Notifications

You are here

บทความ

เทรนด์คนเมือง ยิ่งเมืองยิ่งนอนดึก

24 มกราคม 2023 430 อ่านข่าวนี้ 1 ปีก่อน 11


               เที่ยงคืนแล้ว คุณนอนกันหรือยัง?

            ถ้าเป็นสมัยก่อน ส่วนใหญ่ก็คงจะเข้านอนแล้ว แต่ทุกวันนี้แนวโน้มของมนุษย์เมืองกลับนอนกันดึกขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งใช้ชีวิตอย่างอิสระและยืดหยุ่นเวลากับการทำงานมากขึ้น จนก่อให้เกิดสังคมคนนอนดึกหรือนอนน้อย (Sleepless Society) ที่แผ่ขยายกลายเป็นเทรนด์ฮิตไปทั่วโลก รวมถึงคนเมืองในเมืองไทยด้วย

            ทั้งนี้ คำว่านอนดึกหรือนอนน้อย ตามนิยามของ Sleepless Society มีความหมายเดียวกัน เพราะนอนดึกส่งผลให้ชั่วโมงการนอนน้อยลง โดยผลสำรวจพฤติกรรมการนอนของคนทั่วโลกพบว่า หลายประเทศนอนดึกขึ้นอย่างน่าตกใจ เช่น จากเว็บไซต์ World Economic Forum มีผลสำรวจของแอปพลิเคชัน Sleep Cycle ระบุว่าคนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และซาอุดีอาระเบีย เฉลี่ยแล้วนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน หรือข้อมูลจาก AIA’s Healthy Living Index ชี้ว่าคนฮ่องกงนอนแค่ 6.5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ส่วนคนไทยตามรายงานของ เอไอเอ ประกันชีวิต เมื่อไม่นานนี้ ก็พบว่าจำนวนประชากร 61% นอนกันไม่ถึง 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นชั่วโมงการนอนที่น้อยเกินไป เนื่องจากตามปกติคนเราควรนอนกันให้ได้วันละ 7-9 ชั่วโมง 


            แต่วิถีของคนเมืองตอนนี้กลับเป็นไปในทางตรงข้าม ยามค่ำคืนอันควรเป็นห้วงเวลาแห่งการนอนอย่างมีความสุข ทว่าดวงไฟในเมืองยังคงส่องสว่าง บ่งบอกให้รู้ว่าพวกเขายังไม่นอนและกำลังนอนดึกขึ้นทุกที

            แล้วอะไรคือเหตุปัจจัยทำให้คนเมืองนอนดึกจนกลายเป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในตอนนี้ นอกเหนือจากเหตุผลเดิมๆ ที่ว่า เมืองเป็นแหล่งงานและโอกาสในการศึกษา คนจึงย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองหนาแน่นและเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพื่อจะหางานทำเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ทำให้ต้องทำงานหนักและเลิกงานดึก หรือทำงานหามรุ่งหามค่ำจนเลยเวลานอน

            คำตอบเดาได้ไม่ยาก นั่นคือเมื่อเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และความพร้อมของสาธารณูปโภค พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของคนเมืองก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ยิ่งสังคมโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ก็ยิ่งทำให้ผู้คนติดต่อสื่อสารและทำงานกันได้อย่างสะดวกสบายตลอดเวลา ขอแค่มีอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อถึงกันก็พอแล้ว


            ยิ่งกว่านั้นคนเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ยังหันมาทำงานอิสระหรือเป็นฟรีแลนซ์กันมากขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่าอาชีพคนทำงานอิสระปี 2563 เพิ่มสูงขึ้น 2.3 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเกือบ 50% เป็นคนอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ อีกทั้งภาพรวมทั่วประเทศในช่วง 4-5 ปีมานี้ ก็พบว่าตัวเลขของคนหันมาทำงานอิสระสูงขึ้นถึง 29.9% ต่อปีทีเดียว

            ดังนั้นคนเมืองส่วนใหญ่ในยุคนี้ จึงไม่จำเป็นต้องตื่นเช้าเข้าออฟฟิศทำงานแล้วกลับบ้านในตอนเย็นเหมือนเมื่อก่อน ในเมื่อพวกเขาสามารถกำหนดเวลาทำงานและสถานที่เองได้ โดยอาจจะเริ่มงานตอนสาย บ่าย หรือเย็นแล้วต่อเนื่องไปถึงดึกดื่น ก็ไม่มีใครว่า แถมกิจกรรมหลายอย่างที่เคยทำเวลากลางวันก็เลื่อนไปทำเวลากลางคืนได้ ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้ง ดูหนังฟังเพลง หรือเม้าท์มอยกับเพื่อนๆ บวกรวมกับพฤติกรรมเสพติดมือถือ ติดเกม ติดซีรีส์ ติดเล่นหุ้น บลาบลาบลา...และหลายคนมีโอกาสทำงานอยู่กับบ้านในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ไม่ต้องทำงานตาม Office Time เหล่านี้ก็ยิ่งเป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมให้คนเมืองยิ่งนอนดึกจนติดเป็นนิสัย ถึงขนาดบางคนลากยาวไปนอนตอนเช้าของอีกวันก็มี


            เมื่อคนเมืองนอนดึกจนขยายตัวกลายเป็นเทรนด์ขนาดใหญ่ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมในหลากหลายด้าน หากพูดถึงในด้านของเศรษฐกิจ เทรนด์นี้ได้ช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจตอบโจทย์ชีวิตกลางคืนอย่างน่าพอใจ เช่น ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ-ร้านอาหารบริการตลอดคืน, แหล่งแฮงก์เอาต์เปิด 24 ชั่วโมง, Co-Working Space เอาใจคนนอนดึก หรือฟิตเนสที่เข้าไปออกกำลังกายได้ไม่จำกัดเวลา โดยเฉพาะธุรกิจขายสินค้าทางออนไลน์ ยอดขายทะลุเป้าเกือบทุกแพลตฟอร์ม เพราะยิ่งนอนดึกคนก็ยิ่งอยากช้อปปิ้ง    

แต่ในอีกด้านของเทรนด์คนเมืองนอนดึก ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมามากมาย โดยงานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้น ยืนยันว่าคนนอนดึกตื่นสายมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายชนิด ตั้งแต่โรคนอนไม่หลับ โรคภูมิแพ้ โรคปวดศีรษะ เบลอ สมาธิสั้น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคสมองเสื่อม ไปจนถึงโรคร้ายอย่างมะเร็งลำไส้ เนื่องจากสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ได้สัมพันธ์กับนาฬิกาชีวภาพ (Biological Clock) หรือนาฬิกาชีวิตในร่างกายคนเรา ซึ่งเป็นตัวกำหนดการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา เมื่อนาฬิกาชีวภาพยังคงทำงานตรงตามปกติ ร่างกายของคนนอนดึกจึงปั่นป่วนรวนเร จนหลายคนถึงกับเสียชีวิตเพราะการนอนดึก

นอกจากนั้นการนอนดึกยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง โดยมีสถิติชี้ว่าคนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับคนที่นอนเพียงพอ และทำให้สูญเสียเวลาที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ราว 6 วันต่อคนต่อปี ซึ่งถ้าคิดเป็นเม็ดเงินทั่วทั้งโลกก็นับว่ามหาศาล


เทรนด์คนเมืองนอนดึก เข้าทำนอง ยิ่งอยู่เมืองก็ยิ่งนอนดึก เพราะหลายเหตุปัจจัยเอื้ออำนวยและผลักดันให้พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์เป็นไปอย่างนั้น คงยากจะยับยั้งหรือต้านกระแสได้ จึงอยู่ที่คนเมืองแต่ละคนเองนั่นแหละว่า จะเลือกเอาอย่างไรกับชีวิตดี

อยากเป็นคนนอนดึกตามเทรนด์ หรือคนนอนดึกน้อยลงแล้วปรับไลฟ์สไตล์ใหม่ โดยจัดสรรเวลาระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต (Work Life Balance) ให้สมดุลยิ่งขึ้น

บางทีไม่ต้องเปิดไฟเมืองทั้งคืน แล้วนอนดึกก็ได้ แต่ให้นอนเร็วหน่อยแล้วตื่นเช้าขึ้น เพื่อจะได้ทำงานอย่างกระฉับกระเฉง จะดีกว่ามั้ย… 

ข้อมูลอ้างอิง : World Economic Forum, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, กรมสุขภาพจิต 

URL อ้างอิง:

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ