PLAY - BASED LEARNING เรียนรู้ผ่านการเล่น
PLAY -
BASED LEARNING เรียนรู้ผ่านการเล่น
การเล่นไม่ได้มีแต่ความสนุก
แต่ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นหรือ
Play-Based Learning ที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านสังคม อารมณ์
ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาได้ ทั้งยังนำไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่และปรับอารมณ์ให้สมดุลท่ามกลางความเพลิดเพลินจากการเล่น
Play -
Based Learning คืออะไร
การเรียนรู้ผ่านการเล่น
(Play - Based Learning) คือ กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่ผสมระหว่างการสอนและการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนระดับปฐมวัยเป็นหลัก
โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเล่นอย่างอิสระผ่านกิจกรรมปลายเปิดที่สนุกสนานสอดคล้องกับหัวข้อที่กำลังเรียนรู้และมีผู้สอนเป็นผู้ออกแบบกิจกรรม
สอดแทรกความรู้ กระตุ้นการเรียน และตั้งคำถามผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
ปัจจัยการออกแบบ Play - Based Learning
- ผู้เรียนเป็นผู้เลือกเอง ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือกกิจกรรม วิธีการดำเนินงาน และระยะเวลาที่ใช้ โดยผู้สอนให้คำแนะนำเบื้องต้นได้ แต่ผู้เรียนจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดของกิจกรรมด้วยตนเอง
- กิจกรรมที่สนุกเพลิดเพลิน การเรียนรู้ผ่านการเล่นควรสร้างความสนุกสนาน ดึงดูดความสนใจของผู้เรียน เพราะความเพลิดเพลินเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ผู้เรียนมีอิสระในการสำรวจ ค้นหาคำตอบ และแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง โดยกิจกรรมควรเป็นแบบปลายเปิดที่ไม่มีข้อจำกัดตายตัวเพื่อส่งเสริมการคิดอย่างอิสระ
- มุ่งเน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ เป้าหมายสำคัญของการเรียนรู้ผ่านการเล่นคือกระบวนการเรียนรู้ ระหว่างการเล่นที่ไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้าย เด็กจะได้ฝึกฝนทักษะผ่านการลงมือทำและทดลองสิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวเอง
- กระตุ้นจินตนาการ การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมักมาพร้อมความคิดสร้างสรรค์ การใช้จินตนาการ การจำลองสถานการณ์ และการเล่นบทบาทสมมติ ช่วยให้เด็กเข้าใจโลกและพัฒนาทักษะทางสังคมได้ดียิ่งขึ้น
5 พัฒนาการจาก Play
- Based Learning
1) ทักษะทางสังคมและอารมณ์
(Social and Emotional Skills) เช่น
การสื่อสาร (Communication)
การรู้จักรอคอยลำดับของตนเอง (Taking Turns) การแบ่งปัน
(Sharing) การทำงานร่วมกัน (Cooperation) การแก้ปัญหา (Problem Solving) ช่วยให้ปรับตัวเมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ๆ
จัดการอารมณ์ตนเองได้อย่างเหมาะสม
2) ทักษะด้านภาษาและการอ่านออกเขียนได้
(Language and Literacy Development) พัฒนาผ่านการพูดคุยกับเพื่อนและการเล่นบทบาทสมมติ
ส่งเสริมการสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ
ครูสนับสนุนพัฒนาการภาษาด้วยการแนะนำคำศัพท์ใหม่ กระตุ้นการตั้งคำถาม
และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการสนทนา
3) ทักษะการสร้างสรรค์และจินตนาการ
(Creativity and Imagination) ในการเปลี่ยนสิ่งของรอบตัวเป็นสิ่งต่างๆ
เช่น ท่อนไม้เป็นมีด แก้วน้ำเป็นโทรศัพท์ การเล่นบทบาทสมมติ เช่น คุณหมอ คุณครู
พ่อแม่ ช่วยพัฒนาการแก้ปัญหาและความสามารถในการคิดเชิงออกแบบ
รากฐานสำคัญของการคิดเชิงสร้างสรรค์ในอนาคต
4) ทักษะความกล้าหาญ (Courage) การเรียนรู้ผ่านการเล่นช่วยให้เด็กกล้าแสดงออก
กล้าสื่อสาร ทดลองสิ่งใหม่ๆ โดยไม่รู้สึกกดดัน รู้สึกมีอิสระในการเรียนรู้
มั่นใจมากขึ้นในการแสดงความคิดเห็นและลงมือทำ
5) ทักษะทางร่างกาย (Motor
Skills) กิจกรรมอย่างวาดภาพ ระบายสี ต่อบล็อก
เล่นบทบาทสมมติช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor Skills) ในขณะที่การปีนป่าย
กระโดด วิ่ง หรือเต้นเข้าจังหวะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor
Skills) ซึ่งเป็นพื้นฐานการเคลื่อนไหวและการทำกิจกรรมต่างๆ
ในชีวิตประจำวัน
Play - Based Learning ไม่ได้จำกัดอยู่ที่กิจกรรม เกม หรือของเล่นเสมอไป แต่คือแนวทางที่ช่วยปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่นทางปัญญา และทัศนคติที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้
องค์ประกอบสำคัญของ Play - Based Learning
- การมีส่วนร่วม (Engagement) ผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความสนใจของเด็กๆ ผ่านคำถามเชิงกลยุทธ์ เพื่อจูงใจให้เกิดความสงสัยและอยากหาคำตอบ ช่วยให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครู รวมถึงระหว่างเพื่อนร่วมชั้น ช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมไปพร้อมกัน
- การพัฒนาตนเอง (Self - Development) กระบวนการเรียนรู้เกิดจากความสนใจของเด็กเป็นหลัก เด็กจึงมีโอกาสเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง ช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถในการพัฒนาตนเองและสร้างแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเอง
- การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Innovative Skills) ครูกระตุ้นการเรียนรู้และสนับสนุนให้เด็กพัฒนาตนเอง เด็กสามารถนำความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยเสริมทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์และปลูกฝังแนวคิดในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ
- การสะท้อนคิดในการเรียนรู้ (Reflection) เด็กได้ทบทวนและสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์กับผู้อื่น เข้าใจเนื้อหาที่เรียนรู้ได้ลึกซึ้ง นำประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ครั้งต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยออตโตวา ประเทศแคนาดา พบว่า การเรียนรู้ผ่านการเล่นไม่ใช่แค่สนุกสนาน แต่ช่วยในการพยายามเผชิญอุปสรรค หาวิธีแก้ปัญหา เป็นโอกาสที่เด็กๆ ได้ฝึกรับมือกับอารมณ์เชิงลบ เช่น ความเครียด ความสับสน การเปลี่ยนแปลง ความกังวล รวมถึงแก้ปัญหาเรียนไม่ทัน การเรียนถดถอยอย่างราบรื่น
ข้อมูลอ้างอิง :
-
codegeniusacademy.com/play-based-learning/
-
klearningspace.com/news-blogs/whatisplay-basedlearning/
-
mybrightwheel.com/blog/what-is-play-based-learning
-
thepotential.org/family/play-based-learning/
-
www.beyondcodeacademy.com/post/play-base-learning-beyondcode
-
www.education.wa.edu.au/play-based-learning
-
www.starfishlabz.com/blog/791-play-based-learning-เรียนรู้ผ่านการเล่น-วิธีพัฒนาตัวเองแบบไม่เครียด
-
www.trueplookpanya.com/dhamma/content/92743
-
www.wonderschool.com/blog/family-resources/what-is-play-based-learning

