินทางในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน, และ เซิร์ฟสเกต (16.5%) เริ่มคึกคักในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พยายามผลักดัน 4 ประเภทกีฬา คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ มวยไทย ปั่นจักรยาน และการวิ่งมาราธอน 

จากข้อมูลของ World Travel & Tourism Council (WTTC) และ องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) พบว่าการท่องเที่ยวเชิงกีฬามีสัดส่วนประมาณ 10-15% ของการท่องเที่ยวทั้งหมดทั่วโลก ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศและประเภทของกิจกรรมกีฬาที่จัดขึ้น  Global Market Insight ระบุว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงกีฬามีมูลค่า 564.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10% ในช่วงปี 2024-2032 เนื่องมาจากความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ ในปี 2023 กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมงานหรือมหกรรมกีฬามีจำนวนประมาณ 55% และจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2032 เนื่องจากนักเดินทางเกินกว่าครึ่งนิยมท่องเที่ยวแบบไม่เน้นเข้าร่วมกิจกรรม แต่ขอดูอยู่ห่าง ๆ เกาะขอบสนามอย่างใกล้ชิดมากกว่า 




อนาคตการท่องเที่ยวเชิงกีฬาดูเหมือนจะเติบโตขึ้น ทั้งในแง่จำนวนและกำลังซื้อ เนื่องจากการขยายตัวของกีฬาและความนิยมที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในกีฬาหลากหลายประเภท ดังจะเห็นได้จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) รับรองให้ 5 กีฬา ได้แก่ คริกเก็ต แฟลกฟุตบอล ลาครอส สควอช และเบสบอล-ซอฟต์บอล เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันอิทธิพลของโซเชียลมีเดียก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทั่วทั้งโลก หันมาสนใจกีฬากันมากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงกีฬาไม่เพียงแต่ดึงดูดนักกีฬาและผู้ติดตามจากต่างประเทศเข้ามาเท่านั้น หากแต่ยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกด้วย



แหล่งอ้างอิง :
  • CBI. (2023, January 2). The European market potential for sports tourism. Retrieved from https://www.cbi.eu/market-information/tourism/sport-tourism/market-potential#which-european-countries-offer-most-opportunities-for-sports-related-tourism
  • Global Market Insights. (2024, March). Sports Tourism Market - By Sports (Soccer/Football, Cricket, Basketball, Tennis, Hockey), By Tourism (Active, Passive, Nostalgia), By Booking Channel (Online Booking Platforms, Direct Bookings, Travel Agencies, Social Media Platforms), By Sporting Activit.
  • Visa. (2024, August 6). Visa Data Shows Spending at the 2024 Olympic Games is Boosting the French Economy. Retrieved from https://investor.visa.com/news/news-details/2024/Visa-Data-Shows-Spending-at-the-2024-Olympic-Games-is-Boosting-the-French-Economy/default.aspx
  • Wisesight . (2021, December 20). การท่องเที่ยวเชิงกีฬาในประเทศไทยปี 2564. Retrieved from https://wisesight.com/th/news/thaisporttourin2021/
  • ธนวัฒน์ รัตนเดโช. (เดือนมกราคม – มิถุนายน). การศึกษาเปรียบเทียบวัตถุประสงค์ในการเดินทางไปท่องเที่ยวเชิงกีฬาวิ่งของนักท่องเที่ยวเชิงกีฬา. วารสารการพัฒนาการท่องเที่ยว ปีที่ 2 ฉบับที่ 1. Retrieved from file:///C:/Users/D3401/Downloads/jstd,+%7B$userGroup%7D,+%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ