'
ข้อมูลจากงานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อปี 2560 พบว่า 'ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย' มีสัดส่วน 'ผู้ค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจ' มากกว่า 'ผู้ค้าบริการทางเพศที่ไม่สมัครใจ'
5 โซนปลายทางที่ผู้ให้บริการทางเพศจากไทยนิยมไปแสวงโชค ได้แก่ โซนที่ 1 สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน, โซนที่ 2 เกาหลีใต้และญี่ปุ่น, โซนที่ 3 ตะวันออกกลาง, โซนที่ 4 แอฟริกาใต้, โซนที่ 5 ยุโรปและออสเตรเลีย
ทั้งนี้ พบว่าต้นทุนการค้าบริการทางเพศข้ามชาติลดลง ดำเนินงานในรูปแบบ 'ฟรีแลนซ์' และ 'สตาร์ตอัป' ได้ โดยผู้ให้บริการทางเพศสามารถรับงานโดยตรงได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า สามารถค้าบริการแบบฟรีแลนซ์ หรือรวมกลุ่มได้ 3-4 คน ดำเนินงานในรูปแบบสตาร์ตอัปที่หาลูกค้าได้ด้วยตัวเอง
แต่ถึงอย่างนั้น อาชีพนี้ก็ยังเปรียบเสมือน 'การเสี่ยงโชค' แนะให้รัฐไทยควรมี 'การกำกับดูแลการค้าบริการทางเพศ' ที่ชัดเจน ส่วนในระดับอาเซียน ต้องร่วมมือกันปราบปรามการใช้อิทธิพลข้ามชาติ

งานวิจัย 'โสเภณีในอาเซียน' ชี้ 'ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย' มีสัดส่วน 'ผู้ค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจ' มากกว่า 'ผู้ค้าบริการทางเพศที่ไม่สมัครใจ' และเปิดแผนที่ห้าโซนยอดฮิตผู้ค้าบริการทางเพศ จากไทยไปแสวงโชค พบต้นทุนการค้าบริการทางเพศข้ามชาติลดลง ดำเนินงานในรูปแบบ 'ฟรีแลนซ์' และ 'สตาร์ตอัป' ได้
แต่ถึงอย่างนั้น อาชีพนี้ก็ยังเปรียบเสมือน 'การเสี่ยงโชค' แนะให้รัฐไทยควรมี 'การกำกับดูแลการค้าบริการทางเพศ' ที่ชัดเจน ส่วนในระดับอาเซียน ต้องร่วมมือกันปราบปรามการใช้อิทธิพลข้ามชาติ
การค้าบริการทางเพศ' เป็นอาชีพเก่าแก่ พบได้ในเกือบทุกวัฒนธรรมและในเกือบทุกพื้นที่ของโลก ในปี พ.ศ. 2553 มีการประเมินว่า ทั่วโลกมีผู้ค้าบริการทางเพศอยู่ที่ประมาณ 42 ล้านคน ส่วนมูลค่าการค้าบริการทางเพศของโลกในปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ประมาณ 1.86 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ข้อมูลจากความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติ (UN) และภาคีเครือข่ายระบุว่า ในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มประเทศ 'อาเซียน' นั้น ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย มีผู้ประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศสูงที่สุดในภูมิภาค โดยมูลค่าตลาดการค้าบริการทางเพศในประเทศไทยมีมูลค่าสูงสุดในกลุ่มอาเซียน ที่ประมาณ 6.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จากงานวิจัย "การเคลื่อนย้ายโสเภณีระหว่างประเทศภายหลังการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: บทวิเคราะห์อุปสงค์และการกำกับดูแลการค้าบริการทางเพศเปรียบเทียบ" โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เผยแพร่เมื่อปี 2560 ที่ศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์และกฎหมายเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศเปรียบเทียบ รวมทั้งศึกษาการเคลื่อนย้ายแรงงานค้าบริการทางเพศของประเทศต่างๆ ในอาเซียน พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้
'ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย' มีสัดส่วน 'ผู้ค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจ' มากกว่า 'ผู้ค้าบริการทางเพศที่ไม่สมัครใจ'
งานวิจัยนี้พบว่า ผู้ค้าบริการทางเพศแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือ "ผู้ค้าบริการทางเพศที่ไม่สมัครใจ" (Forced Prostitution) ซึ่ง UN ถือว่าเป็นการค้ามนุษย์เพื่อการขูดรีดทางเพศ (Human Trafficking for Sex Exploitation) ทั้งนี้ ทุกประเทศต่อต้านการค้าบริการทางเพศรูปแบบนี้ และมีมาตรการลงโทษผู้กระทำความผิด
กลุ่มที่สองคือ "กลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจ" (Sex Worker) ซึ่งแนวนโยบายหรือมาตรการที่ดำเนินการกับผู้ค้าบริการทางเพศกลุ่มนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก เนื่องจากมีประเด็นของการกดขี่ทางเพศของสังคมทับซ้อนอยู่ กับมุมมองที่ว่า กิจกรรมทางเพศเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่พึงมี หากจำกัดมากเกินไปอาจไม่เป็นผลดี
สัดส่วนของผู้ค้าบริการทางเพศในแต่ละประเทศในอาเซียนมีความแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยนั้น งานวิจัยนี้ชี้ว่า
"กลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจ" น่าจะมีจำนวนมากและน่าจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มากกว่า
"กลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศที่ไม่สมัครใจ"
โดยกลุ่มหลังนี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และเป็นคนต่างด้าวที่มีฐานะยากจน มักมาจากประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ไม่พบการใช้กำลังบังคับขู่เข็ญเหมือนในอดีต แต่มักเป็นการชวนมาทำงาน และอาจต้องทำงานบริการทางเพศเสริม
ส่วนในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่าและลาวนั้น พบว่าในประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่า ได้แก่ สิงคโปร์และมาเลเซีย จะมีสัดส่วนผู้ค้าบริการทางเพศที่สมัครใจมากกว่าไม่สมัครใจเช่นเดียวกับไทย ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่าและลาว จากการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากข่าวยังมีการอ้างถึงการหลอกลวงหรือบังคับเพื่อค้าบริการทางเพศอยู่พอสมควร
ปัจจัยผลักดันให้เกิดการ ‘ค้าบริการทางเพศข้ามชาติ’
เมื่อศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายผู้ค้าบริการทางเพศข้ามชาติ พบว่าปัจจัยสำคัญที่เป็นมาแต่ไหนแต่ไร มีสององค์ประกอบ
หนึ่ง คือ ความยากจน ซึ่งปัจจุบัน ความยากจนลดลงเกือบทุกประเทศในอาเซียน ทำให้ปัจจัยเรื่องความยากจนลดบทบาทลง อย่างไรก็ดี ในประเทศที่ยังมีความยากจนอยู่ เช่น พม่า และ ลาว ความยากจนก็อาจส่งผลให้เกิดการหลอกลวงหรือบังคับค้าบริการทางเพศ แต่ก็มักจะเป็นการค้าบริการทางเพศในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่
สอง คือ การบังคับใช้กฎหมายที่บทลงโทษไม่รุนแรง การที่แต่ละประเทศในอาเซียนมีบทลงโทษไม่รุนแรง (ยกเว้นสิงคโปร์) การลักลอบเข้าไปทำงานค้าบริการทางเพศในประเทศต่างๆ เมื่อถูกจับได้ ภาครัฐของแต่ละประเทศมักจะทำการปรับแล้วส่งกลับประเทศ ซึ่งหากตัวผู้ค้าไม่มีเงินค่าปรับก็มักจะแค่ทำการบันทึกไว้และส่งตัวให้สถานทูตส่งตัวกลับ
งานวิจัยชิ้นนี้ วิเคราะห์ปัจจัยจุลภาคที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายผู้ค้าบริการทางเพศข้ามชาติ เมื่อวิเคราะห์จากมิติของผู้หญิงไทย พบว่า ในกลุ่มอาเซียน ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่เลือกไปทำงานที่สิงคโปร์และมาเลเซีย เพราะมีระดับรายได้ที่สูงกว่า ขณะที่ไม่นิยมไปทำงานที่พม่าหรือลาว เพราะระดับรายได้ต่ำกว่ามาก
5 โซนปลายทางที่ผู้ค้าบริการทางเพศจากไทยนิยมไปแสวงโชค
งานวิจัยเผยถึงเส้นทางการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของผู้ค้าบริการทางเพศชาวไทยออกเป็น 5 โซน โดยแต่ละโซนนั้น มีความต้องการผู้หญิงไทยในด้านอายุและรูปร่างที่แตกต่างกันกันไป ส่งผลให้การทำงานค้าบริการทางเพศของหญิงไทยข้ามชาติ สามารถทำได้นานกว่าการทำอาชีพนี้ในประเทศไทย หรืออาจกล่าวได้ว่า การค้าบริการทางเพศข้ามชาติ ช่วยยืดระยะเวลาการมีงานทำให้นานขึ้น โดยรายละเอียดของแต่ละโซนมีดังต่อไปนี้
โซนที่ 1 สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน: ตลาดเปิดสำหรับผู้หญิงที่อายุ 20-25 ปี นิยมผู้หญิงตัวเล็ก ผิวขาว ผอม ไม่ต้องการการเอาใจใส่มาก ต้องการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ความเสี่ยงน้อยมาก เพราะอยู่ใกล้ประเทศไทย ค่าเดินทางถูกและใช้ภาษาอังกฤษได้
โซนที่ 2 เกาหลีใต้และญี่ปุ่น: ตลาดเปิดสำหรับผู้หญิงที่อายุ 20-28 ปี นิยมตัวเล็ก ผิวขาว ไม่จำเป็นต้องผอม ต้องการเอาใจใส่แบบชั่วคราว เช่น ชงเหล้า ร้องคาราโอเกะ ความเสี่ยงน้อย เพราะค่าเดินทางไม่แพง แต่ใช้ภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้
โซนที่ 3 ตะวันออกกลาง: ตลาดเปิดสำหรับผู้หญิงที่อายุ 25-35 ปี นิยมตัวเล็ก ไม่จำเป็นต้องขาวหรือผอมแต่ต้องไม่คล้ำจนเกินไป มีทั้งต้องการเอาใจใส่แบบข้ามคืน เช่น ร้องเพลง บริการในงานปาร์ตี้ และเน้นเฉพาะมีเพศสัมพันธ์ ความเสี่ยงกลางๆ ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ และกฎหมายเข้มงวด ต้องมีนายหน้า
โซนที่ 4 แอฟริกาใต้: ตลาดเปิดสำหรับผู้หญิงที่อายุ 28-35 ปี นิยมตัวเล็ก ไม่จำเป็นต้องขาวหรือผอม มีทั้งต้องการเอาใจใส่แบบข้ามคืน เช่น ร้องเพลง บริการในงานปาร์ตี้ ระยะสั้นประมาณ 3-4 วันในการไปเที่ยวด้วยกัน และเน้นเฉพาะมีเพศสัมพันธ์ ความเสี่ยงสูงเพราะมีข้อมูลน้อยมาก ต้องมีนายหน้า
โซนที่ 5 ยุโรปและออสเตรเลีย: ตลาดเปิดสำหรับผู้หญิงที่อายุ 28-40 ปี มีความนิยมหลากหลายรูปแบบ มีทั้งที่ต้องการบริการเสริม เช่น นวดและเน้นเฉพาะมีเพศสัมพันธ์ แต่มีโอกาสได้ทำงานหรือแต่งงานกับคนที่นั่น ความเสี่ยงสูง เพราะโอกาสถูกจับมีสูง ไม่จำเป็นต้องมีนายหน้า แต่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน
รายได้สูงแค่ช่วงอายุ 20-30 ปี ‘การค้าบริการทางเพศข้ามชาติ’ จึงเป็นการแสวงหาโอกาสใหม่
งานวิจัยชิ้นนี้ สัมภาษณ์สาวไซด์ไลน์ จำนวน 89 คน และนายหน้าหรือแม่เล้าจำนวน 8 คน พบว่าส่วนใหญ่อายุ 18-20 ปี ประกอบอาชีพเป็นนักศึกษา และ พีอาร์/พริตตี้/นางแบบ/ทำงานกลางคืน ภูมิลำเนาส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ หรือมาจากจังหวัดหัวเมือง (ซึ่งแตกต่างจากผู้ค้าบริการทางเพศในอดีตที่มักจะมาจากพื้นที่ที่ยากจน) เกือบทั้งหมดให้เหตุผลในการทำงานว่าเพราะต้องการเงิน มีจำนวนน้อยมากที่ตอบว่าทำอาชีพนี้เพราะความจำเป็น
งานวิจัยยังพบว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศทุกรูปแบบจะมีรายได้สูงในช่วงอายุ 20-30 ปี จากนั้นรายได้มีแนวโน้มจะลดลงหรือคงที่ ในขณะที่การทำงานด้วยอาชีพอื่นๆ จะมีรายได้ต่ำในช่วงแรก แต่รายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ และสูงขึ้นกว่าหรือเท่ากับการทำงานค้าบริการทางเพศในช่วงหลัง
เมื่อวิเคราะห์รายได้ตลอดชีวิต การทำงานแบบปกติจะมีรายได้รวมสูงกว่าเล็กน้อย ยกเว้นการทำงานเป็นสาวไซด์ไลน์ที่สามารถทำควบคู่ไปกับการทำงานปกติได้ จึงไม่เป็นการลดศักยภาพในการประกอบอาชีพในระยะยาว
การค้าบริการทางเพศข้ามชาติจึงเปิดโอกาสให้เป็นแม่เล้าหรือคนดูแลผู้ค้าบริการทางเพศรายใหม่ที่มีตลาดที่กว้างขึ้น ทำให้สามารถทำงานต่อได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโอกาสแต่งงานกับชาวต่างชาติ หรือหาลู่ทางทำงานปกติที่ต่างประเทศต่อไปได้อีก
ต้นทุนการค้าบริการทางเพศข้ามชาติลดลง ดำเนินงานในรูปแบบสตาร์ตอัปได้
งานวิจัยยังพบว่า การค้าบริการทางเพศข้ามชาติ มีต้นทุนลดลงกว่าในอดีตมาก ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งสามารถประมาณการค่าใช้จ่ายของตนเองได้อย่างแม่นยำ มีความเสี่ยงในการประกอบอาชีพลดลง เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทำให้ผู้ค้าติดต่อกันเป็นเครือข่าย ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อการให้ข้อมูลเท่านั้น แต่เพื่อช่วยกันดูแลความปลอดภัยของกันและกันด้วย
นอกจากนั้น ยังทำให้ผู้ค้าบริการทางเพศสามารถรับงานโดยตรงได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า แสดงให้เห็นถึงอำนาจต่อรองของผู้ค้าบริการทางเพศที่เพิ่มสูงขึ้น สามารถค้าบริการแบบฟรีแลนซ์ หรือรวมกลุ่มได้ 3-4 คน ดำเนินงานในรูปแบบสตาร์ตอัปที่หาลูกค้าได้ด้วยตัวเอง
และการที่แต่ละประเทศในอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) มีบทลงโทษไม่รุนแรง การลักลอบเข้าไปทำงานค้าบริการทางเพศในประเทศต่างๆ ในอาเซียนของผู้หญิงไทยจึงมีต้นทุนไม่มากนัก เมื่อถูกจับได้ ภาครัฐของแต่ละประเทศมักจะปรับแล้วส่งกลับประเทศ ซึ่งหากตัวผู้ค้าไม่มีเงินค่าปรับ ก็มักจะบันทึกไว้และส่งตัวให้สถานทูตส่งตัวกลับ รวมทั้งหากมีการอ้างว่าถูกหลอกลวง ก็สามารถได้รับความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้วย
นอกจากนี้ ต้นทุนสำคัญประการหนึ่งของการค้าบริการทางเพศ คือโอกาสในการเกิด ‘ตราบาป’ กับตัวผู้ค้า ซึ่งการค้าบริการทางเพศข้ามชาติจะมีโอกาสเกิดตราบาปน้อยกว่ามาก เพราะผู้ซื้อเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด รวมทั้งการพบปะกับสังคมคนไทยส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่ประกอบอาชีพเดียวกันเท่านั้น และสังคมของประเทศมักจะไม่สร้างแรงกดดันหรือดูถูกตัวผู้ค้าบริการมากเท่าในประเทศไทย
แต่ท้ายสุด เส้นทางอาชีพผู้ค้าบริการทางเพศ ก็ยังเปรียบเสมือน ‘การเสี่ยงโชค’
งานวิจัยยังชี้ว่า การประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศ เป็นการเลือกเดินทางเส้นที่มีความเสี่ยงของรายได้ที่มากกว่าการประกอบอาชีพแบบปกติ
เมื่อพิจารณาในมิติของเวลา รายได้รวมในระยะสั้นจากการประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศ อาจจะมากกว่าการประกอบอาชีพอื่นๆ อย่างชัดเจน จึงชักจูงกลุ่มคนส่วนหนึ่งที่ต้องการรายได้ในระยะสั้นให้เลือกเดินบนเส้นทางอาชีพค้าบริการทางเพศ แต่เมื่อพิจารณาในรายได้ที่แท้จริงตลอดช่วงชีวิต พบว่าโดยส่วนใหญ่ รายได้รวมที่แท้จริงตลอดช่วงชีวิตจากการประกอบอาชีพอื่นๆ มีแนวโน้มมากกว่าจากการประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศ
นอกจากนั้น หากพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่ากลุ่มระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความแตกต่างรายได้รวมที่แท้จริงระหว่างการประกอบอาชีพอื่นๆ กับอาชีพค้าบริการทางเพศอย่างมาก นั่นคือ
● หากกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศสามารถประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศที่ต่างประเทศ จะมีรายได้มากกว่ากลุ่มผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ อย่างชัดเจน
● แต่หากไม่สามารถไปประกอบที่ต่างประเทศได้ ก็จะมีรายได้น้อยกว่ากลุ่มผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ อย่างชัดเจนเช่นกัน
● ส่วนกลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาโท ไม่ว่าจะประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศหรือประกอบอาชีพอื่นๆ รายได้ก็จะไม่ต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มระดับการศึกษาอื่นๆ
จากลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ระดับการศึกษาเปรียบเสมือนเป็นตัวพยุงรายได้ เนื่องจากกลุ่มที่มีระดับการศึกษาที่สูงกว่า มักจะมีความเสี่ยงของด้านรายได้น้อยกว่ากลุ่มที่มีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงที่มีโอกาสไปประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศในต่างประเทศ มีแนวโน้มมีรายได้ที่ดีกว่า
ดังนั้นเมื่อหญิงสาวเลือกเดินเส้นทางประกอบอาชีพเส้นทางอาชีพค้าบริการทางเพศแล้ว จึงเปรียบเสมือนเป็น ‘การเสี่ยงโชค’ เพราะหากต้องการรายได้ที่มากกว่า ผู้ค้าจำเป็นต้องหาแหล่งทำกินที่ดีกว่า เช่น การไปขายบริการที่ต่างประเทศ จะทำให้สามารถเพิ่มรายได้รวมที่แท้จริงตลอดช่วงชีวิตได้มากกว่า หรือจำเป็นต้องกลับเข้ามาทำงานแบบปกติในช่วงปลายของช่วงชีวิตเพื่อช่วยพยุงรายได้ของตนเอง
แต่ทั้งนี้ ปัญหาของการประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศที่สำคัญประการหนึ่งคือ การทำงานค้าบริการทางเพศมักจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 20-30 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Investment) ของตนเอง หากสังคมเปิดให้มีการทำงานค้าบริการทางเพศโดยเสรีแล้ว ทางออกจากอาชีพ (Exit Option) ของผู้ค้าบริการจะมีไม่มากนัก เพราะไม่ได้มีประสบการณ์เชิงวิชาชีพใดในช่วงอายุดังกล่าว การออกจากอาชีพจึงเป็นไปได้ยาก โดยส่วนใหญ่อาจจะผันตัวเองไปเป็นแม่เล้าหรือคนดูแลผู้ค้ารายใหม่ แต่หากต้องการออกจากวงการ ก็อาจจะไปเปิดร้านอาหาร ร้านเสริมสวย หรือร้านขายดอกไม้ ซึ่งการค้าบริการทางเพศข้ามชาติจึงเปิดโอกาสให้เป็นแม่เล้าหรือคนดูแลผู้ค้าบริการทางเพศรายใหม่ที่มีตลาดที่กว้างขึ้น ทำให้สามารถทำงานต่อได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโอกาสแต่งงานกับชาวต่างชาติ หรือหาลู่ทางทำงานปกติที่ต่างประเทศต่อไปได้อีก
ข้อเสนอจากงานวิจัย ควรมี 'การกำกับดูแลการค้าบริการทางเพศ' ที่ชัดเจน อาเซียนเองต้องร่วมมือกันปราบปรามการใช้อิทธิพลข้ามชาติ
ในงานวิจัยระบุว่า ในอนาคต การค้าบริการทางเพศข้ามชาติจะเป็นไปตามกลไกตลาดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและระบอบโลกาภิวัตน์ที่เอื้อให้การเคลื่อนย้ายทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของหญิงค้าบริการให้มากขึ้นกว่าในอดีต หากข้ามประเด็นข้อถกเถียงที่ว่าการค้าบริการทางเพศเป็นสิ่งที่สังคมพึงสนับสนุนหรือไม่ไปแล้ว จะพบว่าการค้าบริการทางเพศข้ามชาติ มีผลดีต่อตัวผู้ค้าบริการมากกว่าผลเสียที่พึงเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างชัดเจน
โดยข้อเสนอเชิงนโยบายบางส่วนจากงานวิจัยมีดังนี้
● ภาครัฐต้องมีความชัดเจนในการกำกับดูแลตลาดค้าบริการทางเพศ ว่าต้องการจะห้ามหรือต้องการจะอนุญาต เพราะแนวทางการกำกับดูแลการค้าบริการทางเพศข้ามชาตินั้น ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของนโยบายกำกับดูแลการค้าบริการทางเพศในประเทศด้วย โดยแนวทางที่ชัดเจนของภาครัฐ อาจต้องพิจารณาทั้งความเป็นจริงและความสามารถของภาครัฐที่จะทำได้ไปพร้อมๆ กับผลประโยชน์สูงสุดของสังคมภายใต้วัฒนธรรมของไทย
● การกำกับดูแลการค้าบริการทางเพศ เป็นรูปแบบหนึ่งของการบริหารอุปสงค์ (Demand Management) โดยความต้องการทางเพศนับได้ว่าเป็นอุปสงค์ตามธรรมชาติของมนุษย์ (Natural Demand) ซึ่งการจะยับยั้งหรือบริหารจัดการได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบหรือนโยบายด้านอื่นๆ มาทำงานร่วมกัน เช่น จะให้ความรู้เรื่องการบำบัดตนเองอย่างไร การยกระดับสิทธิสตรีให้เท่าเทียมในเรื่องความต้องการทางเพศได้อย่างไร จะบริหารสื่ออย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่ตอบสนองต่ออุปสงค์ได้ เป็นต้น ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย ไม่เช่นนั้น การกำกับดูแลการค้าบริการทางเพศโดดๆ ก็อาจประสบความสำเร็จได้ยาก
● การค้าบริการทางเพศข้ามชาติมีพัฒนาการเป็นไปตามบริบทปัจจุบัน รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เพื่อการค้าก็มีความเสรีมากขึ้น ทำให้ยากต่อการสกัดกั้นและตรวจสอบ สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคและความปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อไม่ให้ผู้ค้าบริการติดโรคติดต่อหรือเป็นผู้แพร่เชื้อโรคติดต่อที่มากับเพศสัมพันธ์ เมื่อโลกาภิวัตน์มีผลต่อการเคลื่อนย้ายผู้ค้าบริการทางเพศมากขึ้น การให้ความรู้และการสนับสนุนเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงเป็นวาระระหว่างประเทศ (กลุ่มประเทศอาเซียน)
● การค้าบริการทางเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเกือบทุกประเทศ แต่เกิดการลักลอบค้าบริการทางเพศได้ สาเหตุมาจากการมีผู้มีอิทธิพล และเมื่อสามารถเคลื่อนย้ายผู้ค้าบริการทางเพศข้ามประเทศได้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของผู้มีอิทธิพลข้ามประเทศ นั่นหมายความว่า ภาครัฐของประเทศต่างๆ ในอาเซียนเอง ต้องร่วมมือกันเพื่อปราบปรามการใช้อิทธิพลข้ามชาติหรือความร่วมมือของผู้มีอิทธิพลระหว่างประเทศด้วย
อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้จากคลังงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง การเคลื่อนย้ายผู้ค้าบริการทางเพศระหว่างประเทศในอาเซียน (ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ, สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), กรกฎาคม 2560)
URL อ้างอิง:
https://elibrary.trf.or.th/project_content.asp?PJID=RDG5910012