Sustainable Tourism การท่องเที่ยวยั่งยืนกลายเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สังคม วัฒนธรรม และส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน ขยายตลาดการท่องเที่ยวท้องถิ่น เพิ่มรายได้การท่องเที่ยวในระดับประเทศ ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ประเทศไทยและหลาย ประเทศทั่วโลกให้คำมั่นในการทำภารกิจให้ลุล่วงภายในปี พ.ศ. 2573 ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกมิติ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว มีข้อมูลระบุว่ากว่า 3 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการท่องเที่ยวยั่งยืน จึงไม่แปลกที่การท่องเที่ยวยั่งยืนจะเป็นอนาคตการท่องเที่ยวของคนทั้งโลกนับจากตอนนี้
ท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) คืออะไร
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม บนความสมดุลและตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว และสร้างประโยชน์ให้ผู้ประกอบการและชุมชน ประกอบด้วย 3 มิติหลัก ได้แก่
1) มิติสิ่งแวดล้อม อาทิ การอนุรักษ์ทรัพยากรและธรรมชาติ การใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะและของเสีย การลดปริมาณพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ฯลฯ
2) มิติสังคม อาทิ วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ
3) มิติเศรษฐกิจ อาทิ การกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม การสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน การขจัดความยากจน ฯลฯ
รูปแบบการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism)
• การท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) เน้นกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืน
• การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community - Based Tourism) เน้นการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรและวัฒนธรรมชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
การปรับตัวของธุรกิจกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
• ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร วางแนวทางลดคาร์บอน ใช้วัสดุรีไซเคิล ใช้สินค้าท้องถิ่น เช่น มาตรฐานโรงแรมสีเขียว สัญลักษณ์โรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel)
• ธุรกิจขนส่ง ลดคาร์บอนให้มากที่สุด เช่น เครื่องบินพลังงานทางเลือก ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น ธุรกิจบริการร่วมเดินทางผ่านแอปพลิเคชัน
• ธุรกิจจัดการการท่องเที่ยว จองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก แพ็กเกจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีการันตีรักษ์โลกเพื่อนักท่องเที่ยวสายกรีน
5 นวัตกรรมท่องเที่ยวยั่งยืนไทย ยกระดับด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่น
1) ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Wellness Tourism Innovation) มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจบนพื้นฐานความยั่งยืนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น นวดสมุนไพร สุคนธบำบัด วารีบำบัด ฯลฯ โครงการแนะนำ เช่น Tourapy นวัตกรรมท่องเที่ยวดูแลสุขภาพใจ โดยมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยานำทัวร์ ฯลฯ
2) เที่ยวเชิงประสบการณ์อย่างสร้างสรรค์ (Local Experiential Tourism Innovation) เน้นการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับชุมชนและท้องถิ่น จัดกิจกรรมอย่างกลมกลืนและสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน เช่น DoiSterNomad ท่องเที่ยวและพักโฮมสเตย์ร่วมกับเจ้าบ้านชนเผ่าต่างๆ ฯลฯ
3) ความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว (Safe and Secure Tourism Innovation) พิจารณาจากการกระทำของมนุษย์และสภาพแวดล้อม เช่น ล้วงกระเป๋า ฉ้อโกง ฯลฯ ความบกพร่องด้านมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ความผิดพลาดจากการก่อสร้าง ฯลฯ นักท่องเที่ยวสร้างความไม่ปลอดภัยให้ตัวเอง เช่น ทำกิจกรรมโลดโผน ฯลฯ ความไม่ปลอดภัยจากสภาวะแวดล้อม เช่น พืชและสัตว์อันตราย ฯลฯ โครงการแนะนำ เช่น ตู้แดง SOS ตู้แจ้งความฉุกเฉิน แจ้งเหตุแก่ตำรวจโดยไม่ต้องไปที่สถานีตำรวจ โต้ตอบเพื่อแจ้งพิกัดเหตุฉุกเฉินได้
4) ท่องเที่ยวด้านอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น (Gastronomic Tourism Innovation) เช่น Local Aroi นำเสนออาหารท้องถิ่นจากวัตถุดิบชุมชน ฯลฯ
5) ท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมและความบันเทิง (Cultural and Entertainment Tourism Innovation) เน้นชมการแสดงวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ศิลปะแขนงต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ต่าง ๆ อย่างสวนสัตว์ สวนสนุก ยิมมวยไทย สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ โครงการแนะนำ เช่น อินไซส์วัดโพธิ์ แอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยี VR สร้างการเรียนรู้จิตรกรรมในพระอุโบสถวัดโพธิ์แบบใกล้ชิด มีทั้งไทยและอังกฤษ ฯลฯ
หลักพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) มีหลักการเบื้องต้นในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้แก่
• เรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ ทรัพยากร วิถีชีวิต และจัดการภายใต้ขีดความสามารถของระบบธรรมชาติ
• ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและความต้องการของชุมชน
• สร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว
• เน้นการออกแบบที่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและใช้วัสดุในท้องถิ่น
• เน้นการผสมผสานการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนสู่แผนพัฒนาระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ
• กระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมสู่ท้องถิ่น
แนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทย
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทยจะอยู่ที่ 33.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 15.8% ระหว่างปี 2024 ถึง 2034 ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ถึง 143.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2034
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทยมีแต่เติบโต ได้แก่
• การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในไทย มุ่งลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นและสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม วัฒนธรรมหลากหลาย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง
• แคมเปญการท่องเที่ยวของไทย สนับสนุนการรักษาระบบนิเวศที่หลากหลาย รวมถึงอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชายฝั่ง ป่าฝนเขตร้อน มีการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น การจัดการขยะ การประหยัดพลังงาน การปกป้องสัตว์ป่า เป็นต้น
• อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย เป็นหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศไทยที่เน้นความสัมพันธ์ที่สุภาพระหว่างนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น มีการให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่น สนับสนุนช่างฝีมือในพื้นที่ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
• ส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น การพักโฮมสเตย์ ทัวร์ที่มีไกด์ท้องถิ่น และกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินโดยชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างพลังเศรษฐกิจให้กับชุมชน
มาถึงวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน อีกทั้งภาครัฐร่วมมือกับภาคการศึกษาและภาคเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่สำคัญการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน เป็นอีกปัจจัยที่คาดว่าจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต
แหล่งอ้างอิง :
- www.adt.or.th/page/sustainable-tourism/en
- www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/regional-articles/reg-article-2021-16.html
- www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/sustainable-tourism-2024
- www.linney.com/thoughts/trends/travel-trends-2024
- www.bbc.com/travel/article/20240109-10-destinations-welcoming-sustainable-travellers-in-2024
- www.nia.or.th/Sustainable-Tourism-Innovation-in-Thailand
- www.futuremarketinsights.com/reports/thailand-sustainable-tourism-market
URL อ้างอิง: