Gastronomy Tourism การท่องเที่ยวเชิงอาหารเป็นอีกเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังมาแรง เพราะวัฒนธรรมอาหารไม่มีวันหายจากโลกใบนี้ วิถีเข้าใจกิน เข้าใจถิ่นที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ผสานกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง จึงนับเป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยวที่คนรุ่นใหม่แชร์ประสบการณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ช่วยอนุรักษ์เมนูท้องถิ่นอย่างยั่งยืนพร้อมกับสร้างนิเวศการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน
ท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) คืออะไร
การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายที่มีอาหารและเครื่องดื่มท้องถิ่นเพื่อสัมผัสวัฒนธรรมการกิน ดื่ม ตลอดจนการผลิตที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวฟาร์ม ทัวร์ทำอาหาร ท่องไร่ท่องสวน ฯลฯ ไปจนถึงการผลิตสินค้าที่ระลึก การจัดการอาหารท้องถิ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวยุคใหม่เป็นนักแสวงหาชั้นเลิศที่พร้อมลองลิ้มชิมรสอาหารท้องถิ่นแปลกใหม่ ชื่นชอบรสชาติที่แตกต่าง และสืบสานเรื่องราวของแต่ละท้องถิ่น เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงอาหารที่สมบูรณ์
ทำไมนักท่องเที่ยวถึงอยากมาท่องเที่ยวเชิงอาหาร
• รื่นรมย์ ต้องการเติมเต็มความสุข ความรู้สึก และสัมผัสประสบการณ์กินอาหาร
• สงสัยและใฝ่รู้ ค้นพบอะไรใหม่ๆ ประสบการณ์ที่แตกต่าง
• แสดงออกถึงตัวตน ที่มีความแตกต่างและโดดเด่น
• สืบค้นรากฐานของอาหาร ในแต่ละพื้นที่
• กังวลเหนื่อยล้า อยากท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน ผ่อนคลายกับอาหารที่ไม่เคยกินหรือไม่ได้กินประจำ
การเติบโตของ Gastronomy Tourism
ตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ทั่วโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 16.8% และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 1,796.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 โดยตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบ 4% ในตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั่วโลก
สิ่งสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวเชิงอาหารดึงดูดนักท่องเที่ยวได้คือ คุณภาพอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารที่ได้รับรางวัล Michelin Star เป็นแรงดึงดูดสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว เพราะเป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์ที่มีการกระตุ้นความรู้สึกและได้สัมผัสวิถีชีวิตคนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว อีกทั้งได้อนุรักษ์วัฒนธรรมและเพิ่มคุณค่าให้ท้องถิ่น อาหารจึงเป็นทรัพย์สินมูลค่าสูงในการท่องเที่ยวยุคใหม่
วิถีกินเที่ยวขยายพรมแดนออกไป เพราะการได้กินเท่ากับการได้เที่ยว ใครจะคิดว่าการท่องเที่ยวเชิงอาหารจะได้รับความนิยมรองจากท่องเที่ยวธรรมชาติ แต่ในโลกที่ผู้คนสนใจคอนเทนต์ที่มีเรื่องราว การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) จึงมีแต่จะเติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย การใช้โซเชียลมีเดียที่ง่ายดาย ทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวเชิงอาหารได้ในทุกพื้นที่ทั่วโลก ติดต่อกันได้อย่างสะดวก อาหารจึงไม่ใช่แค่การกินเพื่ออยู่ แต่คือไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ในชีวิต
พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยั่งยืน
แนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างยั่งยืน แบ่งออกเป็น
• ผู้ประกอบการร้านอาหาร เน้นการนำเสนอประสบการณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การใช้วัตถุดิบท้องถิ่น กระบวนการผลิตและการดูแลวัตถุดิบ เพื่อให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงความดั้งเดิมแท้จริง อาจมีการทดลองทำและกินอะไรแปลกใหม่ และเน้นเมนูอาหารจากพืช (Plant - based Food) ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน โดยทำในรูปแบบเมนูที่สวยงามน่าทาน ส่งเสริมวัตถุดิบจากชุมชน และเน้นการช่วยลดภาวะโลกร้อน นำไปสู่การบอกต่อในวงกว้าง
• นักท่องเที่ยว เข้าใจการกินอาหารให้หมดจานและเน้นการกินอาหารจากพืช (Plant - based Food) ให้มากขึ้น เพื่อช่วยโลกจากภาวะโลกร้อน สามารถให้ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นเกี่ยวกับอาหารและบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงอาหารให้พัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป