อนาคตการตายของคนเมือง เราจะตายรูปแบบไหน ขึ้นอยู่กับการออกแบบสังคม
การออกแบบที่เผื่อไปถึงเรื่องการเจ็บป่วย เช่น พื้นที่โรงพยาบาล หรือ ‘การตาย’
อย่างพื้นที่สุสาน วัด นั้นอาจจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องหลัก
รศ.ดร.ภาวิกา เห็นว่า หากเราเชื่อว่าเมืองคือเรื่องของชีวิต และชีวิตกับความตายเป็นเรื่องที่แยกไม่ขาดจากกัน เพียงแค่การตายอยู่ในช่วงเวลาสุดท้าย ดังนั้นอะไรก็ตามที่เมืองกำหนดชีวิต ย่อมไม่แปลกที่จะมีผลต่อการตาย
มนุษย์เราต่อสู้กับความตาย และพยายามจัดการกับความตายมาโดยตลอด ตัวอย่างง่ายๆ เห็นได้ชัดผ่านเทคโนโลยีเพื่อการรักษาและชะลอความเสื่อม ความนิยมในฟิตเนส คลินิกเสริมความงาม ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าเพื่อสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นตัวบ่งชี้ถึงการมุ่งสู่แนวคิด Transhumanism ที่ว่า มนุษย์มีพลังอำนาจในการกระทำสิ่งใดก็ได้ตามต้องการเหนือกว่าธรรมชาติ
เมื่อการตายกับความเป็นเมือง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน การจัดการเรื่องความตาย จึงเกี่ยวพันไปถึงความเท่าเทียม ทั้งในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงทรัพยากรทางเลือก และความเป็นธรรม ที่ต้องบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย
ทั้งๆ ที่การตายคือความธรรมดาของชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องพบเจอ แม้วันนี้จะยังไม่ประสบกับตัวเอง แต่ย่อมเคยได้สัมผัสการจากไปของคนรอบข้าง แต่ทั้งที่เป็นการตายเหมือนกัน กลับมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามลักษณะสังคมที่ซับซ้อนต่างกัน ตั้งแต่การตายไปจนถึงการจัดการร่าง
และยิ่งในสังคมเมืองที่กำลังได้รับผลสะท้อนจากการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ทั้งการเข้าสู่ความเป็นสังคมสูงวัย ความเป็นโลกเสี่ยงภัย การเคลื่อนย้ายอย่างไร้ทิศทาง และความเสื่อมไป หรือสูญสลายของประเพณีนิยม การจัดการกับความตายจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก
ทำไมการตายในเมืองจึงกลายเป็นเรื่องที่ต่างไปจากพื้นที่อื่น รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานศึกษา ‘การตายและความตายในเมือง’ งานวิจัยในโครงการ ‘คนเมือง 4.0’ อนาคตชีวิตคนเมืองของไทย เคยให้คำตอบกับเว็บไซต์ the101.world เอาไว้ว่า เมืองมักถูกสร้างและออกแบบให้เป็นพื้นที่สำหรับการมีชีวิตเป็นหลัก คือ เป็นที่อยู่อาศัย ที่กิน การเดินทาง ทำงาน และกิจกรรมทางสังคม แต่การออกแบบที่เผื่อไปถึงเรื่องการเจ็บป่วย เช่น พื้นที่โรงพยาบาล หรือการตายอย่างพื้นที่สุสาน วัด นั้นอาจจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องหลัก
นอกจากนั้นแล้ว เมืองยังทำให้เห็นความตายที่หลากหลาย ทั้งความเหลื่อมล้ำ ความเสี่ยง ความสิ้นหวัง รวมไปถึงความหวังที่ดำรงอยู่อย่างแนบแน่น
โจทย์เรื่อง ‘ความตาย’ มักหายไปจากเมือง แต่ รศ.ดร.ภาวิกา ให้ความเห็นว่า หากเราเชื่อว่าเมืองคือเรื่องของชีวิต และชีวิตกับความตายเป็นเรื่องที่แยกไม่ขาดจากกัน เพียงแค่การตายอยู่ในช่วงเวลาสุดท้าย ดังนั้นอะไรก็ตามที่เมืองกำหนดชีวิต ย่อมไม่แปลกที่จะมีผลต่อการตาย
การศึกษาเรื่อง ‘การตายในเมือง’ ของ รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ และ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จึงเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย คนเมือง 4.0 อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0
ก่อนจะไปถึงบทสรุปถึงฉากทัศน์ทางเลือกของการตายทั้ง 4 ฉากในตอนท้ายของการศึกษา ว่าทางเลือกไหนที่พึงประสงค์กับสังคมเมืองในประเทศไทย เรามาดูกันว่าการตายในเมืองมีรูปแบบอย่างไร
7 รูปแบบการตายที่เกิดขึ้นในเมือง
ในการศึกษาชิ้นนี้ เผยรูปแบบการตายที่เกิดขึ้นเอาไว้เจ็ดรูปแบบด้วยกัน คือ
1. การตายจากการเจ็บป่วยและโรค ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการตายตามธรรมชาติที่พบเห็นได้มากในโรงพยาบาล
2. การตายอย่างโดดเดี่ยว คือการเสียชีวิตโดยไม่มีคนรอบข้างรับรู้ หรือมารู้ทีหลังว่าเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งความโดดเดี่ยวก็ตีความได้สองแง่คือ ด้านกายภาพที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับใครขณะใกล้เสียชีวิต หรือแม้จะอาศัยอยู่กับครอบครัว ในบางกรณีก็ยังรู้สึกโดดเดี่ยว และความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพด้วยภาวะโรคต่างๆ ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งในสังคมไทยเองก็มีโครงสร้างครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การครองตนเป็นโสด และการชะลอการสร้างครอบครัวของคนยุคใหม่ ล้วนเป็นแรงกระทำที่ส่งผลให้คนในเมืองมีแนวโน้มที่แยกตัวออกจากกันมากขึ้น จนกระทั่งลาโลกไปด้วยความโดดเดี่ยว
3. การฆ่าตัวตาย หมายถึง การที่บุคคลทำร้ายตนเองด้วยวิธีการใดก็ตามด้วยความสมัครใจ โดยมีเจตนาให้ตนเองเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตายเพราะยึดสังคมเป็นหลัก ฆ่าตัวตายเพราะยึดตัวเองเป็นหลัก ฆ่าตัวตายเพราะสังคมไร้บรรทัดฐาน ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการฆ่าตัวตายเพราะสังคมมีกฎเกณฑ์เคร่งครัดเกินไป ที่น่าสนใจคือ การตายในกรอบของการมองเมืองสมัยใหม่ มักตกอยู่ในประเภทการฆ่าตัวตายเพราะยึดตัวเองเป็นหลัก ขาดการยึดโยงกับสังคม บวกกับความกดดัน หรือล้มเหลวในชีวิต
4. การตายหมู่จากอุบัติเหตุ หมายถึง ปรากฏการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากอุบัติเหตุซึ่งมีด้วยกันหลายรูปแบบ แต่อุบัติเหตุที่คนเมืองมักคุ้นชิน คืออุบัติเหตุจากการเดินทาง
5. การตายจากการฆาตกรรม ซึ่งมีข่าวให้เห็นได้บ่อยครั้งในเขตเมือง และดูเหมือนจะมีความถี่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2560 ระบุว่า คดีส่วนมากจะมีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและความบีบคั้นทางเศรษฐกิจในสังคมเมือง ขณะที่งานศึกษาเรื่องการออกแบบเมืองได้ให้ความเห็นไว้ว่า อาชญากรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุผลหนึ่งคือ การออกแบบพื้นที่สาธารณะไม่ก่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ชีวิต
6. การตายที่เกิดจากความเสี่ยงทางสังคม หมายถึง ความเป็นไปได้ในระดับที่คนสามารถรับรู้ถึงเหตุการณ์อันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่หากไม่เกิดขึ้นในพื้นที่เมือง เมืองก็ยังได้รับผลกระทบจากการถูกตัดขาดห่วงโซ่ทรัพยากรพื้นฐานในการผลิตและอุปโภคบริโภค ความเสี่ยงจากการก่อการร้าย ความเสี่ยงจากมลภาวะอย่าง PM 2.5 ความเสี่ยงจากพฤติกรรมของความเป็นเมือง เช่น การบริโภคเกินความจำเป็น ขาดการออกกำลังกาย สุขภาวะทางกายและทางจิต เป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพในอนาคตระยะยาว และสุดท้ายคือความเสี่ยงจากการเคลื่อนย้ายที่ทำให้เกิดโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก
7. การตายทางเลือก หมายถึง เรามีสิทธิ์ในร่างกายของตัวเอง ที่จะเลือกการตายของตนได้โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เช่น เลือกวิธีการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง เลือกจบชีวิตด้วยการช่วยเหลือทางการแพทย์ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีแช่แข็งร่างกาย หรือสมอง ให้เก็บรักษาไว้ได้กว่าร้อยปี เพื่อรอความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่มากกว่าปัจจุบัน ในการปลุกร่างกายขึ้นมาอีกครั้ง และรักษาโรคที่เคยเป็นด้วยวิทยาการในอนาคต
จากการตายทั้ง 7 รูปแบบ เราเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เป็นอยู่ เช่น การตายจากความเจ็บป่วย สะท้อนให้เห็นภาพของการเข้าถึงการรักษา หรือเห็นความพยายามในการยื้อชีวิตในคนที่มีต้นทุนในการรักษา แต่ในบางรูปแบบ ทุกคนก็มีความเสี่ยงเท่ากัน เช่น การตายจากอุบัติเหตุ หรือตายจากความเสี่ยงทางสังคม ที่ไม่ว่าจะเป็นการตายด้วยสาเหตุใด ลึกๆ แล้วล้วนเกี่ยวพันกับสังคมทั้งสิ้น
แนวโน้มสำคัญของอนาคตการตาย และความตายในเมือง
เมื่อขยับเข้ามาดูแนวโน้มอนาคตการตาย และความตายในเมือง ของเมืองที่มีลักษณะเป็นสังคมสูงวัย ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และนวัตกรรมต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น ไปจนถึงค่านิยมและบรรทัดฐานสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว พบว่ามีสี่แนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้น คือ
1. ใครจะเป็นคนดูแลในวันที่ทุกคนแก่กันหมด เมื่อสังคมไทยเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้น และในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าลูกจะดูแลพ่อแม่ หรือผู้สูงอายุในครอบครัวน้อยลง คนรุ่นใหม่จะอยู่กับที่น้อยลง ในขณะที่เมืองไทยก็ไม่ได้มีระบบที่จะเข้ามาดูแลภาระของลูกได้เพียงพอ และสิ่งที่จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคตคือ คนในสังคมยังไม่เข้าใจว่าบทบาทของผู้ดูแลนั้นเป็นเพียงภาวะชั่วคราว ไม่ควรนำมาแลกกับการลาออกจากงานหรือขาดโอกาสในการทำงาน
2. สังคมปฏิเสธความตาย สังเกตได้จากความก้าวหน้าทางการแพทย์เพื่อยืดอายุขัยของมนุษย์ เช่น เทคโนโลยีเพื่อการรักษาและชะลอความเสื่อม การเกิดพื้นที่ทางสังคมที่พยายามต่อสู้กับความตาย เช่น ฟิตเนส คลินิกเสริมความงาม ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าเพื่อสุขภาพ และเกิดการบูรณาการความพยายามในการยืดการตายเข้ากับสาธารณูปการและสาธารณูปโภค
3. การลดทอนประเพณีนิยม คือการคลายตัวทางพิธีกรรมทางศาสนา การปลดจากคุณค่าบางอย่างที่คนในสังคมส่วนใหญ่เคยยึดถือ โดยการเลือกการตายที่ฉีกออกจากขนบเดิม เช่น เลือกจบชีวิตด้วยการช่วยเหลือทางการแพทย์
4. การมาถึงของนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตายและการตาย เช่น การย่อยสลายศพให้เป็นปุ๋ยมนุษย์ ชุดสูทสำหรับย่อยสลายศพด้วยเห็ด การทำเครื่องประดับจากกระดูกมนุษย์ หรือเรื่องราวของคนที่แช่แข็งเซลล์สมองของลูกสาวเพื่อรอเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาขึ้น ซึ่งกระแสความคิดที่กระจายอยู่รอบสังคมไทยนี้ ทำให้ในอนาคตอันใกล้สังคมไทยยังคงต้องการการถกเถียงและข้อตกลงต่อแนวทางปฏิบัติเรื่องการตายและความตายมากขึ้น
ภาพอนาคตทางเลือกจากการสร้างฉากทัศน์
เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การตาย และความตายในเมือง งานวิจัยชิ้นนี้จึงสร้างฉากทัศน์ (Scenario) เพื่อขยายความให้เห็นถึงรายละเอียดที่ประกอบขึ้นเป็นภาพอนาคต โดยรวมจากปัจจัยขับเคลื่อน ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างทางสังคม และปัจจัยอำนาจกระทำการที่มีต่อการจัดการการตาย และความตายของตน ผ่าน 4 ฉากทัศน์ คือ
ฉากทัศน์ที่ 1 – Bio-remains Par
ฉากทัศน์นี้สมาชิกในสังคมมองว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ความตายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรเกื้อกูลซึ่งกันและกันด้วยการร่วมกันวางแผนก่อนเสียชีวิต แบ่งหน้าที่ในการดูแล มีการช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ตลอดจนมีนโยบายที่รองรับ จนนำไปสู่การยอมรับในความตาย และเกิดการตายที่ดี ปราศจากความทุกข์ทรมานได้ สังคมในฉากทัศน์นี้จะมองการมีอายุยืนเป็นโชคร้าย เพราะเป็นการสร้างภาระให้แก่สังคมและครอบครัว
ในเชิงการจัดการเชิงพื้นที่ เมืองควรออกแบบมาให้มีพื้นที่สาธารณะ หรือมีพื้นที่ส่วนกลางให้คนได้พบปะ พูดคุยกัน เน้นการใช้พื้นที่ร่วมกัน ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีอารยสถาปัตย์ มีพื้นที่สีเขียว โรงพยาบาลถูกออกแบบให้เอื้อต่อการเยี่ยมเยียนของครอบครัว และเป็นมิตรต่อผู้ป่วย วัดเป็นที่จัดพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตาย และการจัดการร่างถูกผนวกรวมอยู่ในพื้นที่ทางสังคมอันเป็นสาธารณะ เพราะความตายไม่ใช่เรื่องที่จำต้องปิดบังและอยู่ร่วมกันได้
ภาพของฉากทัศน์นี้คือ Bio-remains park หรือสุสานในรูปแบบของสวนสาธารณะที่ฝังร่างของผู้เสียชีวิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไว้ โดยที่สมาชิกในสังคมยังเข้าไปใช้สอยและทำกิจกรรมได้โดยไม่รู้สึกกลัว หรือมีแง่ลบ เพราะความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ และพวกเขาอยู่กับมันได้
ฉากทัศน์ที่ 2 – Oldest Hall of Fame
ฉากทัศน์นี้ให้ภาพของสังคมที่มุ่งสู่การมีชีวิตยืนยาว ความแก่ หรือความเสื่อมของร่างกาย ถูกมองเป็นโรคที่ต้องหาหนทางรักษาเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้นานขึ้น การตายจากโรคเฉียบพลัน หรืออุบัติเหตุ แทบไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะเมืองถูกออกแบบมาให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แม้สมาชิกในสังคมจะมีอายุมากขึ้นแต่รักสุขภาพ สมาชิกเห็นคุณค่าของการมีชีวิตทั้งตนเองและผู้อื่น มีการเรียกร้องเมืองที่ยั่งยืนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ที่รู้ตัวว่าระยะเวลาของตัวเองเหลือน้อย จะพยายามยืดชีวิตของตัวเองให้นานที่สุดด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ หากมีการวางแผนก่อนเสียชีวิต จะมีการนำร่างไปก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือจัดการอย่างหมดจดที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นที่ตื่นตระหนกของสังคม
Oldest Hall of Fame คือ หอเกียรติยศสำหรับผู้ที่มีอายุยืนยาว เป็นสถานที่ในการเก็บสถิติและให้ความสำคัญกับสมาชิกในสังคมที่มีอายุยืนยาวที่สุด หอเกียรติยศนี้ผู้คนสามารถเข้ามาเดินชมในลักษณะคล้ายพิพิธภัณฑ์ได้ การเลือกชื่อฉากเช่นนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของคนในสังคมที่มีต่อการเอาชนะความตาย และให้ความรู้สึกของความเป็นชุมชน ความมีส่วนร่วมของชุมชน
ฉากทัศน์ที่ 3 – Last man standing Trophy
ฉากทัศน์นี้ ให้ภาพของสังคมที่มุ่งสู่การมีชีวิตยืนยาว ความแก่ หรือความเสื่อมของร่างกาย ถูกมองเป็นโรคที่ต้องหาหนทางรักษาเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้นานขึ้น ส่งผลให้มีการพัฒนายารักษาและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตอบโจทย์สังคม แต่ด้วยความเป็นปัจเจกนิยม จึงเป็นสังคมที่เน้นไปที่การแข่งขันกันเอาตัวรอด ผู้ที่มีความสามารถเหนือคนอื่น หรือมีฐานะสูงกว่าย่อมได้เปรียบในการเข้าถึงทรัพยากร หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ โรงพยาบาลแบ่งออกเป็นหลายระดับตามกำลังทรัพย์
นอกเหนือจากนั้นคือ บริการและสวัสดิการของรัฐที่แม้จะไม่แย่ แต่ก็ไม่ดีที่สุด การดูแลแบบประคับประคองมีไว้สำหรับปลอบใจ ระบบบริการปฐมภูมิมีไว้ให้เฉพาะผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น วัดไม่ได้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่กลายเป็นสถานที่เพื่อจัดการร่างของตนตามความต้องการของผู้เสียชีวิตโดยเฉพาะพิธีกรรมใดๆ ล้วนไม่จำเป็นเพราะมักเรียบง่ายและรวดเร็ว เพราะมีคนจำนวนน้อยที่จะมาร่วมงานศพ หรืออาจถึงขั้นไม่มีเลย
Last man standing Trophy คือ ถ้วยรางวัลสำหรับผู้ยืนยาว เป็นการให้ภาพของฉากทัศน์ที่สมาชิกในสังคมยืนหยัดเพื่อความตายอย่างโดดเดี่ยว รางวัลสำหรับผู้ที่มีชีวิตยืนยาวคือถ้วยรางวัลเดี่ยวๆ ที่อาจใช้พื้นที่เล็กน้อยเพียงมุมห้อง หรือมีไว้เพื่อชื่นชมอยู่คนเดียว
ฉากทัศน์ที่ 4 – Bio-burial pot
ฉากทัศน์นี้ คุณค่าที่สมาชิกในสังคมมีคือ การมองว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อย่างจำกัด มองว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และไม่ใช่เรื่องที่จะต้องป่าวประกาศเพื่อให้คนมาเห็นใจ หรือเรียกร้องให้คนมาสนใจ เพราะทุกคนต้องตายเท่ากันหมด ยากที่จะมีใครสักคนมาทุ่มเทให้กับคนที่กำลังจากไปโดยไม่หวังผล โรงพยาบาลกับวัด หรือศาสนสถาน จึงเป็นสถานที่ที่พึ่งพิงได้ด้วยราคาที่ต่ำที่สุด
ภาพของฉากทัศน์ที่แสดงถึงความแบ่งสัดส่วนของปัจเจกอย่างขีดสุดแม้กระทั่งตอนเสียชีวิต คือกระถางต้นไม้ หรือหลุมที่มีการจัดสรรไว้อย่างเป็นระบบ เป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่ต้องจับจอง หรือซื้อหา ทำให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว หรือเป็นของเอกชนที่ไม่สามารถนำมาทำประโยชน์อย่างอื่นได้ และมองว่าการจัดการร่างควรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลภาวะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นการทำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ หรือค่านิยมของตน ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำเพื่อส่วนรวม มลภาวะที่ลดน้อยลงเป็นเพียงผลพลอยได้ที่ส่วนรวมได้รับเท่านั้น
แนวโน้มในอนาคตทั้งสี่แนวโน้มข้างต้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงการมุ่งสู่แนวคิด Transhumanism ที่ว่ามนุษย์มีพลังอำนาจในการกระทำสิ่งใดก็ได้ตามต้องการเหนือกว่าธรรมชาติ
จากฉากทัศน์ทั้งสี่ เมื่อประเมินว่าฉากทัศน์ใดเหมาะสมและพึงประสงค์กับประเทศไทยมากที่สุด โดยพิจารณาจากสองหลักเกณฑ์ คือหนึ่ง-ฉากทัศน์นั้นต้องประกอบไปด้วยความมีประสิทธิภาพ ความเท่าเทียม ความยั่งยืน และสอง ความเป็นไปได้ ก็พบว่าฉากทัศน์ที่สอง คืออนาคตที่พึงประสงค์ โดยความเป็นไปได้นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนไม่มีใครอยากตาย ทุกคนต้องการมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแรงและมีความสุข
แต่ฉากทัศน์ที่สองจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการส่งเสริมให้คนมีความรู้ความเข้าใจในสิทธิ์และทางเลือกของตน โดยต้องคำนึงถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ คำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในยามที่อายุมากขึ้น มีการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการยืดความตายมาใช้อย่างเหมาะสม และไม่สร้างภาระที่ไม่จำเป็น
เรื่องเหล่านี้ยังเกี่ยวพันไปถึงความเท่าเทียม ทั้งในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงทรัพยากรทางเลือก และความเป็นธรรม ที่ต้องบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนควบคู่กันไป

