PRIDE MONTH: เทศกาลแห่งความหลากหลายทางเพศ เพราะโลกนี้มีมากกว่าหญิงและชาย

20 มิถุนายน 2023
|
3210 อ่านข่าวนี้
|
4



เพราะโลกเต็มไปด้วยความหลากหลาย และหนึ่งในความหลากหลายก็คือ ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งย้อนไปสมัยอดีต สังคมกำหนดเพศบนโลกไว้เพียงหญิงและชาย พ้นจากนี้ถือเป็นความอปกติ ไม่ได้รับการยอมรับ และถูกเลือกปฏิบัติด้วยความไม่เท่าเทียม กว่าโลกจะเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น กลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ใช่ชายจริง-หญิงแท้ ก็ต้องต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมอย่างยาวนาน โดยเหตุการณ์ต่อสู้เรียกร้องครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1969 และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาล Pride Month ทั่วโลกในเวลาต่อมา

 

จากเหตุจราจลสโตนวอลล์ สู่เทศกาล PRIDE MONTH

สืบเนื่องจากในช่วงทศวรรษ 1960s สหรัฐอเมริกามีการออกกฎหมายห้ามประชาชนแต่งตัวผิดกับเพศสรีระ ถ้าพบใครไม่ปฏิบัติตาม สามารถจับกุมได้ ตำรวจจึงอาศัยกฎหมายเข้าจับกุมโดยใช้กำลังต่อกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่มาสังสรรค์กันที่สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) บาร์เกย์ในย่านเกรนิชวิลเลจ แมนฮัตตัน กลางกรุงนิวยอร์ก และกลุ่มคนเหล่านี้ได้ทำการประท้วง พร้อมแสดงความขัดขืน จนเหตุการณ์บานปลาย ต้องใช้เวลาหลายวันก่อนจะยุติลง จึงมีการขนานนามว่า เหตุจราจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969

จากเหตุจราจลดังกล่าว ได้ส่งผลให้กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เริ่มเคลื่อนไหวและแสดงจุดยืนอย่างจริงจัง ด้วยการจัดงานวันแห่งการปลดปล่อยที่ถนนคริสโตเฟอร์ อันเป็นที่ตั้งของสโตนวอลล์ อินน์ ในปีต่อมา เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุจราจลที่ผ่านมา และต่อยอดให้เกิดขบวนการปลดแอกเกย์ รวมถึงการต่อสู้ยุคใหม่เพื่อสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก ทำให้เดือนมิถุนายนกลายเป็นช่วงเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่ม LGBTQ+ เรื่อยมา และจัดขึ้นในหลายประเทศ เรียกกันว่า Pride Month หรือเทศกาลไพรด์ 

อีกทั้งภายหลัง ยังมีการจัดงาน World Pride ขึ้น ในปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) ที่กรุงโรม-อิตาลี เป็นครั้งแรก และจัดอย่างต่อเนื่องทุกๆ 2-3 ปี โดยประเทศต่างๆ จะสลับสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ เน้นเป้าหมายให้คนทั้งโลกเข้าใจสังคมของกลุ่มคนผู้มีหลากหลายทางเพศยิ่งขึ้น และเปิดกว้างว่า โลกนี้มีมากกว่าหญิงและชาย   

Pride Month จึงเป็นเทศกาลแห่งความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ซึ่งแต่ละเมืองจะมีชื่อเรียกเฉพาะแตกต่างกันไป เช่น NYC Pride ในนิวยอร์ก-สหรัฐอเมริกา, Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras ในซิดนีย์-ออสเตรเลีย, Rome Gay Pride ในโรม-อิตาลี, Madrid Gay Pride ในมาดริด-สเปน, Mexico City Gay Pride ในเม็กซิโกซิตี้-เม็กซิโก, Stockholm Pride ในสต็อกโฮล์ม-สวีเดน, Dublin Gay Pride ในดับลิน-ไอร์แลนด์, Tokyo Rainbow Pride ในโตเกียว-ญี่ปุ่น หรือ Taiwan LGBTQ+ Pride ในไทเป-ไต้หวัน โดยจุดเด่นของเทศกาลจะอยู่ที่การเดินพาเหรด (Pride Parade) เป็นขบวนยาวเหยียดสุดสายตา ทั้งสวยงามและสร้างความจดจำไม่รู้ลืม     

นอกจากขบวนพาเหรดจะสวยงามตระการตาแล้ว ก็ยังเจิดจรัสด้วยสีสันของธงสีรุ้ง อันเป็นสัญลักษณ์ประจำเทศกาลนี้ของกลุ่ม LGBTQ+ อีกด้วย ซึ่งภายใต้สีสันและคำเรียกขานพวกเขา มีที่มาและความหมายซ่อนอยู่ไม่น้อย 

ความหมายที่ซ่อนอยู่ใน LGBTQ+

เมื่อพูดถึงกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งมาจากตัวย่อของเพศวิถีต่างๆ โดยคนในชุมชนกลุ่มความหลากหลายทางเพศและนักสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ริเริ่มใช้ ตั้งแต่ช่วงกลางยุค 80 ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งในระยะแรกมีตัวย่อเพียง 4 ตัว คือ LGBT แต่ภายหลังมีการเติมอักษร Q และเครื่องหมายบวกเพิ่มเข้ามา โดย

L นั้น ย่อมาจากเลสเบี้ยน (Lesbian) หมายถึง เพศหญิงที่มีความสนใจในเพศหญิงด้วยกัน

G ย่อมาจากเกย์ (Gays) หมายถึง เพศชายที่มีความสนใจในเพศชายด้วยกัน แต่ในตะวันตก ผู้หญิงก็นิยมเรียกตัวเองว่าเกย์เหมือนกัน

B ย่อมาจากไบเซ็กชวล (Bisexual) หมายถึง กลุ่มคนที่ชอบได้ทั้ง 2 เพศ ไม่กำหนดตายตัวว่าจะชอบเฉพาะเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกัน

T ย่อมาจากทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) หรือคนข้ามเพศ หมายถึง กลุ่มคนที่มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศสรีระ ทำให้ต้องมีการใช้กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นเพศนั้นๆ ได้อย่างสมบูรณ์

Q ย่อมาจากเควียร์ (Queer) หมายถึง กลุ่มคนที่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศใด หรือต้องรักชอบกับเพศใด

ส่วน + มีการเติมเข้ามาเพื่อให้ครอบคลุมทุกคนที่มีเพศวิถีนอกเหนือไปจากที่กล่าวมา เนื่องจากปัจจุบันเพศวิถีมีความหลากหลายมากขึ้น โดยล่าสุด ยังมี IAN ต่อท้ายเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ I จะย่อมาจากอินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) หมายถึง ผู้ที่มีเพศสรีระหรือแบบโครโมโซมที่มีลักษณะกำกวม ไม่ตรงกับสรีระชายหรือหญิง หรืออาจจะมีลักษณะทั้งชายและหญิง โดยผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้ จะเป็นบุคคลทางการแพทย์

A ย่อมาจากอะเซ็กชวล (Asexual) หมายถึง ผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหนก็ตาม

และ N ย่อมาจากนอน-ไบนารี (Non-Binary) หมายถึง ผู้ที่ไม่ต้องการระบุเพศของตนเอง หรือผู้ที่ไม่จำกัดตนเองอยู่เฉพาะกับเพศหญิงหรือชายเท่านั้น

          เช่นเดียวกับธงสีรุ้ง สัญลักษณ์แห่งเทศกาล Pride Month ก็มีที่มาและความหมายอันชวนทึ่งไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน 

จิตวิญญาณและความหมายภายใต้ธงสีรุ้ง

สำหรับธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) ที่โบกสะบัดเป็นสัญลักษณ์แห่งเทศกาล Pride Month นั้น มีที่มาจากการสร้างสรรค์โดย กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวผู้เป็นเกย์อย่างเปิดเผย (เสียชีวิตแล้วเมื่อปี ค.ศ.2017) ซึ่งฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk) เพื่อนผู้เป็นนักการเมืองเกย์คนแรกของรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้มอบหมายให้เขาสร้างขึ้น และเขาก็ได้รับแรงบันดาลใจจากธงชาติสหรัฐฯ ที่ฉลองครบรอบ 200 ปี เมื่อปี ค.ศ.1976 มาสร้างสรรค์ผสานกับสีของสายรุ้ง จนเกิดเป็นธงสีรุ้งดังกล่าว พร้อมกับมีการนำไปใช้ในขบวนพาเหรด วันแห่งเสรีภาพเกย์ (Gay Freedom Day) ที่เมืองซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1978 เป็นครั้งแรก

นับจากนั้น ธงสีรุ้งก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังของกลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลก ซึ่งแรกเริ่มมีทั้งหมด 8 สี ก่อนจะเหลือเพียง 6 สี ซึ่งแต่ละสีจะมีจิตวิญญาณและความหมายที่สื่อถึงความหลากหลายทางเพศอย่างน่าสนใจ ดังนี้

สีชมพูสด สื่อถึงเรื่องเพศ, สีแดง สื่อถึงชีวิต, สีส้ม สื่อถึงการเยียวยา, สีเหลือง สื่อถึงแสงตะวัน, สีเขียว สื่อถึงธรรมชาติ, สีฟ้าเทอร์ควอยซ์ สื่อถึงศิลปะ ความผสานกลมกลืน, สีคราม สื่อถึงความปรองดอง สามัคคี (ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแทน) และสีม่วง สื่อถึงจิตวิญญาณอันแน่วแน่

โดย 2 ใน 8 สีที่ถูกถอดออกไป ได้แก่ สีชมพูสดกับสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ ด้วยเหตุผลเป็นสีที่ผลิตยาก แต่ถึงกระนั้น จิตวิญญาณและความหมายแห่งสีรุ้งของกลุ่ม LGBTQ+ ก็ยังคงมีอยู่อย่างเปี่ยมล้นทุกสี

สำหรับประเทศไทยมีการจัดเทศกาล Pride Month เช่นเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) นับถึงปัจจุบันรวมกว่า 20 ปี โดยปีนี้จัดอย่างยิ่งใหญ่ในชื่อ Bangkok Pride 2023 บนแนวคิด Beyond Gender พร้อมกับรณรงค์และขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ 4 ประเด็นด้วยกัน ประกอบด้วย การสมรสเท่าเทียม, การรับรองเพศสภาพ, สิทธิของ Sex Worker และสวัสดิการถ้วนหน้า LGBTQ+

นอกจากนั้น ภาครัฐยังประกาศจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น เจ้าภาพจัดงานเทศกาล Pride World ในปี ค.ศ.2028 (พ.ศ.2571) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะผลักดันสำเร็จหรือไม่ การสร้างความเข้าใจและรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมกันของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าพวกเขาจะได้รับความเสมอภาคอย่างแท้จริง...  

 

·       ข้อมูลอ้างอิง : www.wikipedia.org, https://www.history.com/topics/gay-rights/the-stonewall-riots www.bcc.com, http://www.history.com/news/how-did-the-rainbow-flag-become-an-lgbt-symbol, https://gaycenter.org/about/lgbtq/, www.thairath.co.th  

0 ความคิดเห็น

Ask OKMD AI