การพัฒนาการเรียนรู้

Sarva Shiksha Abhiyan ปฏิวัติการศึกษาให้เด็กทุกคนมีที่ยืน

17 เมษายน 2025
|
14 อ่านข่าวนี้
|
0

Sarva Shiksha Abhiyan ปฏิวัติการศึกษาให้เด็กทุกคนมีที่ยืน

    แม้ว่าการศึกษาจะเป็นเครื่องมือพัฒนาคน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสให้กับคนคนหนึ่ง แต่วันนี้ยังมีเด็กๆ ที่ยังคงใช้ชีวิตนอกระบบการศึกษา ข้อมูลจาก UNESCO เมื่อปี 2024 ระบุว่า มีเด็กอยู่นอกระบบการศึกษาราว 255 ล้านคน แล้วการที่จะพาเด็กคนหนึ่งกลับเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1,438 ล้านคน และมีเด็กๆ ที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษา 1.17 ล้านคนทั่วประเทศอินเดียก็ยิ่งจัดการยากขึ้น ที่อินเดียจึงมี โครงการ Sarva Shiksha Abhiyan’ (SSA) หรือ โครงการการศึกษาสำหรับทุกคนจากแนวคิดของรัฐบาลในช่วงปี 2001 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการลงทุนด้านการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมายให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

Sarva Shiksha Abhiyan คืออะไร?

    Sarva Shiksha Abhiyan (SSA) เป็นโครงการระดับชาติของอินเดียที่เปิดตัวในปี 2001 มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจน หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและมีอายุระหว่าง 6 - 14 ปี ทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาอย่างมีคุณภาพ 

หลังจากนั้น มีการขยายแนวทางไปสู่การศึกษาภาคบังคับภายใต้ พระราชบัญญัติสิทธิในการศึกษา (Right to Education Act: RTE) ปี 2009 ซึ่งกำหนดให้การศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคน SSA ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและหน่วยงานท้องถิ่น มีเป้าหมายทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่

    1) การเข้าถึงการศึกษา - ขยายโอกาสให้เด็กทุกคนสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา

    2) คุณภาพการศึกษา - ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กมีความรู้และทักษะที่จำเป็น

    3) การลดความเหลื่อมล้ำ - ส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กหญิง เด็กจากครอบครัวยากจน และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

    4) โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก - พัฒนาโรงเรียน เพิ่มครู และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำและอุปกรณ์การเรียน

โครงการ Sarva Shiksha Abhiyan (SSA) ได้รับการยอมรับว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญในอินเดีย ซึ่งมุ่งมั่นให้ทุกเด็กได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืนในระยะยาว


การลดความเหลื่อมล้ำ คือ ผลลัพธ์ที่มองเห็นได้

    หนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญของ SSA คือการเพิ่มอัตราการเข้าเรียนของเด็กทั่วอินเดีย ข้อมูลระบุว่าอัตราการลงทะเบียนเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 82% ในปี 2000 เพิ่มเป็นมากกว่า 96% ในปี 2013 นอกจากนี้ จำนวนเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนลดลงจาก 26 ล้านคนเหลือเพียง 7.5 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน

    การลงทุนของ SSA ยังครอบคลุมถึงการสนับสนุนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (Children with Special Needs - CWSN) โดยเน้นหลักการ ‘Zero Rejection Policy’ ซึ่งหมายถึงจะไม่มีเด็กคนไหนถูกปฏิเสธจากระบบการศึกษา รัฐบาลอินเดียจัดสรรงบประมาณให้เด็กกลุ่มนี้ปีละ 1,200 รูปีต่อคน เพื่อใช้ในด้านสื่อการเรียนรู้ อุปกรณ์ช่วยเหลือ และการฝึกอบรมครู

    นอกจากนี้ SSA ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น Kasturba Gandhi Balika Vidyalaya (KGBV) ที่จัดตั้งโรงเรียนประจำสำหรับเด็กหญิงจากครอบครัวที่ยากจน นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือเด็กจากชนกลุ่มน้อยและชุมชนชนบท เช่น การให้ทุนการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงยังมีกฎเกณฑ์สำหรับผู้หญิง อย่างการให้ทุนสนับสนุน การสร้างห้องน้ำเฉพาะสำหรับนักเรียนหญิง และการฝึกอบรมครูให้เข้าใจปัญหาด้านเพศสภาพ ซึ่งมีส่วนช่วยให้อัตราการเข้าเรียนของเด็กหญิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ผลลัพธ์จากโครงการ Sarva Shiksha Abhiyan (SSA) ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอินเดีย ไม่เพียงแค่การเพิ่มอัตราการเข้าเรียน แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนเด็กกลุ่มเปราะบาง ซึ่งทำให้ SSA กลายเป็นก้าวสำคัญในการสร้างโอกาสทางการศึกษาและเสริมสร้างความเสมอภาคในสังคมอินเดีย

ช่องว่างที่ยังต้องเติมเต็ม

    แม้ว่าโครงการ Sarva Shiksha Abhiyan (SSA) จะประสบความสำเร็จในการเพิ่มอัตราการเข้าเรียน แต่ยังคงมีความท้าทายที่ต้องเผชิญเพื่อให้การศึกษาในอินเดียยั่งยืนและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น หนึ่งในปัญหาหลักคือคุณภาพการศึกษาที่ไม่ได้พัฒนาไปพร้อมกับอัตราการเข้าเรียน แม้เด็กจำนวนมากจะเข้าโรงเรียน แต่ผลการศึกษาพบว่าเด็กในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มากกว่าครึ่งไม่สามารถอ่านหนังสือในระดับที่เหมาะสมกับวัยของตน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณภาพการเรียนรู้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่

    นอกจากนี้ แม้รัฐบาลอินเดียจะลงทุนเงินจำนวนมากใน SSA แต่ต้นทุนการศึกษาต่อหัวในโรงเรียนรัฐบาลกลับสูงกว่าโรงเรียนเอกชนถึงสองเท่า โดยที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลับต่ำกว่า โรงเรียนรัฐบาลหลายแห่งยังมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีการฝึกอบรมเพียงพอ และภาวะว่างงานของครูที่สูง

    อีกหนึ่งปัญหาคือการย้ายออกจากโรงเรียนรัฐบาลสู่โรงเรียนเอกชน โดยในช่วงปี 2010-2015 อัตราการลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนรัฐบาลลดลงกว่า 13 ล้านคน ขณะที่โรงเรียนเอกชนกลับมีนักเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 35 ล้านคน  รวมถึงโรงเรียนในชนบทหลายแห่งยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ไฟฟ้า ห้องน้ำสะอาด และอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง

ไม่ควรมีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

    ความท้าทายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาเป็นเพียงก้าวแรกในการปฏิรูปการศึกษา และยังต้องมีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบการศึกษาทั่วประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ในระยะยาว  โครงการ Sarva Shiksha Abhiyan เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการมุ่งมั่นเพื่อให้ทุกเด็กได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แม้จะยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายที่ต้องเผชิญ แต่ก้าวแรกที่สำคัญนี้ก็ได้เปลี่ยนอนาคตของเด็กหลายคน  แต่ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเด็กคนใดต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา และมั่นใจว่ารัฐบาลจะยังคงช่วยเปิดประตูสู่โอกาสและอนาคตที่ดีกว่าสำหรับเด็กทุกคนในสังคม



ข้อมูลอ้างอิง :

        - Ministry of Human Resource Development. (2004). Manual for Planning and Appraisal under Sarva Shiksha Abhiyan. Government of India.

        - Ministry of Human Resource Development. (2017). Sarva Shiksha Abhiyan: Manual for District-Level Functionaries. Government of India. Retrieved from ssashagun.nic.in/docs/SSA-Frame-work.pdf

        - riseprogramme.org/blog/more-money-same-approaches-won-t-work-lessons-sarva-shiksha-abhiyan-india.html

        - worldtop20.org/out-of-school-children/

        - www.aicte-india.org/reports/overview/Sarva-Shiksha-Abhiyan

        - www.indiatoday.in/education-today/news/story/over-117-million-out-of-school-children-in-india-uttar-pradesh-leads-2647547-2024-12-10

        - www.sarvashikshaabhiyan.com/

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI