'เมือง'
ถือเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับประชากรในทุกประเทศ
เพราะถือเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
เป็นจุดหมายปลายทางของการหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย
ข้อมูลจากธนาคารโลกพบว่า เขตตัวเมืองในประเทศไทยขยายตัวจาก 2,400 มาเป็น 2,700
ตารางกิโลเมตร ระหว่างปี 2543 ถึง 2553 คิดเป็นอัตราขยายตัว 1.4% ต่อปี
และประชากรเมืองในประเทศไทย (ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มากกว่า 100,000 คน)
ได้เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนมาเป็นมากกว่า 11 ล้านคนแล้ว
ชีวิตของผู้คนในเมืองจึงมีความน่าสนใจในหลายๆ
มิติ ในบทความชิ้นนี้จะขอหยิบยกเรื่อง 'การจับจ่ายใช้สอยของคนในเขตเมือง'
ว่ามีลักษณะอย่างไรและมีแนวโน้มไปในทิศทางใดในอนาคต
จากงานวิจัย 'คนเมือง 4.0:
อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 5 - การซื้อของในเมือง' โดย พรสรร
วิเชียรประดิษฐ์ และอภิวัฒน์ รัตนวราหะ เสนอต่อสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 เผยแพร่เมื่อปี
2563
งานชิ้นนี้ศึกษาเกี่ยวกับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันของคนในเมือง
ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับการค้าปลีก ทั้ง ‘การค้าปลีกแบบดั้งเดิม’ (traditional
trade) ‘การค้าปลีกสมัยใหม่’ (modern trade)
ซึ่งกําลังถูกท้าทายด้วยการค้าปลีกรูปแบบใหม่ คือ 'อีคอมเมิร์ซ' (E-commerce)
ที่กําลังเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนเมืองมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

การถดถอยของ
'ค้าปลีกดั้งเดิม' ส่วน 'ร้านสะดวกซื้อ' รุกคืบพื้นที่เมืองเรื่อยๆ
งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน 'การค้าปลีกดั้งเดิม'
(ตลาดสด ร้านโชห่วย และอื่นๆ) ขยายตัวลดลง สวนทางกับ 'การค้าปลีกสมัยใหม่'
(ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ) ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างเช่น 'ร้านโชห่วย' ที่เคยมีความสำคัญในชุมชนเมือง จากสถิติสัดส่วนแบ่งตลาดอุปโภคและบริโภคในปี
2555 และ 2560 พบว่า ร้านโชห่วยและร้านค้าในชุมชนมีส่วนแบ่งที่ 34.3%
ส่วนร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น แฟมิลีมาร์ท มีส่วนแบ่งที่ 13.8% ในปี
2555 แต่ในปี 2560 พบว่า ส่วนแบ่งของร้านโชห่วยและร้านค้าในชุมชนลดลงเหลือ 32.4%
ส่วนร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 17% โดยปัจจุบันประเทศไทยมีร้านสะดวกซื้อต่อจำนวนประชากร
อยู่ที่ราว 200 สาขาต่อประชากร 1 ล้านคน
และยังสามารถเติบโตได้อีกมากตามการขยายพื้นที่เมืองในประเทศไทย
ในเมืองที่มีกลุ่มคนชั้นกลางและคนโสดมากขึ้นนั้น
ได้สร้างวิถีการบริโภคภายใต้ระบบ 'เศรษฐกิจขี้เกียจ' (Lazy Economy)
ที่ตอบสนองผู้บริโภคที่เน้นสบายและชอบความรวดเร็ว มีความสะดวกทุกด้าน
ภายใต้วิถีทางเศรษฐกิจเช่นนี้
ธุรกิจร้านสะดวกซื้อรายใหญ่จึงให้บริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมคนเมือง เช่น
ร้านสะดวกซื้อที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง มีการใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น
มีบริการส่งอาหารถึงบ้าน ให้บริการที่หลากหลายมากขึ้นในรูปแบบวันสต็อปเซอร์วิส
เช่น การเพิ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเป็น 5,000 รายการ บริการอาหารปรุงสด
บริการรับส่งพัสดุ บริการทางารเงิน และการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ ร้านสะดวกซื้อจึงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว
ไม่เฉพาะกับร้านโชห่วยเท่านั้น แต่ยังท้าทายธุรกิจรายเล็กอื่นๆ ในชุมชน เช่น
ร้านอาหารตามสั่ง ร้านขายผลไม้ แผงลอยต่างๆ ด้วย

'อีคอมเมิร์ซ' และ
'บริการช่วยซื้อ'
ผู้บริโภคในเมืองยังใช้ 'อีคอมเมิร์ซ' มากขึ้น จากเดิมที่เคยใช้บริการร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ
เปลี่ยนไปใช้ช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะการซื้อของผ่าน ‘แอปพลิเคชัน’
ที่เติบโตขึ้นมาควบคู่กับการใช้ ‘สมาร์ตโฟน’ ของคนไทย
การที่อีคอมเมิร์ซเติบโต
ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจโลจิสติกส์ที่เฟื่องฟูมากขึ้น และความสะดวกทางธุรกรรมการเงินอย่างเช่นในปัจจุบัน
ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น
อีกทั้งยังเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันซึ่งมีเวลาจำกัด
นอกจากนี้
'บริการช่วยซื้อ' หรือ บริการตัวแทนในการเดินทางไปซื้อของหรือทำธุรกรรมต่างๆ เช่น
การส่งของ การจ่ายบิล ก็สามารถประหยัดเวลาในการใช้ชีวิตในเมืองได้
ผู้ให้บริการช่วยซื้อมีหลายประเภท เช่น บริการช่วยซื้อสินค้าทั่วไป อาทิ GrabBike
(Delivery) และ Lalamove บริการช่วยซื้อและจัดส่งอาหาร เช่น GrabFood Lineman
FoodPanda และ GET และบริการช่วยซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น GrabFresh
HappyFresh และ Lineman Mart Service เป็นต้น
บริการช่วยซื้อเหล่านี้สามารถตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบให้สามารถก้าวข้ามปัญหาการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพฯ
และปริมณฑลได้
'รถพุ่มพวง' ตัวเลือกของ
'คนชานเมือง-กลุ่มเปราะบาง'
งานวิจัยชิ้นนี้ระบุถึงรถเร่ขายกับข้าว หรือที่มักถูกเรียกว่า 'รถพุ่มพวง'
ถือเป็นอีกช่องทางการเข้าถึงอาหารสดและอาหารปรุงสำเร็จในชีวิตประจำวันของคนเมือง
โดยรถพุ่มพวงจะนำสินค้าจากตลาดสด เช่น อาหารสด ของแห้ง
ใส่ในรถกระบะที่มีการดัดแปลง เพื่อเร่ขายไปยังชุมชนที่ห่างไกลจากตลาด
หรือพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรที่การเข้าออกไม่สะดวก
กลุ่มลูกค้าของรถพุ่มพวงที่สำคัญคือ 1) กลุ่มลูกค้าในหมู่บ้าน ซึ่งประกอบไปด้วย
ผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง แม่บ้าน และคนรับใช้ 2)
กลุ่มลูกค้าในโรงงานและไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านเวลาในการเดินทางไปซื้อของ
รถพุ่มพวงจึงเป็นการเติมเต็มการให้บริการสาธารณูปโภคของเมืองที่ไม่เพียงพอ และขยายขอบเขตการให้บริการไปให้ผู้ที่อยู่ชานเมือง ถึงแม้รถพุ่มพวงจำหน่ายสินค้าในราคาที่แพงกว่าตลาดประมาณ
10-15% แต่กลุ่มลูกค้าก็เลือกใช้บริการจากรถพุ่มพวง
เพราะถือว่าเป็นการซื้อความสะดวกจากข้อจำกัดที่ตัวเองมีอยู่
'12 ภาพอนาคต'
การซื้อของคนในเมือง
ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ให้ภาพ 'อนาคตฐาน'
(baseline future) จากแนวโน้มสำคัญที่มองเห็นอยู่ในปัจจุบันไว้ 12 ภาพอนาคต
ดังนี้
1. การซื้อของออนไลน์จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยห้างสรรพสินค้าจะได้รับผลกระทบชัดที่สุด พื้นที่ให้เช่าภายในอาคารที่ว่างเพิ่มมากขึ้น และถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่สำหรับการใช้ประโยชน์อื่น
เช่น สำนักงาน พื้นที่สำหรับชุมชน หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัย
เป็นต้น
2. ร้านสะดวกซื้อจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น และจะมีการเพิ่มบริการอย่างต่อเนื่อง
อาจแตกออกเป็นแบรนด์ย่อยที่มีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ
กลุ่มครอบครัวที่มีเด็กเล็ก กลุ่มผู้รักสุขภาพ เป็นต้น
โดยจะมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นตามแหล่งชุมชนต่างๆ
ทำให้ความหนาแน่นของร้านสะดวกซื้อต่อประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มมากขึ้น
3. ร้านค้ารายย่อยที่ยังอยู่เป็นร้านอาหารหรือร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ ร้านค้ารายย่อยที่ยังคงอยู่รอด
ส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารหรือร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ
โดยในพื้นที่กลางเมืองจะเน้นการให้บริการแก่คนทำงานและนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่
ในขณะที่ร้านค้ารายย่อยชานเมืองจะกระจุกอยู่ตามแหล่งชุมชนเพื่อบริการคนที่เดินทางไปกลับจากการทำงานในเมือง
4. ตลาดขนาดเล็กจะเริ่มปิดตัวลง
โดยเฉพาะในพื้นที่ชานเมือง เนื่องจากความต้องการที่ดินไปพัฒนากิจการอื่นมีมากกว่า
ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองจะพึ่งพาซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดนัดมากขึ้น
ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กน่าจะขยายตัวมากขึ้น
5. ห้างสรรพสินค้าจะปรับตัวไปให้บริการอย่างอื่นมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าที่กระจายอยู่ในเมืองและตามชานเมืองในปัจจุบัน
จะมีพื้นที่ขายที่ว่างมากขึ้น และจะถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ร้านอาหาร
หรือกิจการอย่างอื่น เช่น ฟิตเนส โรงเรียนสอนตัดเย็บ โรงเรียนสอนเต้น ให้เช่าสำหรับหน่วยราชการที่ต้องบริการประชาชน
หรือกลายเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมของชุมชน เป็นต้น
6. การขนส่งสินค้าจะเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน
ปริมาณการขนส่งสินค้าจะเพิ่มมากขึ้น
เพราะมีอุปสงค์ที่เกิดจากส่วนที่เป็นอีคอมเมิร์ซ
และส่วนที่เป็นการซื้อที่ร้านและจัดส่งภายหลัง
เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความสะดวกในเวลาที่ซื้อของปริมาณมาก
7. แพลตฟอร์มของอีคอมเมิร์ซจะเติบโตขึ้น ในที่สุดจะเหลือผู้ให้บริการอยู่ไม่กี่ราย
โดยจะมีแพลตฟอร์มของผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งรับผิดชอบการขายสินค้าออนไลน์ของกิจการในเครือและพันธมิตร
8. เมืองจะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด การชำระเงินมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในรูปแบบไร้เงินสดมากขึ้นเนื่องจากตลาดอีคอมเมิร์ซจะเติบโตขึ้น
รวมถึงนโยบายสนับสนุนของรัฐและกลุ่มธุรกิจธนาคารที่พยายามผลักดันให้ลดการใช้เงินสด
9. การจ้างงานในภาคบริการจะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากมีรูปแบบการค้าที่จะโตขึ้นและบางส่วนจะถดถอยลงไป
ในขณะที่การจ้างงานในภาคขนส่งจะเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากปริมาณการขนส่งสินค้าจะเพิ่มมากขึ้นดังที่กล่าวไว้
10. ระบบโลจิสติกส์จะเป็นการขยายผล
ผู้ประกอบการขนส่งเอกชนน่าจะขยายโครงข่ายการให้บริการได้กว้างขวางขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มีผู้ประกอบการหลายรายที่ให้บริการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อสร้างความแตกต่าง
และผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งต่างๆ อาจสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการขนส่งบางรายเป็นพิเศษ
คลังขนส่งสินค้าขนาดเล็กจะเพิ่มมากขึ้นในทุกบริเวณของพื้นที่เมือง
11. ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงช่องทางการซื้อจะมากขึ้น กลุ่มคนที่มีทางเลือกจะไม่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงมากนัก
เนื่องจากมีช่องทางใหม่ๆ สำหรับการซื้อของเพิ่มมากขึ้น
แต่กลุ่มคนที่มีทางเลือกในการซื้อของน้อย เช่น คนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี
หรือเดินทางไม่สะดวกอาจจะได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมของการซื้อของในเมืองที่เปลี่ยนไป
12. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะจะกระตุ้นอีคอมเมิร์ซและการพัฒนาเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะจะเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้อีคอมเมิร์ซขยายตัวมากยิ่งขึ้น
เพราะผู้คนต้องการลดความเสี่ยงในการเดินทางที่ไม่จำเป็น
มีการขนส่งสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เช่น โดรนขนส่งสินค้า เป็นต้น
รัฐต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม-ให้ความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว
จากภาพอนาคตฐานทั้ง 12 ข้อที่กล่าวมา
ในงานวิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับอนาคตฐานของการซื้อของของคนเมืองในกรุงเทพฯ
คือ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน:
ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ที่มองว่า
ภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
เช่น ศูนย์โลจิสติกส์รวม
หรือสนับสนุนให้ภาคเอกชนพัฒนาให้สอดคล้องกับระบบที่วางเอาไว้ ทั้งการเชื่อมต่อกับการขนส่งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบสื่อสารดาวเทียม
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ ต้องกำกับดูแล
รวมถึงส่งเสริมภาคเอกชนที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการตลาด:
ความสะดวกในการเข้าถึงและการแข่งขันที่เป็นธรรม ภาครัฐควรเข้ามามีส่วนบริหารจัดการตลาดที่กำลังเปลี่ยนโฉมไปสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น
โดยการสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกในการเข้าถึงสินค้า สร้างมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการให้บริการเพื่อผู้ด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี
ไม่ทิ้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสไว้ข้างหลัง นอกจากนี้
ภาครัฐยังจำเป็นต้องสร้างกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่เป็นธรรม
รวมทั้งส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการที่หลากหลาย เพื่อป้องกันการผูกขาดของตลาด
และ ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ: ความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว ปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยก้าวหน้ามาพอสมควรแล้ว
แต่ภาครัฐควรมีส่วนเข้ามาสร้างมาตรฐานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำธุรกรรมต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจและความโปร่งใสให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ภาครัฐควรกำกับดูแลการนำข้อมูลของประชาชนไปใช้ เช่น
การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในเชิงการตลาดจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน
เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
URL อ้างอิง:
https://www.khonthai4-0.net/content_detail.php?id=114