ทำไมต้อง ตามหากะทิ : ครบรอบ 20 ปี ความสุขของกะทิ ไอเดียบ่มเพาะนักเขียนของงามพรรณ เวชชาชีวะ

21 กุมภาพันธ์ 2023
|
1444 อ่านข่าวนี้
|
14

 


                นับตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรกในปี 2546 ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2549 แปลและจำหน่ายในกว่า 11 ประเทศ ที่แต่ละหน้า แต่ละบรรทัดค่อยๆ เข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้อ่าน ในปี 2566 “ความสุขของกะทิ” นวนิยายของผู้เขียนซีไรท์ “งามพรรณ เวชชาชีวะ” ได้เดินทางมาถึงปีที่ 20 และพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 115 ที่นับได้ว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งสำหรับวงการหนังสือเมืองไทย

                 ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ผู้เขียนได้ตัดสินใจออก “ตามหากะทิ” ชื่อโครงการรับสมัคร Writer in Residence หรือ นักเขียนในพำนัก ให้ไม่ว่าใครก็ตามที่มุ่งมั่นอยากสร้างความสุขผ่านงานเขียน ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการได้ โดยมีรางวัลเป็นเงิน 100,000 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณส่วนตัวของนักเขียนซีไรท์เอง พร้อมเข้าพัก เรียนรู้ และใช้เวลาสร้างสรรค์งานที่บ้านรับลม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลา 3 เดือน

 

1 แสนบาทที่เป็นมากกว่าแค่เงินรางวัล

                ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ตัวเงินรางวัล 100,000 บาทที่เจ้าของโครงการทุ่มทุน แต่เป็นความทุ่มเทของตัวแทนฝั่งเอกชนในการริเริ่ม นำร่องการปั้นและให้คุณค่านักเขียนไทยมากขึ้นกว่าที่เคย เพราะรู้ดีว่างานเขียน และทุกงานสร้างสรรค์มีต้นทุนเหมือนที่คุณงามพรรณได้เคยเล่าให้ a day BULLETIN ฟังว่า จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง เธอต้องหยุดทำงานแปลที่สร้างรายได้ เพื่อเต็มที่กับงานเขียน และยังต้องการสถานที่ที่ทำให้เกิดสมาธิ และแรงบันดาลใจในการคิดและเขียนงาน เงินรางวัลนี้จึงเปรียบได้กับสัญลักษณ์ปัจจัยพื้นฐานในการสร้างสรรค์งานของนักเขียน ที่อาจส่งต่อความสุข ตั้งคำถาม ให้แง่คิด หรือส่งต่อแรงบันดาลใจให้สังคม

 

ปั้นนักเขียนจากไอเดีย Artist in Residence

                หากคุณอยู่ในวงการศิลปะหรือได้ฟังข่าวคราววงการศิลปะอยู่บ้าง Artist in Residence หรือ ศิลปินพำนัก คือคำที่ควรทำความรู้จัก โดยมีความหมายในแนวทางการมอบทุนให้ศิลปินเพื่อทำงานศิลปะงานอย่างเต็มความสามารถ

                โดยมีส่วนร่วมกับผู้สนับสนุน ไปจนถึงกับชุมชน เน้นการระดมความคิด ทำงานสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่นเดียวกับ Writer in Residence ที่หมายถึงการมอบทุนให้กับนักเขียนที่พร้อมจะมุ่งมั่นกับการทำงาน “ตามหากะทิ” จึงถือเป็นโครงการ Writer in Residence เล็กๆ ที่ตั้งใจสนับสนุนนักเขียนหน้าใหม่ที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียนอย่างเต็มความสามารถ ผ่านการเปิดรับผลงานเรื่องย่อ และประกาศผลผู้ได้เป็น Writer in Residence คือคุณณัชชาพร มีสัจ ในเดือนมกราคม 2566 ที่มีผู้ตัดสินได้แก่ ลาว คำหอม (หรือ คำสิงห์ ศรีนอก) งามพรรณ เวชชาชีวะ และอริยา ไพฑูลย์

 

Writer in Residence บ่มเพาะงานเขียน

                ระหว่างเป็นนักเขียนในพำนัก ผู้ชนะจะได้เรียนรู้วิธีการเขียน จากชั้นเรียนที่มีนักเขียนมือรางวัล และคุณงามพรรณเองที่สลับสับเปลี่ยนมาเป็นผู้สอน นอกเหนือจากได้ทดลอง เขียนงาน ที่หวังผลสร้างความน่าจดจำหรือสร้างแรงบันดาลใจแล้ว ทางโครงการยังพร้อมผลักดันไปยังกระบวนการสำนักพิมพ์ หากนักเขียนพร้อมไปต่อ โดยหวังว่าอย่างน้อยโครงการ “ตามหากะทิ” น่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของการสร้างเมล็ดพันธุ์นักเขียนใหม่ รวมถึงทำให้ทุกภาคส่วนหันมาสนใจ และร่วมกันสนับสนุนคนทำงานเขียนและอาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ที่ในเวลาเดียวกันยิ่งเรามีนักเขียนคุณภาพ ยิ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดชุมชนแห่งการอ่านอย่างยั่งยืน

 

รู้หรือไม่ “20 ปีความสุขของกะทิ"

                • “แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา” คือประโยคเปิดเรื่อง “ความสุขของกะทิ” ที่ฮุคผู้อ่านอยู่หมัด ก่อนพาไปรู้จักกับ “กะทิ" เด็กหญิงผู้เกิดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และเรื่องราวที่มีทั้งการรับมือกับความผิดหวัง ความสุข และแรงบัลดาลใจ                 

                • The Happiness of Kati ที่แปลจากภาษาไทยโดย Prudence Borthwick เคยได้รางวัลที่ 2 จากการประกวดงานแปล John Dryden Translation Competition ปี 2548 จัดโดยสมาคมวรรณคดีเปรียบเทียบแห่งอังกฤษ           

                • นอกจากงานแปลฉบับภาษาอังกฤษแล้ว “ความสุขของกะทิ” ยังเคยได้รับอนุญาตลิขสิทธิ์แปลเป็นอีกหลายภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สเปน (ภาษาคาตาโลเนีย) เกาหลี ลาว และจีน                                              

                • หลายคนไม่รู้ว่า “ความสุขของกะทิ” มี 4 เล่ม (ที่ร่วมถึงภาคต่อด้วย) ได้แก่

                1. ความสุขของกะทิ 2. ความสุขของกะทิ ตอนตามหาพระจันทร์ 3. ความสุขของกะทิ ตอนในโลกใบเล็ก 4. ความสุขของกะทิ ตอนเธอคือของขวัญ

                • “ความสุขของกะทิ” ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในปี 2552

                นับเป็นการเขียนบทภาพยนตร์ครั้งแรกของเจ้าของบทประพันธ์ งามพรรณ เวชชาชีวะ ร่วมกับเจนไวยย์ ทองดีนอก ผู้กำกับภาพยนตร์ ภายใต้ค่ายสหมงคลฟิล์ม

  

ข้อมูลอ้างอิง :

-‘ตามหากะทิ’ โครงการที่ให้ทุนนักเขียน 1 แสน พร้อมที่พัก เพื่อตามฝันในการเป็นนักเขียน https://adaybulletin.com/talk-conversation-art-and-culture-ngarmpun-vejjajiva/63592

-20 ปีความสุขของกะทิ www.facebook.com/katitongtan

-ความสุขของกะทิ (Happiness of Kati) https://sahamongkolfilm.com/saha-movie/happiness-kati-movie-2552/

อ้างอิงภาพ :

20 ปีความสุขของกะทิ www.facebook.com/katitongtan

 

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI